วันศุกร์, เมษายน 19, 2024
หน้าแรกคอลัมนิสต์สืบจากข่าวประมูลสายสีส้ม ส่อยุ่งขิงอีก!

Related Posts

ประมูลสายสีส้ม ส่อยุ่งขิงอีก!

> “ดร.สามารถ” แฉพิรุธ TOR ล็อคสเปกตั้งแต่ในมุ้ง
> จ้องเขี่ย “บีทีเอส” พ้นทางหวังประเคนทุนกากี่นั๊ง
> วงในเตือนระวังพาเหรดขึ้นศาลอีก-เจตนากีดกันการประมูล

“…ระยะเวลาที่ประเทศต้องสูญเสียไป กับการปรับปรุงแก้ไข TOR ใหม่เพื่อให้โครงการสามารถเดินหน้าต่อไปได้นั้นกล่าวได้ว่ากลายเป็นความสูญเปล่าและสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจของประเทศโดยแท้ เพราะสุดท้ายแล้วเงื่อนไขการประมูล(RFPที่ รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกดำเนินการไปนั้น ก็ยังคงมีความพยายามล็อคสเปกตั้งแต่ในมุ้งเพื่อหวังประเคนโครงการนี้ไปให้กลุ่มทุนกากี่นั้งใกล้ตัวอยู่ดี…”

ประมูลรถไฟฟ้า สายสีส้มส่อเรียกแขกให้งานเข้าอีกรอบ หลัง “ดร.สามารถ” ออกมาเปิดโปง TOR หมกเม็ด-ล็อคสเปกตั้งแต่ในมุ้ง อ้างประกวดราคานานาชาติแต่ตั้งเงื่อนไขสุดพิสดารตีกันต่างชาติเข้าประมูล แม้แต่บีทีเอสที่เป็นคู่ชิงดำครั้งก่อนยังมีแนวแนวโน้มถูกเขี่ยตกสเปก เตือนคนรฟม.-กก.คัดเลือกอาจพาเหรดขึ้นเขียง ป.ป.ช.-ศาลอีกระลอก

หลังจาก ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ ผู้เขี่ยวชาญด้านวิศวกรรมการขนส่ง และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ได้ออกมาเปิดโปงความไม่ชอบมาพากลการประมูลหาเอกชนเข้าร่วมลงทุนก่อสร้างและรับสัมปทานรถไฟฟ้า สายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี วงเงินกว่า 1.427 แสนล้านบาทรอบใหม่ ซึ่งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ได้เปิดขายซองข้อเสนอ(RFT)ไปล่าสุดเมื่อปล่ายสัปดาห์ที่ผ่านมา และมีกำหนดให้เอกชนเข้ายื่นข้อเสนอในวันที่ 27 ก.ค.65 ศกนี้

ดร.สามารถแฉพิรุธทีโออาร์ล็อกสเปคตั้งแต่ในมุ้ง

โดย ดร.สามารถได้ตีแผ่เงื่อนไขการประมูลสายสีส้มใหม่ว่ายังคงมีรายการหมกเม็ด ล็อคสเปกตั้งแต่ในมุ้งด้วยการปรับเปลี่ยนเกณฑ์คุณสมบัติด้านเทคนิคของผู้ที่จะเข้ายื่นข้อเสนอ ให้ต้องแทคทีมเข้าประมูลทั้งผู้รับเหมาก่อสร้าง และผู้เดินรถไฟฟ้า (Operator)

โดยกำหนดคุณสมบัติของผู้รับเหมาก่อสร้างที่จะเข้าร่วมจะต้องมีประบการณ์การบริหารการก่อสร้างงานโยธา 3 ประเภทได้แก่
1. งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดินด้วยระบบหัวเจาะมูลค่าไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท
2. งานออกแบบและก่อสร้างสถานีใต้ดินหรือสถานียกระดับมูลค่าไม้น้อยกว่า 1,000 ล้าน และ
3.งานออกแบบและก่อสร้างทางวิ่งพร้อมรางแบบไม่ใช้หินโรย มูลค่าไม่น้อยนกว่า 1,000 ล้านบาทในช่วงระยะ 20 ปีที่ผ่านมา

โดยต้องเป็นผลงานที่เปิดให้บริการแล้วเท่านั้น ซึ่งปรากฎว่ามีผู้รับเหมายักษ์ในเมืองไทยที่มีคุณสมบัติครบถ้วนอยู่เพียง 2 รายเท่านั้น คือ กลุ่มบริษัท ช. การช่าง จำกัด(มหาชน) หรือ CK และบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเม้นต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD

ขณะที่ผู้รับเหมากลุ่มอื่น ๆ แม้กระทั่งกลุ่มบีเอสอาร์ ที่มี บมจ.บีทีเอส (BTS) และบริษัทซิโน-ไทยเอ็นจิเนียริ่ง(STECON) ร่วมอยู่ด้วยก็ยังขาดคุณสมบัติข้อนี้ เพราะผลงานของกลุ่มดังกล่าวที่ดำเนินการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม ส่วนตะวันออกยังอยู่ในระหว่างก่อสร้างยังไม่เปิดให้บริการจึงไม่สามารถจะนำผลงานมาปรับเข้าเงื่อนไขได้ ขณะที่ผู้รับเหมาต่างชาติอื่น ๆ ทั้งจากจีนและญี่ปุ่นที่ต่างมีโครงการก่อสร้างอยู่ทั่วโลก รวมทั้งโครงการในไทยอย่างรถไฟไทย-จีนหรือรถไฟความเร็วสูง ก็ไม่สามารถจะฝ่าด่านข้อกำหนดผลงานก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดินกับรัฐบาลไทยได้ และถึงแม้จะจัดหาผู้ร่วมลงทุนได้แต่ด้วยระยะเวลาอันกระชั้นชิดไม่ถึง 2 เดือน จึงไม่มีกลุ่มใดเตรียมการได้ทันอยู่ดี

2 ปีกับ TOR เหล้าเก่าในขวดใหม่

แหล่งข่าวในวงการรับเหมา เปิดเผยว่า แม้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนฯ จะปัดฝุ่นโครงการนี้กลับขึ้นมาจัดประมูลใหม่ โดยยืนยันว่าการประมูลครั้งใหม่จะเป็นไปด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้เพราะมีการเชื้อเชิญคณะผู้สังเกตการณ์จากองค์การต่อต้านคอร์รัปชั่นเข้าร่วมสังเกตการณ์ตามข้อตกลงคุณธรรม แต่คณะผู้สังเกตุการณ์ที่เป็นบุคคลภายนอกเหล่านั้นคงไม่มีทางได้รู้ตื้นลึกหนาบางถึงข้อกำหนดและเงื่อนไข TOR ที่หมกเม็ดกันเอาไว้เหล่านี้ กลายเป็น “เหล้าเก่าในขวดใหม่”ที่หวังประเคนโครงการไปให้กลุ่มทุนที่ชักใยอยู่เบื้องหลังอยู่ดี

ขณะที่คณะผู้สังเกตการณ์เหล่านี้ก็คงเป็นได้แค่ “รับเบอร์แสตมป์” ที่คงจะไม่สามารถล้วงลูกทัดทานอะไรได้เพราะไม่รู้รายละเอียดและใส้ในที่ขบวนการเหล่านี้หมกเม็ดเอาไว้ และแม้ว่า รฟม.จะป่าวประกาศเป็นการประมูลนานาชาติ(International Competition Bidding : ICB) แต่การกำหนดเงื่อนไขที่ต้องมีผลงานก่อสร้างระบบงานโยธา โดยเฉพาะอุโมงค์ใต้ดินกับรัฐบาลไทย ที่ถือเป็นเงื่อนไขที่เป็น Local content เอาไว้ชนิดกระดิกไม่ได้ จึงทำให้ต่อให้เจรจาดึงเอาผู้รับเหมาจากจีนและญี่ปุ่นที่มีผลงานก่อสร้างอยู่ทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทยก็ไม่มีทางผ่านเงื่อนไขด้านเทคนิคข้อนี้ไปได้

“ระยะเวลาที่ประเทศต้องสูญเสียไป กับการปรับปรุงแก้ไข TOR ใหม่เพื่อให้โครงการสามารถเดินหน้าต่อไปได้นั้นกล่าวได้ว่ากลายเป็นความสูญเปล่าและสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจของประเทศโดยแท้ เพราะสุดท้ายแล้วเงื่อนไขการประมูล(RFPที่ รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกดำเนินการไปนั้น ก็ยังคงมีความพยายามล็อคสเปกตั้งแต่ในมุ้งเพื่อหวังประเคนโครงการนี้ไปให้กลุ่มทุนกากี่นั้งใกล้ตัวอยู่ดี

รฟม.จะอรรถาธิบายต่อสังคมอย่างไรว่าเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกใหม่นี้โปร่งใส ตรวจสอบได้และก่อให้เกิดการแข่งขันที่ยังประโยชน์ต่อประเทศชาติ ในเมื่อมันชี้ชัดอยู่แล้วว่ามีกลุ่มรับเหมายักษ์ในประเทศที่มีคุณสมบัติครบถ้วนอยู่เพียง 2 กลุ่มเท่านั้นที่มีสิทธิ์เข้าประมูล ขณะที่กลุ่มรับเหมาอื่นๆ แม้แต่จากจีนหรือญี่ปุ่นที่มีผลงานก่อสร้างรถไฟฟ้าและรถไฟความเร็วสูงทั่วโลกก็ยังไม่ผ่านสเปก”

เชื่อคู่ปรับเก่า “บีทีเอส” ฟ้องกราวรูดอีก!

แหล่งข่าวเปิดเผยว่า โดยปกติแล้วในการปรับปรุงร่างเงื่อนไขประมูลหรือทีโออาร์นั้น ตัวองค์กรและที่ปรึกษาที่ดำเนินการยกร่าง TOR จะต้องดำเนินการทดสอบหรือ Test ว่าหากกำหนดเงื่อนไขออกไปแบบนี้ จะมีบริษัทรับเหมาก่อสร้างหรือโอปอเรเตอร์กี่ราย กี่บริษัทเข้าร่วมประมูลแข่งขันได้บ้าง ทั้งไทยและต่างประเทศ หากเห็นว่าทีโออาร์ที่ออกไปนั้นเข้มงวดเกินไปหรือทำให้ยากแก่การแข่งขันก็จะต้องดำเนินการปรับปรุงเพื่อให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น

“ หากพิจารณาหลักเกณฑ์ประกวดราคาครั้งใหม่ที่แม้จะดูเปิดกว้างเป็นการประกวดราคานานาชาติ ( ICB) โดยที่ รฟม.ยังคงกำหนดเงื่อนไขผลงาน Local content เพื่อตีกันกลุ่มผู้ยื่นข้อเสนอบางรายไม่ให้เข้าร่วมประมูลได้นั้น จึงเชื่อว่าท้ายที่สุดแล้วจะทำให้เส้นทางการประมูลโครงการนี้ อาจเผชิญปัญหาอีกครั้ง เพราะการกำหนดเงื่อนไข Local Content ดังกล่าว อาจขัดระเบียบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นการประกวดราคานานาชาติ (ICB) ได้ และเชื่อว่า หากคณะกรรมการประกวดราคาชี้ขาดให้กลุ่ม “บีเอสอาร์”ที่เคยเข้าร่วมประมูลมาก่อนไม่ผ่านคุณสมบัติด้านเทคนิค คงเผชิญคำถามและข้อกังขาจากผู้คนในสังคมว่า เหตุใดกลุ่มผู้รับเหมาดังกล่าวที่เคยผ่านการพิจารณาคัดเลือกมาก่อนจึงตกสเปกไปได้ และเชื่อว่ากลุ่มบีทีเอคงใช้สิทธิ์ร้องเรียน และฟ้องคดีถูกละเมิดต่อศาลปกครอง และศาลอาญาคดีทุจริตฯอีกครั้ง เพราะเป็นการกำหนดเงื่อนไขที่มีเจตนากีดกันการประมูลอย่างชัดเจน”

กับข้ออ้างของรฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ที่ว่า จำเป็นต้องเพิ่มข้อกำหนดและเงื่อนไขด้านเทคนิคเข้มข้น เพราะเป็นโครงการใหญ่ที่มีความซับซ้อน ต้องมีการก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดินลอดผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา จึงจำเป็นต้องมีการกำหนดเกณฑ์ประสบการณ์ด้านเทคนิคที่มีความเข้มข้นนั้น รฟม.คงลืมไปว่าก่อนหน้านี้ในการประมูลโครงการรถไฟฟ้า สายสีน้ำเงิน และสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายที่ รฟม.ดำเนินการไป ในช่วงระยะ 4-5 ปีที่ผ่านมา แม้จะไม่มีการกำหนดเงื่อนไขผลงานก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดินในลักษณะเช่นนี้มาก่อน แต่รฟม.ก็สามารถจัดหาผู้รับเหมาที่สามารถก่อสร้างโครงการได้บรรลุวัตถุประสงค์ ตามขอบเขตงานที่วางไว้ได้ จึงไม่เข้าใจว่าเหตุใดรฟม.และกรรมการคัดเลือกจึงยังคงมีความพยายามจะปรับเปลี่ยนเกณฑ์ประมูลสุดพิสดารที่ส่อเรียกแขกให้งานเข้ากันอีก

บทความก่อนหน้านี้
บทความถัดไป

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts