หากเป็นไปตามรายงานข่าว วันที่ 6 พ.ย. 2566 จะมีการเจรจาเรื่อง “การควบคุมอาวุธนิวเคลียร์” ระหว่างจีนกับสหรัฐ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่รัฐบาลของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา
รายงานระบุว่า การหารือดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านอาวุธของ 2 ฝ่าย โดยจะมีการปรึกษาหารือเรื่องการควบคุมอาวุธและการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ แต่ยังไม่ได้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเจรจาอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการจำกัดอาวุธนิวเคลียร์
รายงานของสื่อตะวันตก ระบุว่า สหรัฐฯ จะส่ง มัลลอรี สจวร์ต (Mallory Stewart) เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้แทนเข้าร่วมพูดคุยกับ ซุน เสี่ยวโป (Sun Xiaobo) หัวหน้าแผนกควบคุมอาวุธประจำกระทรวงการต่างประเทศของจีน ถือเป็นการเจรจาก่อนการประชุมซัมมิตระหว่างประธานาธิบดี โจ ไบเดน และประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ที่นครซานฟรานซิสโกในเดือนนี้
ข้อมูลในช่วงที่ผ่านมาระบุว่า ทั้ง 9 ประเทศที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ คือ สหรัฐฯ รัสเซีย จีน สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส อินเดีย ปากีสถาน อิสราเอล และเกาหลีเหนือ ต่างได้เพิ่มการลงทุนในการปรับปรุงอาวุธนิวเคลียร์ ให้ทันสมัยยิ่งขึ้น นั่นคือปรับปรุงอานุภาพของการระเบิด และอุปกรณ์ส่งระเบิด เช่น จรวดข้ามทวีปเร็วกว่าเสียง จรวดหลายหัวรบ หรือเครื่องบินทิ้งระเบิดล่องหน เป็นต้น เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดสงครามนิวเคลียร์อย่างน่ากังวล ในขณะที่สหรัฐฯ เพิกเฉยที่จะให้ความร่วมมือในการสร้างกลไกที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมอาวุธนิวเคลียร์อย่างทั่วถึง แต่กลับมีการเลือกปฏิบัติกับบางประเทศ
อย่างไรก็ตาม การประชุมกลุ่มผู้นำกลุ่มจี7 เมื่อเดือน พ.ค.2566 ได้ให้คำมั่นในการประชุมสุดยอดที่เมืองฮิโรชิมา สนับสนุนสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (Nuclear Non-Proliferation Treaty – NPT) โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญในการเปิดเผยขีดความสามารถและความพยายามอย่างต่อเนื่อง ในการลดจำนวนอาวุธของแต่ละประเทศ ในขณะที่ข้อตกลงนี้จะเป็นรากฐานสำหรับการไม่แพร่ขยายอาวุธ
นับจากปี 2513 (ค.ศ. 1970) ได้มีการกำหนด “สนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์” (Nuclear Non-Proliferation Treaty : NPT) โดยข้อมูลเบื้องต้นระบุว่า เป็นสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ หรือ NPT มีสาระสำคัญคือ ห้ามรัฐที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ 5 ชาติ คือ สหรัฐฯ อังกฤษ รัสเซีย ฝรั่งเศส และจีน ส่ง หรือช่วยให้ประเทศอื่น ๆ ผลิต หรือครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ และห้ามรัฐที่ไม่ได้ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ รับ แสวงหา หรือขอความช่วยเหลือในการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ และให้รัฐที่ไม่ได้ครอบครอบอาวุธนิวเคลียร์ยอมรับข้อตกลงพิทักษ์ความปลอดภัยว่าจะไม่นำพลังงานนิวเคลียร์ในทางสันติ ไปดัดแปลงใช้ผลิตอาวุธนิวเคลียร์
NPT มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2513 (ค.ศ. 1970) โดยมีประเทศภาคี 184 ประเทศ ต่อมาเมื่อปี 2538 (ค.ศ. 1995) สนธิสัญญาฯ ได้รับการต่ออายุแบบถาวร (indefinite extension) โดยจะมีการประชุมทบทวนสนธิสัญญาฯ ทุก 5 ปี
การประชุมทบทวน NPT ครั้งล่าสุด คือ ครั้งที่ 6 มีขึ้น ณ นครนิวยอร์ก ระหว่างวันที่ 24 เมษายน-19 พฤษภาคม 2543 ซึ่งมีความคืบหน้าที่สำคัญคือ เป็นครั้งแรกที่ประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์รับที่จะดำเนินการให้บรรลุผลเรื่องการกำจัดอาวุธนิวเคลียร์โดยสิ้นเชิงอย่างแน่ชัด (unequivocal) และได้มีการกำหนดขั้นตอนอย่างเป็นรูปธรรม 13 ขั้นตอนในการลดและขจัดอาวุธนิวเคลียร์
อย่างไรก็ตาม NPT มักถูกประเทศกำลังพัฒนาโจมตีว่าเลือกปฏิบัติและไม่เท่าเทียม เพราะมีการแบ่งความรับผิดชอบที่แตกต่างกันระหว่างประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ (NWS) และประเทศที่ไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ (NNWS) นอกจากนี้ ในปัจจุบันประเทศที่ไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ได้สละสิทธิที่จะผลิต ครอบครอง หรือใช้อาวุธนิวเคลียร์ตามพันธกรณีของสนธิสัญญาฯ แล้ว และหวังให้ประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ได้เริ่มดำเนินการเจรจาเพื่อลดและขจัดอาวุธนิวเคลียร์ที่ตนครอบครองอยู่ตามมาตรา 6 ของสนธิสัญญาฯ อย่างจริงจังละจริงใจ ซึ่งสำคัญกว่าหลักการหรือสาระที่กำหนดไว้เป็นแนวทางปฏิบัติ