เป็น “มหกรรมปาหี่” แกงประชาชนกันเป็นรายวัน!
กับเรื่องของการบริหารจัดการวัคซีนต้านโควิดที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ “หักดิบ” พรรคร่วมรัฐบาลด้วยการ ยึดอำนาจบริหารจัดการจากรัฐมนตรีทั้งคณะมาอยู่ในกำมือ ด้วยข้ออ้างเพื่อให้การบริหารจัดการปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสมฤตยู “โควิด-19” เป็นไปอย่างมีเอกภาพ
แต่ทำไปทำมากลับยิ่งเต็มไปด้วยความโกลาหล ประชาชนคนไทยที่จองฉีดวัคซีนต้านโควิดผ่านแอปต่าง ๆ สารพัดแอปที่ผุดกันขึ้นมาต้องถูกเท ถูกแกงเป็นรายวัน ไม่ก็ถูกเลื่อน ถูกเทคิวฉีดจนไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งพาใครแล้ว
พอนายกฯ ประกาศจะเปิดประเทศใน 120 วันนับจากวันนี้ ผู้คนจึงได้แต่ “อึ้งกิมกี่” บ้างก็หัวร่อท้องคัดท้องแข็ง วัคซีนจะหาฉีดยังไม่มี ไม่รู้จะได้ฉีดสักครึ่งประเทศกันเมื่อไหร่ จะเปิดประเทศกันได้หรือ หลายฝ่ายถึงกับปรามาสล่วงหน้า ถึงเวลาคงหนีไม่พ้นถูกแกงตามเคย…
อย่าว่าแต่ประชาชนคนไทยจะถูกแกงเป็นรายวันเลย ตัวนายกรัฐมนตรีเองก็ถูกหน่วยงานรัฐใต้อาณัติแกงซะป่นปี้ ไม่มีชิ้นดีมาแล้ว
ก็จะอะไรเสียอีก ก็โครงการประมูลหาเอกชนเข้าร่วมลงทุน (PPP) โครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม วงเงินลงทุน 1.427 แสนล้านบาทของ “การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)” นั่นปะไร
เพราะกว่าขวบปี (1 ปี 5 เดือน) แล้ว ที่ รฟม.กระเตงโครงการนี้ ออกจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 29 ม.ค.2562 เพื่อไปดำเนินการจัดประมูลตามกรอบและไทม์ไลน์ที่ได้นำเสนอต่อที่ประชุม ครม. จนป่านนี้ ไม่เพียงโครงการจะไม่ได้ขยับเขยื่อนไปไหน ยังจ่อจะถอยหลังลงคลอง ทำท่าจะไปประมูลกันเอาชาติหน้าเอาด้วยอีก !
เรื่องของเรื่องที่ทำให้โครงการนี้ต้องล้มลุกคลุกคลานนั้น ก็เพราะฝ่ายบริหาร รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือก เกิดอุตริลุกขึ้นมาปรับเปลี่ยนเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขตามเอกสารประกวดราคา (RFP ) และมติ ครม.ที่วางไว้ ทั้งที่ได้ปิดขายซองประมูลไปแล้ว และเลยขั้นตอนการจัดทำประชาพิจารณาเพื่อปรับรื้อหรือกำหนดเกณฑ์ประมูลเหล่านี้ไปตั้งแต่ปีมะโว้แล้ว
ผลพวงจากการปรับเปลี่ยนเกณฑ์ประมูลกลางอากาศดังกล่าว ที่นัยว่าเพื่อหวังจะประเคนโครงการออกไปให้กลุ่มทุนทางการเมือง “กากี่นั้ง” ที่แทบจะเข้าไป “สิงร่าง” ฝ่ายบริหาร รฟม.อยู่แล้ว จึงยังผลให้ถูกบริษัทเอกชนที่เข้าร่วมประมูล ลุกขึ้นมาฟ้อนเงี้ยวฟ้องหัวเอาจนงานเข้า ทั้งร้องแรกแหกกระเชอไปยังกระทรวงคมนาคมต้นสังกัด และยื่นฟ้องศาลปกครอง เพื่อขอให้เพิกถอนหลักเกณฑ์ประมูลเจ้าปัญหาที่ว่า
ก่อนที่ศาลปกครองจะมีคำสั่งให้ รฟม.ทุเลาการบังคับใช้เกณฑ์เจ้าปัญหาจนทำเอาโครงการประมูลที่กำลังเดินหน้าอยู่ดีๆ มีอันต้องสะดุดกึก และแม้ รฟม.จะพยายามแก้ลำ ทั้งการอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด และถึงขั้น “งัดไม้ตาย” สั่งยกเลิกการประมูลตามประกาศเดิมไป ด้วยหวังจะจัดประมูลใหม่ โดยนำเอาเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกเจ้าปัญหามาใช้ตั้งแต่แรก
แต่สุดท้ายผลพวงจากการดันทุรังของฝ่ายบริหาร รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ก็กลับทำให้โครงการประมูลเผชิญทางตัน เพราะไม่เพียงผู้บริหาร รฟม.และกรรมการคัดเลือกจะถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.สอบกราวรูดแล้ว ยังถูกฟ้องต่อศาลทุจริตและประพฤติมิชอบกันยกกระบิกันด้วยอีก
แม้วันก่อนจะมีความพยายามตีปี๊บ กลุ่มทุน “ตัวเต็ง” ที่คาดว่าจะคว้าสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีส้ม และสายสีม่วงใต้ ว่าจะเป็นกลุ่มทุนใดไปไม่ได้ นอกจากกลุ่มทุน“กากี่นั้ง” ที่แทบจะเข้าไปสิงร่างฝ่ายบริหาร รฟม.อยู่ในเวลานี้
แต่สำหรับผู้ที่คว่ำหวอดในแวดวงรับเหมาต่างก็ฟันธงว่า เส้นทางการฮุบสัมปทานดังกล่าว วันนี้แทบจะ “ปิดประตูลั่นดาน” กันไปแล้ว หาก “นายกฯ ลุงตู่” ยังคงปล่อยเลยตามเลยโดยไม่คิดจะลงจากภูมาโม่แป้งโครงการนี้ด้วยตนเองแบบกรณีวัคซีนต้านโควิดแล้ว สุดท้ายโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้มนี้ได้เผชิญทางตันจนเปิดหวูดไม่ออกแน่
แหล่งข่าวยังได้ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า หากนับเนื่องจากวันที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติหลักการให้ รฟม.จัดประมูลหาเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการถไฟฟ้า สายสีส้ม ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 29 ม.ค.2562 จนถึงวันนี้ที่ผ่านมากว่า 1 ปี 5 เดือนเข้าไปแล้ว โดยยังไม่มีทีท่าว่า รฟม.จะผ่าทางตันปัญหาคาราคาซังที่มีอยู่ได้
และยิ่งกับแนวทางการประมูลหลุดโลกที่ รฟม.ดั้นเมฆจะนำมาใช้โดยจะพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิดควบคู่ไปกับข้อเสนอทางการเงิน อันเป็นเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกที่ยังไม่เคยมีโครงการเมกะโปรเจกต์ใดของรัฐเคยดำเนินการมาก่อน แม้แต่รถไฟความเร็งสูงเชื่อมสามสนามบิน
โดยที่แนวทางดังกล่าว รฟม.ก็ยังไม่มีการนำเสนอขออนุมัติหลักการใดๆ จาก ครม.ด้วยแล้ว ถึงประมูลไปก็คงไม่พ้นถูกฟ้องคาราคาซังในชั้นศาลอยู่ดี
ยิ่งหาก ป.ป.ช.หรือศาลทุจริตและประพฤติมิชอบที่มีคำสั่งให้รับคดีที่ บมจ.บีทีเอส ยื่นฟ้องผู้บริหาร รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกก่อนหน้าไว้พิจารณาเกิดมีคำสั่ง หรือคำพิพากษาออกมาว่าโครงการนี้มีทุจริต หรือมีการแก้ไขเกณฑ์คัดเลือกเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชนรายหนึ่งรายใดดังผลไต่สวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ด้วยแล้ว
ถึงเวลานั้นอย่าว่าแต่ฝ่ายบริหาร รฟม.และกระทรวงคมนาคมจะอยู่ไม่ได้เลย ตัวนายกฯ ลุงตู่ เองก็ไม่รู้จะเอาหน้าไปไว้ที่ไหน
เพราะทั้งหลายทั้งปวงนั้นล้วนเกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลชุดนี้ที่ป่าวประกาศยืนยัน นั่งยันมาโดยตลอดว่าไม่มีการทุจริตใด ๆ เกิดขึ้น
ก็คงได้แต่เตือนสติ นายกฯลุงตู่ ด้วยความปรารถนาดีไว้ตรงนี้ หากนายกฯ ไม่ยอม “หักดิบ” พรรคร่วมรัฐบาลที่รับผิดชอบโครงการนี้ แล้วปล่อยให้ บริหาร รฟม.และคณะกรรมการคคัดเลือกตามมาตรา 36 “ดันทุรัง” จัดประมูลกันไปจตามยถากรรมเช่นนี้ต่อไป
เส้นทางการประมูลก่อสร้างรถไฟฟ้า สายสีส้ม รวมทั้งสายสีม่วงใต้ที่จะเจริญรอยตามมาในอนาคตอันใกลบ้ก็คงได้ ”ม้วนเสื่อ” เกิดใหม่อีกเป็นสิบชาติก็ไม่มีทางสำเร็จแน่