“…อดีตเด็กหน้าห้อง นายพลนาฬิกาหรู ฟัน.. ประหยัด-ตัดเงินเดือน ใช้กฎหมายหรือ หลักกฎกู…มติอัปยศ 4 ต่อ 4 เหมือนกัน แต่อีกคนตกอับ-อีกคนรุ่งเรือง .. เปิดแผลโรยเกลือ หัวขบวนล่า นายประหยัดพร้อมร้อง อัยการสูงสุด ค้านมติ 4 ต่อ 4 ขัดรัฐธรรมนูญ…”
นายประหยัด พวงจำปา อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยื่นเรื่องคัดค้านมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ๔ ต่อ ๔ เป็นการละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญ และไม่เป็นไปตามหลักกฎหมายสากล ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ทั้งคณะ
การต่อสู้ในช่วงที่ผ่านมา นายประหยัด ได้ทำหนังสือถึงคณะกรรมการ ป.ป.ช.เรื่อง ขอคัดค้านการกระทำอันเป็นการจงใจฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย และเป็นการจงใจละเมิดอย่างร้ายแรงและต่อเนื่อง ขอให้หยุดการกระทำที่ผิดกฎหมาย ขอให้ทบทวนแก้ไขมติคณะกรรมการ ป.ป.ช.อันไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๕ และขอให้เพิกถอนหนังสือไล่ออกจากราชการ ฉบับลงวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๖๕
ในประเด็นชี้มูลว่า … ร่ำรวยผิดปกติอย่างที่มติ 4/4 นั้นน่าตั้งคำถามว่าชอบหรือไม่ชอบ
แถมเรื่องนี้ยังนำไปสู่การใช้อำนาจเลยเส้น.. ไล่ออกจากราชการ สงสัยจริงๆ ว่าใช้กฎหมายหรือใช้กฎกู
สืบเนื่องมาจาก ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีการประชุมครั้งที่ ๖๖/๒๕๖๕ ลงวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๕ เรื่องชี้มูลความผิด นายประหยัด พวงจำปา ถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ โดยที่ประชุมพิจารณาแล้ว ลงคะแนนเสียงเป็น ๒ ฝ่ายเท่ากัน มีมติ ๔ ต่อ ๔ เสียง
ข้อสังเกตในการกล่าวหาเป็นไปด้วยข้อสังสัย และเหตุผลของฝ่ายที่ชี้ว่าผิดนั้น ไม่มีรายละเอียด จึงสร้างความเคลือบแคลงในสังคม ส่อเจตนารับคำสั่งใครมาหรือไม่
ฝ่ายแรก ๔ เสียงแรกที่ ชี้ว่าผิดจนนำมาสู่การตั้งข้อกล่าวหา เห็นว่าทรัพย์สินของ นางธนิภา พวงจำปา ภรรยาไม่ว่าจะเป็นบัญชีธนาคาร เงินลงทุนในบริษัท ๖ บริษัท และห้องชุดประเทศอังกฤษ เป็นทรัพย์สินที่ นายประหยัด พวงจำปา ผู้ถูกกล่าวหา ร่ำรวยผิดปกติ
ประเด็นนี้ฝ่าย 4 เสียงแรก น่าจะได้ตอบคำถามสังคมและถูกดำเนินการทางกฎหมายในเวลาอีกไม่นาน ว่าการร่วมทุบนายประหยัดครั้งนั้น ได้รับฟังข้อมูล และเหตุผลเพียงพอหรือไม่
แต่เมื่อติดตามการมติอีก 4 เสียง ฝ่ายที่มองว่าไม่ผิดนั้น นอกจากการออกร่วมลงมติแล้ว ยังได้ให้เหตุผลประกอบที่มากกว่า
ซึ่งฝ่ายที่สองอีก ๔ เสียงนั้น เห็นว่า นายประหยัด พวงจำปา รองเลขาธิการคณะกรรมการป.ป.ช.สังกัดคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติราชการและกำกับดูแลกิจการด้านป้องกันและปราบปรามการทุจริต และภารกิจสนับสนุนเป็นงานหลัก ซึ่งไม่เอื้อโอกาสที่จะใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยทุจริต หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สิน และจากการไต่สวนยังไม่ปรากฏพฤติการณ์และพยานหลักฐานที่จะฟังได้ว่า ทรัพย์สินรายงานเงินฝากของนางธนิภา พวงจำปา ภรรยา และเงินลงทุนในบริษัท ๖ บริษัท ห้องชุดที่ประเทศอังกฤษ เป็นการได้ทรัพย์สินมาโดยสืบเนื่องจาการปฏิบัติตามหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ของนายประหยัด พวงจำปา ผู้ถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ ทั้งอนุกรรมการไต่สวน ไม่มีการไต่สวนตามหน้าที่ว่า นายประหยัด พวงจำปา ได้ทรัพย์สินโดยทุจริตอย่างไร
ทั้งที่เรื่องนี้ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจเป็นผู้ใกล้ชิดและมีส่วนได้เสีย มีเหตุผลที่ส่อบาดหมางในบางกรณีกับนายประหยัดอยู่นั้น ต้องตอบสังคมอย่างเผชิญหน้า ไม่อาจเลี่ยงตอบฝ่ายเดียวได้ ว่า เหตุใดจึงลงมาเล่นเกมส์นี้ ร่วมวงชี้ชะตานายประหยัด ด้วย
น่าประหลาดใจที่ วัชรพล ประธานฯ ป.ป.ช. เป็นผู้ที่ฟันฉับ… โดยสรุปเอาว่า … ผลการลงคะแนนเสียงเมื่อมีมติของที่ประชุมในเรื่องนี้แม้เสียงเท่ากัน ให้ถือตามความเห็นของกรรมการ ป.ป.ช.ฝ่ายที่หนึ่งจำนวน ๔ เสียงแรกที่ชี้ว่าผิด โดย ให้เหตุผลว่า ก็มันไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการ ป.ป.ช. เท่าที่มีอยู่ไง…. แต่ความคิดจากมันสมองของอดีตนายพลตำรวจ ผู้พลาดตำแหน่ง ผบ.ตร. คนนี้ ดันไปย้อนแย้งอย่างมาก กับกรณีนาฬิกาหรูของนักการเมือง ระดับรองนายกรัฐมนตรีผู้ยิ่งใหญ่ เหตุการณ์คล้ายกัน แต่วิธีการฟัน ไม่เหมือนกัน…
อะไรกันนี่ ป.ป.ช. จะใช้มาตรฐานการชี้มูลความผิดกี่มตารฐานกันแน่…ย้อนเหตุการณ์ทำนองเดียวกันแต่ผลออกมาคนหนี่งรอด แต่อีกคนหนึ่งถูกทุบหมายปลิดอนาคตข้าราชการ
เมื่อปี 2561 คือการพิจารณาคดีนาฬิกาหรูของนักการเมือง ในครั้งนั้น (พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช.) ประกาศขอถอนตัวจากการพิจารณาคดีนาฬิกาหรูดังกล่าว เพราะถือว่าเคยทำงานใกล้ชิดกับตัวเอง จึงแสดงสปิริตขอถอนตัว ทำให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. จากที่มีจำนวนเป็นเลขคี่คือ 9 คน เหลือลงมติ 8 คน
หนึ่งในคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ตั้งคำถามว่าหากการโหวตลงมติออกมา ได้เสียงเท่ากัน 4:4 จะทำอย่างไร ได้รับคำตอบว่า ตามกฎหมาย ป.ป.ช.ระบุในการลงมติใดก็ตาม ต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของ “คณะกรรมการทั้งหมด” หรือหมายความว่าต้องได้เสียงมากกว่า 5 เสียงขึ้นไป
ตัวอย่างเช่น หากคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะลงมติว่านักการเมืองมีความผิดในกรณีนาฬิกาหรู ว่าปกปิดบัญชีทรัพย์สินหรือไม่ การลงมติจะถามว่า “คณะกรรมการเห็นว่ามีความผิดจริงตามที่เจ้าหน้าที่เสนอมาหรือไม่” ซึ่งหากผลออกมาพบว่า คณะกรรมการทั้ง 8 คนลงมติได้ 4:4 จะเท่ากับว่า ป.ป.ช.พิจารณาแล้วตัดสินว่านักการเมือง “ไม่มีความผิด” เพราะมีคณะกรรมการเพียง 4 คน เนื่องจากยังไม่เกินกึ่งหนึ่งของคณะกรรมการทั้งหมด
ขยายความว่านอกจาก พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ชี้ไปในทางร้ายไม่เหมือนตอนชี้ ป.ป.ช. ไม่เหมือนชี้มูลนาฬิกาแล้ว พฤติกรรมของ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. อดีตผู้พลาดตำแหน่ง ผบ.ตร. ที่หมายมั่น ยังไม่ถอนตัวจากการลงมติด้วย
ทั้งที่ นายประหยัด พวงจำปา ในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชา กับ พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ผู้บังคับบัญชา และมีคดีฟ้องร้องดำเนินคดีอาญา และคดีในศาลปกครองมาก่อน อันอาจจะเป็นเหตุโกรธแค้นเคืองอย่างรุนแรง เป็นการส่วนตัวหรือไม่? แล้วทำไม พลตำรวจเอก วัชรพลฯ กลับไม่แสดงความสุจริต ให้ความเป็นธรรม กับผู้ใต้บังคับบัญชา โดยขอถอนตัวจากการลงมติตามมาตรา 56 เหมือนคดีนาฬิกาหรู แต่กลับเพิกเฉย และร่วมลงมติชี้มูล นายประหยัดฯ จนเป็นเหตุให้มีคะแนน 4:4 ดังกล่าว
เหตุใดนายนายประหยัด ถูกฟันหนักอย่างผิดแผกไปจาก กรณีนาฬิกาหรู ประธานไม่ถอนตัว แถมร่วมวงชี้มูล ชี้ผลในทางร้าย ไม่เหมือนกรณีนายใหญ่ ที่ท่านประธานฯ เคยนั่งเฝ้าหน้าห้อง…. หรือนายประหยัดไปรู้เป้าประสงค์แผนการทำงาน… ชั้นความลับ ป.ป.ช. ภายใต้การนำของ วัชรพล หรือว่า..จะไปรับรู้ถึงเส้นสนกลใน ของไอ้พวกเงามืดนักลอบบี้ ที่สิงเงาการทำงานของตัวการใหญ่มา หรือไม่ ถ้าหากว่ามันมีจริง… ก็อันตรายเป็นก้างขวางคอ จึงต้องฟันให้ตาย
ท่านประธาน ป.ป.ช. น่าจะออกมาพูดเรื่องนี้บ้างว่า ในข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร อย่าเอาแต่นิ่งเงียบ เหมือนปิดประตูตีแมวอยู่เลย!!!
และในเวลาต่อมา แม้ว่าการชี้มูลยังเป็นที่เคลือบแคลงสงสัย และยังไม่สิ้นสุดกระบวนการต่อสู้ สำนักงาน ป.ป.ช. กลับใช้อำนาจไล่นายประหยัดออกจากราชการ ตัดเงินเดือน ขอถามว่า….นี่คือการใช้อำนาจนั้นชอบด้วยสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายข้อใดตามหลักนิติรัฐ หรือใช้หลักกู..กันแน่
อีกประการที่ย้อนแย้ง เป็นที่น่าสงสัยว่า ทำไมไม่เปิดโอกาสให้นายประหยัด พวงจำปา เข้าชี้แจง นำหลักฐานมาแสดงเพื่อความกระจ่าง ผิดกับกรณีนาฬิกาหรู ยอมปล่อยโอกาสให้มีเวลาเข้าแถลงข้อเท็จจริงถึง 3 ครั้ง 3 ครา … เรื่องนี้เป็นอย่างไร ควรจะออกมาพูด มาแถลงกับสังคมบ้าง?
การตอบโต้กลับเริ่มต้นมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดนายประหยัด พวงจำปา จึงได้ทำหนังสือคัดค้านการพิจารณาวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยอ้างรายละเอียด 2 ข้อ ดังนี้
1. การประชุมไม่มีมติเสียงข้างมาก คะแนนเสียงเท่ากัน ผลของการลงมติไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะเป็นเอกฉันท์
การหาข้อยุติไม่ได้ กับมติ 4 ต่อ 4 เท่ากัน โดยไม่มีเสียงข้างมาก และไม่มีมติเป็นเอกฉันท์ ไม่มีฝ่ายใดแพ้ ไม่มีฝ่ายใดชนะ คะแนนเสียงเท่ากัน แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช.กลับชี้มูลความผิด ส่งเรื่องให้อัยการยื่นคำร้องขอต่อศาลให้ยึดทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดิน และไล่ออกจากราชการ การกระทำดังกล่าวเป็นการจงใจกลั่นแกล้ง จงใจฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายและเป็นการจงใจละเมิดอย่างร้ายแรง คือ
ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 22 เป็นเรื่องการลงมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นเรื่องทั่วไปให้ใช้คะแนนเสียงข้างมากของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ในกรณีมีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมมีสิทธิออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด สอดคล้องกับ ระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. พ.ศ.2561 ข้อ 18
ส่วนมาตรา 23 นั้นเป็นเรื่องที่สำคัญพิเศษและเป็นการยกเว้นที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 22 “เว้นแต่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น”
เป็นการลงมติเพื่อมีความเห็นว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐาน ทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง อันมีโทษในทางอาญา
กรณีมีคะแนนเสียงเท่ากันประธานในที่ประชุมไม่มีสิทธิออกเสียงชี้ขาด ต้องมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ซึ่งสอดคล้องกับ ระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. พ.ศ. 2561 ข้อ 19 และมาตรา 23 เป็นกฎหมายที่บัญญัติเรื่องสำคัญเป็นพิเศษและเป็นการลงมติที่มีโทษในทางอาญา
กฎหมายยังไม่อนุญาตให้ประธานในที่ประชุมมีสิทธิออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเรื่องชี้ขาดเหมือนเรื่องทั่วไปตามมาตรา 22 ดังนั้น มติที่ออกเสียงตามมาตรา 23 นั้นต้องการมติที่ชนะเป็นเอกฉันท์เท่านั้น เช่น 5 ต่อ 3 หรือ 6 ต่อ 2 ถึงจะชี้มูลความผิดผู้ถูกกล่าวหาได้ มิเช่นนั้นจะต้องยกผลประโยชน์แห่งความสงสัยให้ผู้ถูกกล่าวหาตามหลักการดำเนินคดีอาญาทั่วไปอันเป็นสากลใช้ทั่วทุกประเทศ
ในการตีความกฎหมายตามตัวอักษร คำว่า “ต้องมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่” นั้น ต้องหมายถึงหรือแปลได้ว่าต้องมีเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดที่มีอยู่ และต้องไม่ใช่มีมติเท่ากัน ดังเช่น 4 ต่อ 4 อย่างแน่นอน หากเท่ากันก็ไม่ใช่มติที่ทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะ เพราะไม่มีฝ่ายใดแพ้ ฝ่ายใดชนะ และจะถือเอาประโยชน์แห่งเสียงข้างมากไม่ได้
ส่วนคำว่า “ไม่น้อยกว่า” แปลความหมายว่า “มากกว่า” ไม่ได้แปลความหมายว่า “เท่ากัน”อย่างแน่นอน ซึ่งในวันประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ดังกล่าว มีกรรมการ 8 ท่าน ดังนั้นการมีมติ 4 ต่อ 4 ถือว่าเท่ากัน เสมอกัน หาเสียงข้างมากมิได้
ทั้ง ๆ ที่การลงมติชี้มูลนายประหยัดจะหาเสียงข้างมากมิได้ ต่อมาเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2565 ประธานกรรมการป.ป.ช.กลับมีคำสั่งลงโทษไล่นายประหยัดออกจากราชการ
นายประหยัด มีความมั่นใจและเชื่อว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการจงใจกลั่นแกล้ง จงใจละเมิดต่อนายประหยัดอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมและต่อเนื่อง ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย มีการจงใจตีความกฎหมายโดยบิดเบือนความถูกต้องชอบธรรมและบังคับใช้กฎหมายผิดไปจากเจตนารมณ์ที่แท้จริงของผู้ร่างกฎหมายโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรม
โดยเฉพาะเข้าข่ายการบังคับใช้กฎหมายขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ.2560 ในเรื่องการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนและขัดแย้งกับหลักการ การดำเนินคดีอาญาทั่วไปตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา รัฐธรรมนูญ มาตรา 4 มาตรา 25 มาตรา 26 มาตรา 27 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 23
2.ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจําเลยไม่มีความผิด
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 29 วรรค 2 ได้บัญญัติเอาไว้ว่า “ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจําเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคําพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้”
เห็นว่า การชี้มูลว่าร่ำรวยผิดปกติ และต่อมาได้ส่งเรื่องให้อัยการเพื่อร้องขอต่อศาลให้ริบทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดินนั้น โทษริบทรัพย์เป็นโทษทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18 (5) นั้น
หลักการดำเนินคดีอาญาทั่วไปตามหลักสากลของทุกประเทศ หากมีการลงมติ แล้วคะแนนเสียงเท่ากัน ควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้กับจำเลย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 วรรค 2 และวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 227
ให้ศาลใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน ทั้งปวงอย่าพิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำผิดจริง และจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย
สอดคล้องกับ วิธีพิจารณาความอาญามาตรา มาตรา 184 ในการประชุมปรึกษาเพื่อมีคําพิพากษาหรือคำสั่ง การวินิจฉัยให้ถือตามเสียงข้างมาก ถ้าในปัญหาใดมีความเห็นแย้งกันเป็นสองฝ่ายหรือเกินกว่าสองฝ่ายขึ้น ไปจะหาเสียงข้างมากมิได้ ให้ผู้พิพากษาซึ่งมีความเห็นเป็นผลร้ายแก่จําเลยมากยอมเห็นด้วยผู้ พิพากษาซึ่งมีความเห็นเป็นผลร้ายแก่จําเลยน้อยกว่า ซึ่งศาลฎีกาได้วางหลักไว้เพื่อเป็นหลักและแนวบรรทัดฐานต่อไป ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6688/2549
แม้แต่ในคดีแพ่ง หากมีการลงมติ คะแนนเสียงเท่ากันให้ถือว่ายังหาข้อยุติมิได้ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะชนะได้ต้องได้มติเสียงชนะกันเป็นเอกฉันท์เท่านั้น แต่กรณีของ นายประหยัดเป็นคดีอาญา มีโทษในทางอาญา คะแนนเสียง 4 ต่อ 4 เท่ากัน หาข้อยุติไม่ได้ ควรต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้กับผู้ถูกกล่าวหา
นายประหยัดเห็นว่า เรื่องนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. จงใจกลั่นแกล้ง ชี้มูลความผิดว่าร่ำรวยผิดปกติ และส่งเรื่องให้อัยการยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อให้ริบทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินและไล่ออกจากราชการ เป็นการกระทำความผิดที่ร้ายแรงและต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
นายประหยัด ยังระบุว่า ในเกือบทุกประเทศในโลก องค์กรอิสระในกระบวนการยุติธรรม หรือ องค์กรในกระบวนการยุติธรรมของไทย มีสำนักงาน ป.ป.ช.ประเทศไทยแห่งเดียวเท่านั้น ในคดีอาญากรณีมีการลงมติเท่ากัน 4 ต่อ 4 ให้สันนิษฐานไว้ว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำความผิด ชี้มูลความผิด ดำเนินคดี และไล่ออก เป็นกระบวนการยุติธรรมที่บิดเบือนความถูกต้องชอบธรรมและละเมิดสิทธิเสรีภาพบุคคลตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 4, 25, 26 และ 27
โดยการตีความมาตรา 23 ของในกรณีการลงมติ 4 ต่อ 4 แล้วถือว่าเป็นการชี้มูลความผิดได้ ก็ถือว่า มาตรา 23 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ถือว่ากฎหมายลูก ขัดแย้งกับกฎหมายฉบับแม่และอยู่ในลำดับศักดิ์ที่สูงกว่า มาตรา 23 จึงเป็นโมฆะใช้บังคับไม่ได้กับกรณีนี้เช่นกัน
นอกจากนั้น ยังระบุว่า สาเหตุหลักในการตีความไม่ชอบด้วยกฎหมายล้วนเกิดมาจากการกลั่นแกล้งโดยปราศจากข้อสงสัย เห็นได้จาก กรรมการ ป.ป.ช. 2 คนที่ลงมติว่านายประหยัดร่ำรวยผิดปกติ เป็นผู้มีส่วนได้เสียในคดีหลายคดีในศาล มีความขัดแย้งกับนายประหยัด มีคดีฟ้องร้องกันหลายคดี
ด้วยเหตุนี้จึงขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ดำเนินการแก้ไขมติที่ชี้มูลความผิดในกรณีร่ำรวยผิดปกติ ที่ตีความโดยมิชอบและเพิกถอนหนังสือไล่ออกจากราชการโดยด่วน โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 7 วันนับแต่กรรมการ ป.ป.ช.ได้รับหนังสือฉบับนี้
โดยขอให้กรรมการ ป.ป.ช.แต่ละคนให้ความเห็นส่วนตัวให้ชัดเจนเกี่ยวกับผลการลงมติ 4 ต่อ 4 ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 23 ว่า ตามกฎหมายมาตราดังกล่าวแล้ว กรณีมีเสียงเท่ากัน สามารถชี้มูลนายประหยัดได้หรือไม่ และสำนักงาน ป.ป.ช.มีอำนาจ และสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายในการไล่นายประหยัดออกจากราชการได้หรือไม่ โดยขอให้กรรมการแต่ละท่านทำความเห็นส่วนตัวลงในบันทึกรายงานการประชุมที่จะประชุมอันใกล้นี้
จากนั้นจะได้ขอให้ศาลยุติธรรม หรือศาลรัฐธรรมนูญหมายเรียกรายงานการประชุมจากสำนักงาน ป.ป.ช.ฉบับนี้ต่อไป ทั้งนี้ เพื่อจะได้ดำเนินคดีแพ่งและคดีอาญากับผู้ที่จงใจกลั่นแกล้งต่อไปเป็นการเฉพาะราย และในกรณีที่ใครไม่ออกความคิดเห็นไว้ในบันทึกรายงานการประชุมดังกล่าว ถือว่าเป็นผู้มีความเห็นในมติ 4 ต่อ 4 และชี้มูลความผิด จึงมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินคดีจนถึงที่สุดต่อไป
ในเวลาต่อมาประหยัด พวงจำปา. อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อท่านอัยการสูงสุด พิจารณาคัดค้านมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. 4 ต่อ 4 ละเมิดสิทธิ และขัดรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2566 นายประหยัดฯ ได้มีหนังสือร้องขอความเป็นธรรม ต่ออัยการสูงสุดในกรณีมติ 4/4 ของ ป.ป.ช.
โดยชี้ว่า ประธานกรรมการ ป.ป.ช. พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ กลับสรุปในที่ประชุมแม้มติ 4/4 ว่าต้องถือตามมาตรา 23 ชี้มูลความผิดนายประหยัด พวงจำปา ว่าร่ำรวยผิดปกติ อาศัยช่องว่างกฎหมายในฐานะผู้บังคับบัญชา มีคำสั่งประธานกรรมการ ป.ป.ช.ไล่ออก นายประหยัด พวงจำปา โดยที่ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ส่อมีอคติ มีข้อขัดแย้งอย่างรุนแรง และไม่ยึดถือปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันเหมือนกับคดีผู้ใกล้ชิดนักการเมืองในคดีนาฬิกาที่ขอถอนตัว ไม่ลงมติ จึงขอให้ท่านอัยการสูงสุด ได้พิจารณาข้อกฎหมาย 2 เรื่อง
- อนุกรรมการไต่สวนไม่ปฏิบัติหน้าที่แสวงหาข้อเท็จจริงให้ถึงที่สุดว่า นายประหยัดฯ ร่ำรวยผิดปกติจากการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือทุจริตเรื่องใด
มาตรา 4 ตาม พ.ร.บ. อนุกรรมการไต่สวนไม่ได้มีการไต่สวนตามหน้าที่ พิสูจน์ให้ได้ความว่า นายประหยัดฯ เป็นเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ได้กระทำการทุจริต ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือมีเรื่องกล่าวหาว่าทุจริตเรื่องอะไร นำทรัพย์สินนั้นมาโดยใช้อำนาจหน้าที่หรือไม่ เพราะทรัพย์สินที่มากล่าวหายัดเยียดให้นายประหยัดฯ ไม่มีรายการใดเป็นชื่อ นายประหยัดฯ รายการทรัพย์สินห้องชุดเป็นการที่คู่สมรส ได้กู้ยืมแทนเพื่อนนักธุรกิจ ส่วนหุ้นต่างๆก็เป็นธุรกิจของกงสีของคู่สมรส ซึ่งมีมาแต่เดิม และโอนคืนให้น้องชายเป็นเอกชนก่อนที่ นายประหยัดฯ จะยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินครั้งแรก
2. การลงมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. 4 ต่อ 4 ชี้มูลความผิด และมีคำสั่งไล่ออกจากราชการ เป็นการลงมติละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญ และไม่เป็นไปตามหลักกฎหมายสากล
การลงมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. 4 ต่อ 4 โดยประธานกรรมการ ป.ป.ช. อาศัยอำนาจตนเองสรุปในที่ประชุม บิดผันกฎหมาย เจตนารมณ์ของกฎหมาย และขัดหลักการพิจารณาคดีอาญาทั่วไป และธรรมนูญศาลยุติธรรมว่า นายประหยัดฯ ร่ำรวยผิดปกติ และถือโอกาสออกคำสั่งด้วยตนเองไล่ออกจากราชการ จนเกิดกระแสข่าวว่าเกิดอะไรขึ้นในสำนักงาน ป.ป.ช. เพราะนายประหยัดไม่เคยถูกร้องเรียน ถูกสอบสวน หรือเกิดเรื่องราวที่ไม่ดีไม่งามมาก่อน เป็นข้าราชการที่ดีระดับแนวหน้า ที่ยึดมั่น สุจริต ไม่ยอมก้มหัวให้ความไม่ถูกต้อง
นี่จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจ สังคมจับตามอง
และหากเปรียบเทียบกับคดีที่เกิดขึ้นมาแล้ว
กลับมีการปฏิบัติที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
#สืบจากข่าว : รายงาน