การกระทำทรมานเพื่อลงโทษ ทำร้าย หรือบีบบังคับให้ได้คำรับสารภาพ คือการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องยาวนานตั้งแต่อดีต ซึ่งขัดต่อหลักกฎหมายและศีลธรรมอันดีที่มนุษย์ต้องไม่ปฏิบัติต่อกันไม่ว่ากรณีใด
ปี 2550 ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment – CAT) และนับจากนั้นเป็นต้นมา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในฐานะสถาบันสิทธิมนุษยชนระดับชาติของไทย ได้ติดตามและให้ข้อเสนอแนะต่อการพิจารณาและผลักดันร่างกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายมาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งกฎหมายผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร และมีผลใช้บังคับในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 นำมาซึ่งความยินดียิ่งของทุกภาคส่วนที่ร่วมกันผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้มานานกว่า 10 ปี อันเป็นก้าวสำคัญของการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันประเทศไทยยังมิได้เข้าร่วมเป็นภาคีในพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ (Optional Protocol to the Convention against Torture and other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment – OPCAT) ซึ่งได้กำหนดกลไกป้องกันการทรมานระดับชาติไว้ (National Preventive Mechanism – NPM) ส่งผลให้ไทยยังขาดกลไกการเข้าตรวจสอบสถานที่ควบคุมตัวอันสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดเหตุซ้อมทรมาน ซึ่งมักเกิดขึ้นในกระบวนการจับกุมตัวและการคุมขังโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ
เนื่องใน “วันต่อต้านการทรมานสากล” 26 มิถุนายน ซึ่งถูกกำหนดขึ้นโดยองค์การสหประชาชาติให้เป็นวันช่วยเหลือเหยื่อจากการทรมานสากล ประจำปีนี้ กสม. ขอยืนยันถึงหลักสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของทุกคนที่จะต้องไม่ตกอยู่ภายใต้การทรมาน การประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และขอให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมมือกันขับเคลื่อนและขจัดอุปสรรคในการบังคับใช้กฎหมายป้องกันการทรมานและบังคับสูญหาย
พร้อมกันนี้ กสม. ขอเน้นย้ำให้รัฐบาลพิจารณาเข้าร่วมเป็นภาคีในพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ (OPCAT) ตามที่ประเทศไทยได้เคยให้คำตอบรับและคำมั่นต่อนานาชาติไว้ โดย กสม. พร้อมเป็นกลไกป้องกันการทรมานระดับชาติ (NPM) ที่เป็นกลางและเป็นอิสระ เพื่อประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่ายในการป้องกันและคลี่คลายปัญหาการซ้อมทรมานในประเทศให้ลดลง ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชนที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
26 มิถุนายน 2566