นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า วันที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา สมัชชาสหประชาชาติ กำหนดให้เป็นวันผู้สูญหายสากล หรือ International Day of the Disappeared เพื่อให้สังคมร่วมกันตระหนักถึงปัญหาการถูกบังคับให้สูญหายหรืออุ้มหายที่เกิดขึ้นทั่วโลก
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) เห็นว่า ประเทศไทยได้บังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 แล้วตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 โดยกฎหมายดังกล่าว มีบทบัญญัติอันเป็นสาระสำคัญที่สอดคล้องกับหลักการในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance: CED) หรืออนุสัญญา CED ที่ไทยเคยประกาศเจตนารมณ์เข้าเป็นภาคีเมื่อปี 2555 แต่ในขณะนั้นยังไม่สามารถให้สัตยาบันเข้าเป็นภาคีได้โดยสมบูรณ์เนื่องจากยังไม่มีการอนุวัติการกฎหมายหรือออกกฎหมายลูกภายในประเทศให้สอดคล้องตามหลักการของอนุสัญญา CED
เมื่อประเทศไทยมีกฎหมายภายในประเทศ ที่สอดคล้องตามหลักการของอนุสัญญา CED ซึ่งประกันสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่จะไม่ถูกกระทำให้สูญหายโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือบุคคลที่ได้รับอนุญาต/
ได้สนับสนุนจากเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยไม่มีข้อยกเว้นไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใด ๆ แล้ว รัฐบาลไทย
จึงสมควรเร่งให้สัตยาบันเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา CED อันจะนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย นโยบาย หรือการดำเนินการใด ๆ ของเจ้าหน้าที่รัฐให้สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ยังเป็นการย้ำให้เห็นถึงท่าทีของไทยที่ให้ความสำคัญกับหลักสิทธิมนุษยชนและส่งเสริมบทบาทอันดีในเวทีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในขณะที่ไทยอยู่ระหว่างสมัครเข้าเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (HRC) ในวาระปี ค.ศ. 2025 – 2027 ด้วย