วันจันทร์, กันยายน 9, 2024
หน้าแรกการเงิน-การลงทุนการเงิน-การคลังเดินหน้า หรือ ถอย พ.ร.บ.กู้เงินโครงการเงิน Digital Wallet?

Related Posts

เดินหน้า หรือ ถอย พ.ร.บ.กู้เงินโครงการเงิน Digital Wallet?

รัฐบาลระทึก
รอความเห็น ป.ป.ช.พิงหลัง
เดินหน้า หรือ ถอย พ.ร.บ.กู้เงินโครงการเงิน Digital Wallet?
เตรียมทางออก เล็งปรับงบปี 68 มาใช้ – ลดขนาดโครงการ
แจกมากแจกน้อย ยังไงก็ต้องแจก ไฟท์บังคับ!!

นายพูลเดช กรรณิการ์ นักวิชาการอิสระ อดีตที่ปรึกษาการเมือง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ให้ความเห็นถึง ความคืบหน้าการดำเนินโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ของรัฐบาล โดยการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ว่า รัฐบาลได้เลื่อนการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ชุดใหญ่ หรือบอร์ดเงินดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ ที่นัดประชุมกันวันที่ 16 มกราคม 2567 ในเวลา 15.00 น. ออกไปไม่มีกำหนด

พูลเดช กรรณิการ์ นักวิชาการอิสระ อดีตที่ปรึกษาการเมือง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้คณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ได้มีการนัดประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ในวันที่ 16 โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะเป็นประธานการประชุม แทน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งติดภารกิจเดินทางไปร่วมการประชุม World Economic Forum (WEF) 2024 ณ สมาพันธรัฐสวิส ระหว่างวันที่ 15 -19 มกราคม 2567 โดยคาดกันว่า บอร์ดเงินดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ จะมีการหารือเกี่ยวกับรายละเอียดหนังสือตอบกลับความคิดเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กรณีที่รัฐบาลจะออกร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อนำมาใช้เป็นแหล่งเงินในการดำเนินโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต รวมทั้งประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการตีความด้านกฎหมายที่คณะกรรมการกฤษฎีกา ให้ความเห็นหรือข้อเสนอแนะมายังรัฐบาล ให้พิจารณาประเด็นเรื่องคำว่า “วิกฤติ” “จำเป็นเร่งด่วนหรือไม่” และ “ความคุ้มค่าหรือประโยชน์ของโครงการ”

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้เหตุผลของการเลื่อนประชุมว่า เนื่องจากได้รับทราบมาว่าจะมีหนังสือความเห็นเกี่ยวกับ พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท จากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มาด้วย จึงอยากรอความเห็นของ ป.ป.ช. ก่อน และนำความเห็นจากทั้งคณะกรรมการกฤษฎีกา และ ป.ป.ช. เข้าสู่ที่ประชุมพร้อมกัน จะได้ดูข้อเสนอแนะว่าเหมือนกันหรือแตกต่างกันอย่างไร

ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

ผมเชื่อว่า หลายคนมีคำถามหรือเริ่มสงสัยว่า นี่เป็นสัญญาณรัฐบาลกำลังเริ่มถอยการออก พ.ร.บ.กู้เงิน และจะหันไปหาเงินจากช่องทางอื่นมาใช้ในโครงการนี้แทน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้เงินงบประมาณ? ซึ่งเมื่อไม่กี่วันก่อน ในการประชุมสัมมนามอบนโยบายและแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็ได้แย้มอ้อมๆต่อหัวหน้าส่วนราชการต่างๆว่า ขอให้ไม่ลืมที่จะตั้งงบประมาณเผื่อไว้ ในกรณีที่ต้องใช้พัฒนาและดำเนินโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต เพราะเป็นนโยบายเรือธงของรัฐบาล

ผมมองว่า ยังเร็วไปที่จะสรุปว่า รัฐบาลกำลังล้มเลิกความคิดที่จะออก พ.ร.บ.กู้เงิน เพราะการกู้เงินเป็นช่องทางหาเงินที่ง่ายที่สุด และได้เงินจำนวน 5 แสนล้านบาทแน่ๆมาดำเนินโครงการ หากไปแคะไปขูดหรือปรับจากกรอบงบประมาณปี 2568 นอกจากจะส่งผลกระทบรุนแรงต่องบประมาณในส่วนอื่นๆแล้ว ที่สำคัญยังจะไม่สามารถแคะได้ถึง 5 แสนล้านบาทด้วย อย่างมากก็อาจได้แค่ 2-3 แสนล้านบาท ซึ่งจะทำให้รัฐบาลต้องลดขนาดของโครงการลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งลดจำนวนประชาชนที่จะได้รับเงินตามโครงการ หรือไม่รัฐบาลก็ต้องหันไปใช้เงินจากธนาคารของรัฐ เพื่อเติมวงเงินให้ได้ 5 แสนล้าน

ผมคิดว่า รัฐบาลคงไม่อยากไปแคะใช้เงินงบประมาณ เพราะส่งผลกระทบไปทั่วเป็นวงกว้าง สร้างปัญหาในเรื่องงบประมาณที่รัฐบาลและส่วนราชการจะต้องใช้ ซึ่งจะทำให้รัฐบาลถูกตราหน้าได้ว่า นำเงินงบประมาณที่ควรใช้ในทุกโครงการ มาประเคนให้กับโครงการแจกเงินตามนโยบายหาเสียงของรัฐบาลโครงการเดียว ผลเสียหรือวิกฤติทางการเมืองต่อรัฐบาลเกิดตามมาแน่นอน ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ที่รัฐบาลหวังว่าจะได้ผลทางการเมือง เป็นคะแนนนิยมจากโครงการนี้ ก็จะได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย หรือบางทีอาจได้เสียงด่าแทน หากไม่สามารถแจกเงินให้ประชาชนได้ครบทุกคนตามที่สัญญาไว้ ผลเสียทางการเมืองก็จะตามมาอีกเช่นกัน

ผมถึงบอกว่าอย่าเพิ่งสรุปว่ารัฐบาลจะถอยการออก พ.ร.บ.กู้เงิน ผมคิดว่ารัฐบาลกำลังพยายามเดินหน้าออก พ.ร.บ.กู้เงินให้ได้ แต่ไม่ใช่การเดินหน้าแบบสุดซอย โดยไม่ฟังเสียงคัดค้าน หรือข้อเสนอแนะของใคร แต่รัฐบาลกำลังพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบและระมัดระวังที่สุด และที่สำคัญต้องมีหลังพิง การที่รัฐบาลเลือกออกเป็น พ.ร.บ.นั่นก็เพราะต้องการมีหลังพิง คือ สภา เพื่อความชอบธรรมทางการเมือง หรือสามารถพูดได้ว่าอิงประชาชน การที่รัฐบาลไม่เลือกออกเป็น พ.ร.ก.เพราะเป็นการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารฝ่ายเดียว ความชอบธรรมทางการเมืองมีน้อย ขณะเดียวกันรับเต็มๆ หากเกิดปัญหา

ส่วนการที่รัฐบาลสอบถามไปยังกฤษฎีกา นั่นคือ หวังมีที่พิงทางกฎหมาย แต่ปรากฎว่ากฤษฎีกาไม่ให้พิง โดยกฤษฎีกาบอกว่าไม่ได้ไฟเขียว แต่ให้รัฐบาลไปพิจารณาเอาเองในประเด็นที่กฤษฎีกาให้ความเห็นไป หรือมีข้อกังวล หรือรับฟังความเห็นของหน่วยงานหรือองค์กรอื่นๆด้วย

และล่าสุดตอนนี้ รัฐบาลกำลังรอความเห็นจาก ป.ป.ช. เป็นผนังพิงสุดท้าย ซึ่งหาก ป.ป.ช. มีความเห็นเหมือนกับกฤษฎีกา ก็หมายความว่ารัฐบาลจะไม่มีที่พิง นอกจากสภา ซึ่งเชื่อว่า ถึงตอนนั้น รัฐบาลก็จะไม่มีทางเลือก นอกจากจะต้องยอมถอยการออก พ.ร.บ.กู้เงิน แต่หาก ป.ป.ช.เห็นแตกต่างจากกฤษฎีกา ที่พิจารณาดูแล้วเป็นไฟเขียว เชื่อว่า รัฐบาลจะตัดสินใจเดินหน้า พ.ร.บ.กู้เงินทันที เพราะถือว่ามีความปลอดภัยต่อรัฐบาลระดับหนึ่ง

ส่วนความเห็นของแบงก์ชาติ และสภาพัฒน์ ที่ดูเหมือนรัฐบาลจะไม่ให้ความสำคัญมากนัก เพราะเป็นความเห็นในเชิงวิชาการและเป็นข้อมูลทางเศรษฐกิจ ซึ่งโต้แย้งกันไปมาได้ รัฐบาลไม่ควรประมาท เพราะเวลามีเรื่องมีราวขึ้นมา ความเห็นของหน่วยงานรัฐทุกแห่งที่เกี่ยวข้อง จะถูกนำไปพิจารณาในการวินิจฉัยตัดสินของศาลทุกครั้ง ดังเช่น คดีจำนำข้าวในอดีต

ต้องจับตาว่า ป.ป.ช. จะมีความเห็นออกมาอย่างไร ผมฟันธงว่า ความเห็นของ ป.ป.ช.นี่แหละครับ จะเป็นตัวตัดสินใจสุดท้ายของรัฐบาลว่า จะเดินหน้าออก พ.ร.บ.กู้เงิน เพื่อนำเงินไปใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ต่อหรือไม่? หรือจะต้องหันไปใช้เงินงบประมาณแทน และลดขนาดโครงการลงตามเม็ดเงินที่มี

เพราะยังไง โครงการนี้ก็ล้มเลิกไม่ได้ แจกมากแจกน้อยก็ต้องแจก แต่แจกแล้ว รัฐบาลก็ต้องปลอดภัยด้วย ไม่ใช่ซ้ำรอยโครงการรับจำนำข้าว!!!

พูลเดช กรรณิการ์
นักวิชาการอิสระ อดีตที่ปรึกษาการเมือง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์
16 มกราคม 2567

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts