นักวิชาการอิสระ ระบุ เปิดลงทะเบียนแก้หนี้นอกระบบ ไม่ได้ผล 45 วัน มาลงทะเบียนแค่แสนกว่าคน ตัวเลขจุ๋มจิ๋ม ชี้คนอาย-เกรงเจ้าหนี้ แนะนายกฯ เปลี่ยนวิธีการ รุกหาข้อมูลลูกหนี้ 3 กลุ่มใหญ่ “คนทำธุรกิจ-พ่อค้าแม่ค้าในตลาด-มนุษย์เงินเดือน”
นายพูลเดช กรรณิการ์ นักวิชาการอิสระ อดีตที่ปรึกษาการเมือง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ให้ความเห็นถึง การดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินนอกระบบของประชาชน ซึ่งรัฐบาลถือเป็นวาระแห่งชาติและเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล ว่า
เมื่อวันก่อน นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย รายงานว่า นับตั้งแต่เปิดลงทะเบียนหนี้นอกระบบเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2566 เป็นต้นมา จนถึงวันที่ 14 มกราคม 2567 เป็นเวลา 45 วัน มีประชาชนมาลงทะเบียนแล้ว 127,822 ราย มูลหนี้รวม 8,189.870 ล้านบาท
พูดตรงๆ ผมเห็นว่า วิธีการเปิดให้ประชาชนมาลงทะเบียน ไม่ค่อยได้ผลครับ เพราะดูจากตัวเลขที่เปิดลงทะเบียนมา 45 วัน ทั้งทางออนไลน์ และที่ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบทุกจังหวัดทั่วประเทศ มีผู้มาลงทะเบียนแค่ 1 แสน 2 หมื่นกว่าราย ยอดหนี้แค่ 8 พันกว่าล้าน ถือว่าน้อย จุ๋มจิ๋มมาก ผมเชื่อว่าคนไทยเป็นหนี้นอกระบบหลายล้านคน และมูลหนี้น่าจะหลายหมื่นล้าน บาทหรืออาจถึงแสนล้าน เมื่อประเมินจากสภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ซบเซา และฝืดเคืองมานานหลายปี
ผมมองว่า สาเหตุที่ทำให้คนเป็นหนี้นอกระบบไม่มาลงทะเบียนหนี้นอกระบบ เพื่อเจรจากับเจ้าหนี้ ก็เพราะ 1.อายที่จะเปิดเผยตัวว่าตัวเองเป็นหนี้นอกระบบ 2.กลัวมีปัญหากับเจ้าหนี้นอกระบบ ซึ่งส่วนใหญ่มีอิทธิพลในพื้นที่ เนื่องจากกระบวนการแก้หนี้นอกระบบ เมื่อลงทะเบียนแล้ว การไกล่เกลี่ยหนี้ ก็ต้องให้เจ้าหนี้มาเจรจาด้วย ลูกหนี้นอกระบบจึงไม่กล้าลงทะเบียน เพราะต้องให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ว่า เป็นหนี้ใคร จำนวนเท่าไหร่ และเสียดอกเท่าไหร่
ผมคิดว่ารัฐบาลจะต้องทำงานเชิงรุก เจาะหาผู้เป็นหนี้นอกระบบเป็นรายกลุ่ม ไม่ใช่มาหว่านแห หาคนเป็นหนี้นอกระบบ ด้วยการเปิดลงทะเบียนกันแบบนี้
เช่น คนที่ประกอบธุรกิจแล้วขาดทุนหรือขาดสภาพคล่อง ขาดเงินทุนหมุนเวียน และไม่สามารถกู้เงินในระบบธนาคารได้ ด้วยเหตุผลเครดิตเต็ม หรือเครดิตเสีย จนต้องหาทางออกไปกู้เงินนอกระบบ ผมคิดว่ามีจำนวนไม่น้อย แต่กลุ่มนี้คงไม่มีใครมาลงทะเบียน เพราะเกรงว่าจะทำให้เสียเครดิตทางธุรกิจ กลุ่มนี้ถ้ารัฐบาลอยากรู้ว่ามีจำนวนเท่าไร เพื่อหาทางช่วย ก็ควรให้กระทรวงพาณิชย์ทำการสำรวจออกแบบสอบถามไปยังบริษัทห้างร้านทุกแห่งทั่วประเทศ โดยทำเป็นการลับ ปกปิดไม่เปิดเผยข้อมูลของบริษัทออกมา ก็เชื่อว่าบริษัทต่างๆคงพร้อมให้ข้อมูลจริงๆกับรัฐบาลแน่นอนครับ
อีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นหนี้นอกระบบกันมาก คือ พ่อค้าแม่ค้าในตลาดสด ตลาดนัด ส่วนใหญ่เป็นหนี้นอกระบบกันทั้งนั้นครับ ทั้งหนี้รายวัน รายสัปดาห์ หรือรายเดือน เสียดอกเบี้ยแพงๆ กลุ่มนี้ควรให้กระทรวงมหาดไทยทำงานเชิงรุกเข้าไปสำรวจในตลาดดูครับ ผมเชื่อว่าจะได้ตัวเลขผู้เป็นหนี้นอกระบบและยอดหนี้นอกระบบเพิ่มขึ้นอีกมหาศาลครับ พ่อค้าแม่ค้าเขาไม่ปิดบังหรอกครับ เพราะอยากเปิดเผยสะท้อนปัญหาของพวกเขาให้รัฐบาลทราบ หวังให้รัฐบาลเข้าไปช่วยเหลืออยู่แล้ว
อีกกลุ่มหนึ่งที่ผมเชื่อว่าเป็นหนี้นอกระบบกันไม่น้อย ก็คือข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ และพนักงานบริษัทห้างร้านในภาคเอกชน หรือมนุษย์เงินเดือน ผมเชื่อว่ากลุ่มนี้ก็เป็นหนี้นอกระบบกันไม่น้อย เพราะทำงานดี มีรายได้แน่นอน หนีไม่ได้ พวกปล่อยเงินกู้นอกระบบจึงชอบปล่อยเงินกู้ให้ ผมคิดว่ารัฐบาลควรทำงานเชิงรุก เข้าไปสำรวจในทางลับ หรือสำรวจแบบปกปิดข้อมูล เพื่อไม่ให้พวกเขาได้รับผลกระทบต่อหน้าที่การงาน หรือไม่เกิดความอับอาย รัฐบาลก็จะได้ตัวเลขหนี้นอกระบบจากกลุ่มนี้ และหาทางช่วยเหลือได้ กลุ่มนี้ไม่ควรทิ้งขว้างหรือปล่อยปละละเลย เพราะอาจนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชั่น หรือคดโกงองค์กร อย่างเช่นที่มีข่าวบ่อยๆว่า พนักงานธนาคารแอบยักยอกเงินลูกค้า เพราะเป็นหนี้นอกระบบล้นพ้นตัว ผมเห็นว่าถ้าเป็นกลุ่มข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่รัฐ ควรให้กระทรวงยุติธรรมเป็นผู้ทำการสำรวจ แต่ถ้าเป็นพนักงานในภาคเอกชน ควรให้กระทรวงพาณิชย์สำรวจ เพราะมีข้อมูลบริษัทห้างร้านต่างๆในมือพร้อมอยู่แล้ว แต่ไม่ควรให้แต่ละหน่วยงานหรือบริษัทสำรวจกันเอง เพราะคนเป็นหนี้อาจไม่กล้าเปิดเผยข้อมูล เนื่องจากใกล้ตัวเกินไป กลัวกระทบหน้าที่การงาน
ก็อยากฝาก ท่านนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ลองพิจารณาดูครับ
พูลเดช กรรณิการ์
นักวิชาการอิสระ อดีตที่ปรึกษาการเมือง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์
15 มกราคม 2567