9 พฤษภาคม 2567 อคส.เตรียมเปิดระบายข้าวในโครงการรับจำนำลอตสุดท้าย 15,000 ตัน กลางเดือน พ.ค.นี้ เพื่อการบริโภคเป็นการทั่วไป ยืนยันข้าวมีความปลอดภัย แต่ต้องนำไปปรับปรุง ขณะที่ความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวมีกว่า 1,000 คดี มูลค่าความเสียหายกว่า 4 แสนล้านบาท
นายกฤษณรักษ์ ใจดี รักษาการผู้อำนวยการ องค์การคลังสินค้า (อคส.) กล่าวว่า หลังจากที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ลงพื้นที่กินข้าวโชว์ว่าข้าวในโครงการรับจำนำสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่เก็บมากว่า 10 ปี ยังบริโภคได้และพร้อมนำมาเปิดประมูล โดยขณะนี้ อคส.อยู่ระหว่างการทำทีโออาร์ เพื่อประมูลข้าว ใน 2 โกดังสุดท้ายในโครงการรับจำนำที่จังหวัดสุรินทร์ ปริมาณข้าว รวม 15,000 ตัน เพื่อการบริโภคเป็นการทั่วไป เบื้องต้นคาดว่าจะออกประกาศเงื่อนไขการประมูลหรือทีโออาร์ได้กลางเดือนนี้
ทั้งนี้ แบ่งเป็นข้าวหอมมะลิ 100 เปอร์เซ็นต์ของโครงการรับจำนำปี 2556/57 ราคาประมูลเบื้องต้นจะอยู่ที่ 18 บาท โดยขั้นตอนของการประมูล จะเริ่มจากออกประกาศทีโออาร์ ชี้แจงรายละเอียดการประมูลเปิดให้ผู้สนใจดูข้าวในโกดัง จากนั้นเปิดให้ยื่นซองคุณสมบัติ ตรวจสอบคุณสมบัติผู้ผ่านเกณฑ์/หลังจากนั้นจะเปิดให้ยื่นซองเสนอราคา สรุปผลและประกาศรายชื่อ ผู้ชนะประมูลต้องทำสัญญาภายใน 15 วัน หากระบายได้ทั้งหมดจะทำให้รัฐมีรายได้ ราว 270 ล้านบาท ช่วยลดภาระค่าเช่าโกดัง การดูแลรักษาข้าวเดือนละ 380,000 บาท
อย่างไรก็ตาม ข้าวที่นำมาเปิดประมูลเป็นข้าวที่เก็บไว้ 10 ปี 56/57 ซึ่งมีค่าฝากเก็บ ค่าเช่า ค่ารมยา รวมเดือนละ 380,000 บาท ต่อเดือนหากสามารถระบายได้ก็นำเงินเข้าคลังได้ โดยยืนยันว่าข้าวดังกล่าวยังบริโภคได้ แต่ผู้ซื้อที่ชนะประมูลต้องนำไปปรับปรุงคุณภาพ ส่วนกรณีที่มีการเสนอให้ นำตัวอย่างข้าวตรวจสอบในห้องปฎิบัติการเพื่อสร้างความมั่นใจว่าข้าวปลอดภัยนั้น เป็นเรื่องที่ไม่อยู่ในอำนาจ อคส. และทำให้รัฐมีค่าใช้จ่ายเพิ่มและในอดีตไม่เคยนำข้าวส่งตรวจห้องปฎิบัติการก่อนเปิดประมูล
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่มีการระบายข้าวในยุค คสช.ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน มีการระบายข้าวไปทั้งหมด 44 ครั้ง ปริมาณ 13.88 ล้านตัน โดย อคส.ระบายเอง 7 ครั้ง ปริมาณข้าว 350,000 ตัน ที่เหลือเป็นกรมการค้าต่างประเทศเป็นผู้เปิดประมูล คิดเป็นรายได้จากการประมูล 105,000 ล้านบาท และหากดูความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว พบว่า มีคดีอาญา 897 คดี เป็นคดีที่สิ้นสุดแล้ว 99 คดี อยู่ระหว่างศาลพิจารณา 233 คดี อยู่ระหว่างการพิจารณาชั้นอัยการ 164 คดี และอยู่ระหว่างการพิจารณาของพนักงานสอบสวน 401 คดี ความเสียหาย 118,800 ล้านบาท ส่วนคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครอง 246 คดี ความเสียหาย 376,300 ล้านบาท รวม ความเสียหายทั้งคดีอาญาและคดีปกครอง 495,000 ล้านบาท เป็นต้น