“….มีข้อมูลพบว่าใน จ.สมุทรสงคราม และ จ.เพชรบุรี มีปลาหมอสีคางดำระบาดในพื้นที่เลี้ยงกุ้งของทั้งสองจังหวัดรวมกันไม่ต่ำกว่า 1,573 ตัน หรือราว 30 ล้านตัว ประมาณการณ์มูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 150-350 ล้านบาทต่อปี ส่งผลให้ในปี 2561 มีมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ปลาชนิดนี้เป็นสายพันธุ์ต่างถิ่น “เอเลียนสปีชีส์” ที่มีความสำคัญสูงที่จะต้องมีการควบคุมและกำจัด ซึ่ง ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ นักวิชาการอิสระผู้ก่อตั้งกลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม ได้ตั้งข้อสังเกตถึงการเปิดตัวปลาหยกเชิงการค้าของ CPF ในครั้งนั้นว่า รู้สึกงง เนื่องจากกรมประมง เป็นผู้ออกประกาศคุมปลาเอเลียนสปีชีส์ 13 ชนิดไม่ให้เพาะเลี้ยง ซึ่งรวมถึงปลาเก๋าหยกด้วย แต่ทำไมถึงมีการอนุญาตให้บริษัทซีพี นำเข้าและเพาะเลี้ยงเชิงการค้าได้ โดยที่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงโดยทั่วไปไม่ได้รับการอนุมัติ จึงอยากให้กรมประมงตอบคำถามประเด็นนี้ต่อสังคม เป็นคำถามที่จนถึงปัจจุบัน กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังคงเก็บงำไม่มีคำตอบให้สังคม…”
จากปลาหมอคางดำ….ถึง Jade Perch
บทสะท้อนการทำงานของกรมประมง
ปกป้องผลประโยชน์เกษตรกรหรือนายทุนกันแน่!
หากเป็นในต่างประเทศ ไม่ต้องไปดูอื่นไกลเอาแค่เพื่อนบ้านมาเลเซีย หรือสิงคโปร์ ป่านนี้อธิบดีกรมประมง และรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นถูก “ปลดกลางอากาศ” เด้งดึ๋งพ้นเก้าอี้กันระนาวไปแล้ว
มีอย่างที่ไหนปล่อยให้เกิดการลักลอบนำเข้าปลาหมอสีคางดำ โดยปราศจากการควบคุมจนก่อให้เกิดการแพร่ระบาดลงสู่ธรรมชาติ และบ่อปลาเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำขนานใหญ่ตั้งแต่ปีมะโว้ สร้างหายนะกับอุตสาหกรรมสัตว์น้ำของไทยจนป่นปี้ซะขนาดนี้
จนป่านนี้ กรมประมงยังสืบสาวราวเรื่องและจับมือใครดมไม่ได้!
แม้กรมประมงจะพบการระบาดของปลาหมอคางดำมาตั้งแต่ปี 2555 ในบริเวณพื้นที่เดียวกับแล็ปที่บริษัทเอกชนที่ได้รับการอนุญาตให้นำเข้าพันธุ์ปลาเพื่อทดลองวิจัยและพัฒนาพันธุ์ปลานิลในประเทศ คือที่ตำบลยี่สาร อ.อัมพวา จ.สมุทรสาคร ก่อนจะพบการแพร่ระบาดในวงกว้างในปี 2559
ทั้งยังมีข้อมูลจากการสำรวจพื้นที่ของกองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด กรมประมง ในปี 2560 ที่พบว่าใน จ.สมุทรสงคราม และ จ.เพชรบุรี มีปลาหมอสีคางดำระบาดในพื้นที่เลี้ยงกุ้งของทั้งสองจังหวัดรวมกันไม่ต่ำกว่า 1,573 ตัน หรือราว 30 ล้านตัว ประมาณการณ์มูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 150-350 ล้านบาทต่อปี ส่งผลให้ในปี 2561 มีมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ปลาชนิดนี้เป็นสายพันธุ์ต่างถิ่น “เอเลียนสปีชีส์” ที่มีความสำคัญสูงที่จะต้องมีการควบคุมและกำจัด
แม้ก่อนหน้านี้จะมีความเคลื่อนไหวให้มีการตรวจเทียบสารพันธุกรรม (สารพันธุกรรมจะทำหน้าที่เก็บข้อมูลทางพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตเอาไว้ เมื่อสิ่งมีชีวิตมีการสืบพันธุ์ สารพันธุกรรมจะถูกถ่ายทอดไปยังรุ่นต่อไปด้วย สารพันธุกรรมในเซลล์สิ่งมีชีวิตเรียกรวมว่า กรดนิวคลีอิก (nucleic acid) แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ 1. ดีเอ็นเอ (DNA – deoxyribonucleic acid) 2. อาร์เอ็นเอ (RNA – ribonucleic acid) เพื่อพิสูจน์ว่า ปลาหมอคางดำที่กำลังระบาดอย่างกว้างขวางดังกล่าวมีแหล่งที่มาจากปลาที่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF นำเข้าเมื่อ 14 ปีก่อนหรือไม่ เนื่องจากทางบริษัทฯ ได้ชี้แจงต่อคณะอนุกรรมการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยระบุว่า ปลาหมอคางดำที่บริษัทนำเข้าในช่วงปี 2553 นั้นตายลงเกือบทั้งหมด เพราะอ่อนแอและได้มีการทำลายซากโดยการฝังกลบซากปลาที่ตายทั้งหมดแล้ว
แต่เมื่อตรวจสอบข้อมูลไปยังกรมประมงกลับปฏิเสธว่า ไม่มีตัวอย่างปลาชนิดนี้ดองเก็บไว้ แม้กรมฯ จะมีการชี้แจงกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนก่อนหน้าว่า ทางกรมประมงได้รับมอบปลาตัวอย่างที่ถูกดองเก็บไว้ทั้งหมด 50 ตัวอย่าง เมื่อสิบกว่าปีก่อนก็ตาม แต่ก็อ้างว่าตัวอย่างปลาเหล่านั้นได้อันตธานหายไปกับเหตุน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 แล้ว
เป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นถึงการทำงานอันหละหลวม ไร้ประสิทธิภาพในการควบคุมและกำกับดูแลอย่างเห็นได้ชัด
#แพร่ระบาดหนักแต่จับมือใครไม่ได้
ในรายงานเรื่อง “การแพร่กระจายและขอบเขตการรุกรานของปลาหมอสีคางดำในพื้นที่ชายฝั่งและพื้นที่ใกล้เคียง” ซึ่งจัดทำโดยนักวิจัยของกรมประมงเอง ที่เผยแพร่เมื่อปี 2566 ระบุว่า ทีมนักวิจัยได้ออกเก็บข้อมูลการแพร่ระบาดของปลาสายพันธุ์นี้ใน 2 ช่วง คือเดือน พ.ย. 2562 และ เดือน มี.ค. 2564 บริเวณพื้นที่ชายฝั่งภาคตะวันออก พื้นที่อ่าวไทยตอนบน และพื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลาง รวมถึงศึกษาความชุกชุมของการแพร่ระบาดใน 3 ลำน้ำ ได้แก่ ลำน้ำประแสร์, ลำน้ำเพชรบุรี และสมุทรสงคราม, และลำน้ำสวี
ผลการศึกษาพบว่าการระบาดของปลาชนิดนี้มีความน่ากังวล เพราะอยู่ในระดับการแพร่กระจายที่อยู่ในระดับรุกราน โดยปลาหมอคางดำที่กำลังแพร่กระจายใน 13 จังหวัดชายฝั่งแถบอ่าวไทยนั้น ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านในพื้นที่ เนื่องจากเป็นปลาที่สามารถปรับตัวอยู่ได้ในทุกสภาพน้ำ ทั้งน้ำจืด น้ำเค็ม หรือน้ำกร่อย เป็นปลานักล่าที่กินทั้งพืชและกินลูกปลา ลูกกุ้ง และลูกหอยเป็นอาหารด้วย จึงเป็น “เอเลี่ยนสปีชีส์” ที่เป็นอันตรายต่อระบบนิเวศวิทยา
อย่างไรก็ตามในปี 2560 มีผู้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ว่า ได้รับความเดือดร้อนจากการระบาดของปลาหมอสีคางดำใน จ.สมุทรสาคร และ จ.เพชรบุรี ส่งผลให้ทาง กสม.ตั้งอนุกรรมการขึ้นมาตรวจสอบเรื่องการละเมิดสิทธิชุมชน กรณีเกษตรกรได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำในเวลาต่อมา
ในรายงานฉบับเดียวกันระบุด้วยว่าผู้ขออนุญาตนำเข้าใช้เวลารวบรวมพันธุ์ปลาเป็นระยะเวลา 3 ปี จึงสามารถนำเข้าปลาหมอสีคางดำได้ในปี 2553 จำนวน 2,000 ตัว โดยปลามีขนาดเล็กมาก แต่เนื่องจากการเดินทางใช้เวลาขนส่งนานถึง 32 ชั่วโมงทำให้ปลาบางส่วนตายลงเหลือเพียง 600 ตัวที่อาการไม่ดี จากนั้นจึงนำปลาที่เหลือไปปล่อยในระบบปิดที่เตรียมไว้ ต่อมาปรากฏว่าปลาทยอยตายลงเกือบทั้งหมดภายใน 3 สัปดาห์
ผู้วิจัยเห็นว่าปลาเริ่มทยอยตายจึงส่งตัวอย่างปลาไปให้กรมประมงด้วยวิธีการดองจำนวน 50 ตัว จากนั้นจึงตัดสินใจทำลายปลาที่เหลือโดยใช้สารคลอรีนเข้มข้น และฝังกลบซากปลา ตามด้วยการโรยปูนขาวทับ เพราะพิจารณาว่าการปรับปรุงสายพันธุ์ไม่น่าประสบความสำเร็จ
#ปริศนาปลาหมอคางดำหลุดมาจากไหน?
ขณะที่ในการชี้แจงต่อ กสม. ทางกรมประมงอ้างว่า สาเหตุการระบาดของปลาหมอสีคางดำอาจเกิดขึ้นได้ทั้งจากการทำผิดเงื่อนไขอนุญาตนำเข้า หรือการลักลอบนำเข้าแบบผิดกฎหมาย และการระบาดของปลาดังกล่าวก็เกิดขึ้นมาเป็นระยะเวลาหลายปีจึงไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า แหล่งที่มาหรือสาเหตุการระบาดคืออะไร?
นอกจากนี้ ยังเป็นที่น่าสังเกตว่า ในมติของคณะกรรมการด้านความหลากหลายและความปลอดภัยทางชีวภาพ (Institute Biosafety Committee : IBC) กรมประมงซึ่งมีมติเห็นชอบให้ CPF นำเข้าปลาหมอสีคางดำได้เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2549 นั้น มีเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตด้วยว่า ทางผู้นำเข้าต้องเก็บครีบและตัวอย่างนำส่งให้กรมประมง และเมื่อวิจัยเสร็จแล้วต้องแจ้งผลการวิจัยให้กรมประมงทราบด้วย รวมทั้งต้องระมัดระวังไม่ให้มีการแพร่ระบาดลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ทั้งนี้ หากการวิจัยไม่สำเร็จ ก็ต้องรายงานและเก็บซากปลาส่งให้กรมประมงด้วย
ดังนั้นการที่ทางผู้วิจัยไม่ได้รายงานผลการทดลองและการตายของปลาหมอสีคางดำให้กรมประมงเป็นลายลักษณ์อักษร ทาง กสม.จึงระบุในรายงานผลตรวจสอบว่า ถือว่าไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการอนุญาตนำเข้าสัตว์น้ำต่างถิ่น แต่ไม่ได้ระบุว่าทางบริษัทต้องรับผิดชอบอย่างไรต่อกรณีนี้ มีเพียงคำแนะนำกรมประมงตั้งคณะทำงานควบคุมการระบาด และจัดสรรงบประมาณช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการรุกรานของปลาสายพันธุ์นี้เท่านั้น
ทั้งหลายทั้งปวงเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็น ประสิทธิภาพการทำงานของกรมฯ ได้เป็นอย่างดี ขณะที่กรมประมงปฏิเสธไม่สามารถจะตรวจสอบย้อนกลับไปถึง DNA ปลาหมอสีคางดำดังกล่าวว่ามีต้นกำเนิดหรือสาแรกเดียวกับปลาหมอสีคางดำที่บริษัทนำเข้ามาหรือไม่ เพราะไม่ได้มีการจัดเก็บตัวอย่างใด ๆ เอาไว้ตามเงื่อนไขประกอบใบอนุญาต และอำนาจหน้าที่ของตนเอง
ก่อให้เกิดคำถามตามมาทันที แล้วในส่วนของ “ปลาหยก” หรือ “เก๋าหยก” ที่บริษัทเอกชนรายเดียวกันซุ่มพัฒนาและปรับปรุงสายพันธุ์ จนเปิดตัวเป็นพันธุ์ปลาสายพันธุ์ใหม่ที่บริษัทเตรียมนำมาทำตลาดในระดับพรีเมี่ยมนั้น กรมประมงได้มีการอนุญาตนำเข้าและเพาะเลี้ยง ตลอดจนติดตาม ตรวจสอบและควบคุมหรือไม่
เพราะนัยว่าเป็น 1 ใน 13 สายพันธ์เอเลี่ยนสปีชีส์ที่กรมประมงกำหนดห้ามนำเข้าและเพาะเลี้ยงเช่นกัน?
#แกะรอย “ปลาหยก” อีกเอเลี่ยนสปีชีส์ที่จ่อคิว
โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 นักอนุรักษ์ต่างแสดงความประหลาดใจกับการที่บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด(มหาชน) หรือ CPF ได้แถลงข่าวเปิดตัว “ปลาหยก” ( Jade Perch) เป็นผลิตภัณฑ์ปลาเกรดพรีเมียมเชิงการค้าที่มีรสชชาติอร่อย ชูสรรพคุณโภชนาการสูง ช่วยบำรุงเซลล์ประสาทและผิวพรรณ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
เพราะจากการตรวจสอบนั้น พบว่า “ปลาหยก” หรือ “เก๋าหยก” ( Jade Perch) ที่ว่านั้นเป็น 1 ใน 13 บัญชีสัตว์น้ำเอเลียนสปีชีส์ ที่กรมประมงออกประกาศห้ามนำเข้าและเพาะเลี้ยง แต่เหตุใดกลับไปโผล่เป็นปลาระดับพรีเมียมบนโต๊ะอาหารของบริษัทเอาได้
ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ นักวิชาการอิสระผู้ก่อตั้งกลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม (siamensis.org) ที่ให้สัมภาษณ์ ThaiPBS ในห้วงเวลาเดียวกัน ได้ตั้งข้อสังเกตถึง การเปิดตัวปลาหยกเชิงการค้าของ CPF ในครั้งนั้นว่า รู้สึกงง เนื่องจากกรมประมง เป็นผู้ออกประกาศคุมปลาเอเลียนสปีชีส์ 13 ชนิดไม่ให้เพาะเลี้ยง ซึ่งรวมถึงปลาเก๋าหยกด้วย แต่ทำไมถึงมีการอนุญาตให้บริษัทซีพี นำเข้าและเพาะเลี้ยงเชิงการค้าได้ จึงอยากให้กรมประมงตอบคำถามประเด็นนี้ต่อสังคม
(รายละเอียดบัญชีแนบท้ายประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องกำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามเพาะเลี้ยงในราชอาณาจักร พ.ศ.2564 … 20210715180935_1_file.pdf (fisheries.go.th)
รวมทั้งอยากให้มีการวิจัยปลาเก๋าหยกด้วยว่า เป็นปลาที่ไม่สามารถขยายพันธุ์ได้เอง หากหลุดรอดไปในแหล่งน้ำธรรมชาติ เพราะตอนนี้เริ่มมีการเจอตัวในแหล่งน้ำในพื้นที่ จ.พิษณุโลก ที่ไม่รู้ว่าจากที่ไหน ห่วงว่าจะซ้ำรอยกับปลาหมอสีคางดำที่ไม่รู้แม้กระทั่งคนที่นำเข้ามาและคนที่ทำหลุดรอดลามไปในระบบนิเวศ จนเกิดผลกระทบในวงกว้างอยู่ในขณะนี้
“ตัวอย่างที่พังมากคือ ปลาหมอสีคางดำที่เพาะขยายพันธุ์ในแหล่งน้ำทั่วประเทศ ลามลงในทะเลจนสร้างผลกระทบต่อนิเวศ กินปลาพื้นเมือง แต่ตอนนี้ยังหาผู้รับผิดชอบนำเข้ามา และไม่สามารถควบคุมได้”
เป็นคำถามที่จนถึงปัจจุบัน กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังคงเก็บงำไม่มีคำตอบให้สังคมว่า IBC ได้อนุญาตให้บริษัทเอกขนนำเข้าและเพาะเลี้ยงพันธ์ปลาที่เป็น “เอเลี่ยนสปีชีส์” จนถึงขั้นเตรียมประกาศเป็นปลาเชิงพาณิชย์ที่เตรียมเสริฟบนร้านอาหาร ภัตตาคารไปได้อย่างไร มีมาตรการควบคุมและกำกับดูแลที่จะเป็นหลักประกันว่าจะไม่ปล่อยให้เกิดการแพร่ระบาดเหมือนกับกรณีปลาหมอสีคางดำอย่างไร โดยที่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงโดยทั่วไปไม่ได้รับการอนุมัติ
และทำให้เกิดคำถามย้อนกลับไปถึงการแพระระบาดของปลาหมอคางดำ ที่กำลังสร้างหายนะให้แก่อุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของไทยในวงกว้างอยู่ในขณะนี่ว่า
บริษัทเอกขนผู้นำเข้าสายพันธ์ปลาเจ้าปัญหาที่ว่านี้ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องมาตั้งแต่แรกแน่หรือ?