“…ในส่วนของโรงงานศิริแสงอารำพี ที่ร่วมมือกับบริษัท ซีพีเอฟ รับซื้อปลาหมอคางดำจากทุกจังหวัดทั่วประเทศในราคา 15 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อนำไปผลิตเป็นปลาป่นอาหารสัตว์ ถือว่าบริษัทได้ทำมาดีแล้วและน่าจะช่วยให้บริษัทได้รับความชื่นชมไปมากกว่านี้หากจะแสดงความรับผิดชอบให้สังคมได้เห็นว่า แม้จะไม่ได้เป็นต้นตอการนำเข้าและแพร่ระบาด (ปลามันอาจจะว่ายน้ำข้ามน้ำข้ามทะเลมาจริงๆ) ไม่เพียงแค่การรับซื้อหรือตั้งจุดรับซื้อปลาหมอคางดำไปผลิตเป็นปลาป่น ผลิตเป็นแค่อาหารสัตว์ดังที่ทำอยู่เท่านั้น แต่ต้องแสดงให้เห็นว่า บริษัทพร้อมจะร่วมเยียวยา แจกพันธุ์ปลา พันธ์กุ้ง พันธ์สัตว์น้ำที่จะช่วยฟื้นฟู วิถีชีวิตของเกษตรกร ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำต่างๆ ทั่วประเทศ อย่างถึงที่สุด ต้องแสดงให้เห็นว่า บริษัท ไม่ได้ลอยตัวเหนือปัญหาอย่างที่เป็นอยู่ ถึงต้องบอกว่าเสียดายโอกาส ในการกอบกู้ เครดิตชื่อเสียงและภาพพจน์ของบริษัท ภิบาล ในสามโลกโดยแท้…”
เสียดายโอกาส!
ยังคงเป็นเรื่องที่สังคมยังคงแคลงใจ!กับคำพิพากษาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่ “ปลดฟ้าผ่า” กระตุกเบรกรัฐนาวาของนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน จนล่มกลางคลื่นมรสุม ทำเอา เศรษฐกิจไทย ที่จมปลักอยู่แล้ว ต้องเผชิญกับวิกฤต แห่ง ความไม่แน่นอนอีกครั้ง
ทำให้ประเทศต้องสูญเสียโอกาสในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ฟื้นฟูประเทศรวมทั้งฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยที่ไม่รู้จะต้องทอดยาวไปอีกนานเท่าใด
เช่นเดียวกับเรื่องที่ผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ดาหน้าออกมาแถลงข่าวล่าสุดยืนยัน และนั่งยัน(เป็นครั้งที่เท่าไหร่ก็ไม่ทราบได้ เพราะไม่ได้เชิญสือทั่วไปเข้าร่วม )ว่าบริษัทไม่ได้เป็น “ต้นตอ” การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำที่ทำลายอุตสาหกรรมสัตว์น้ำของไทยจนย่อยยับ
พร้อมฉาย “หนังเก่า” ไล่ไทม์ไลน์การขออนุญาตนำเข้าปลาหมอคางดำในอดีตที่อ้างเพิ่อปรับปรุงพันธ์ปลานิลที่มีอยู่ โดยขอนำเข้าจำนวน 5,000 ตัว แต่ภายหลังมีการนำเข้ามาได้จริงจากกาน่าเพียง 2,000 ตัวเท่านั้น
ก่อนจะพบว่าปลาที่นำเข้ามาตายไปกว่า 1,400 ตัว(ไม่มีเศษ ไม่มีเกิน นับยังไงได้เป๊ะๆ) เพราะอ่อนแอจากการขนส่งข้ามน้ำข้ามทะเล ส่วนที่เหลือ 600 ตัวก็ทยอยตายภายใน 2 สัปดาห์ ทำให้บริษัทตัดสินใจยุติการทดลองวิจัย และสั่งทำลายซากปลาหมอคางดำที่เหลือตามระเบียบเงื่อนไขที่รัฐกำหนด
น่าแปลก! เหตุไฉนปลาหมอคางดำที่ซีพีเอฟนำเข้ามา มันช่างผิดวิสัยปลาหมอคางดำที่กำลังระบาดอยู่ในปัจจุบันเสียเหลือเกิน ที่ “ฆ่ายังไงก็ไม่ตาย” ขนาดไถบ่อทิ้งตากแดดเป็นแรมเดือน พ่อเจ้าประคุณยังอุตส่าห์ออกลูกออกหลานแพร่ขยายใหม่จากไข่ที่พ่อแม่ปลาไข่ทิ้งเอาไว้
แถมยังทิ้งปริศนาให้ได้คิด บริษัทภิบาลใหญ่สุดในสามโลกที่อุตส่าห์เตรียมการทดลองวิจัยมาตั้ง 4-5 ปี (ขออนุญาตนำเข้าปี 49 นำเข้าจริงปี 53) แต่นำเข้าพันธ์ปลาแค่ล็อตแรกล็อตเดียวเจอปลาอ่อนต่อโลกใจเสาะตายไปหมด บทจะถอดใจยุติการทดลองวิจัยขึ้นมาก็ถอดใจมันดื้อๆ ว่างั้นเถอะ!
แล้วที่ไปพัฒนาพันธ์ปลานิล พันธ์ปลาหยกหรือ “เก๋าหยก”ในภายหลังนั้น ไปลากเอาพันธ์ปลาที่ไหนมาทดลองวิจัย หรือให้มันพัฒนาไปตามยถากรรมก็ได้พันธ์ปลาเชิงพาณิชย์ใหม่ขึ้นมา?
จึงไม่แปลกใจเลยที่สังคมบางส่วน จะเข้าใจว่า เป็นต้นตอการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำนั้น แม้บริษัทภิบาลรายนี้จะนำข้อมูลรายละเอียดมาชี้แจงละเอียดยิบ ก็ไม่อาจจะปฏิเสธความรับผิดชอบไปได้ เพราะไม่มีเอกชนรายใดนำเข้าพันธ์ปลาเจ้ากรรมที่ว่านี้
ไอ้ที่เที่ยวไปโยนกลองโทษกลุ่มผู้เพาะเลี้ยงปลาสวยงามที่อ้างมีการส่งออกรึ? ทุกฝ่ายต่างรู้สาแก่ใจกันดี ปลาหมอคางดำนั้นไม่ได้เป็นพันธ์ปลาสวยงาม ไม่ได้เป็นพันธ์ปลาที่มีราคา ไม่ได้เป็นปลาอยู่ในตลาดแบบนี้ ใครเขาจะบ้านำเข้า หาหลักฐานการนำเข้าของผู้อื่นยังไม่ได้
พ่อค้าปลาสวยงามจะนำเข้ามาทำสากกระเบืออะไร?
และการที่ฝ่ายบริหาร CPF เรียงหน้าออกมาแถลงยืนยันนั่งยันเป็นนกแก้วนกขุนทองว่า บริษัทไม่เกี่ยวข้องนี้ จึงเหมือนจะยิ่งเป็นการตอกย้ำให้สังคมเห็นถึงการแสดงออกที่การขาดความรับผิดชอบต่อสังคม ขึ้นไปอีก
น่าเสียดายโอกาสกอบกู้ชื่อเสียงและภาพพจ์น์ที่ดีงามในสามโลกของบริษัทจริงๆ และพลอยทำให้ผู้คนนึกเลยไปถึงกรณีนำเข้า “หมูเถื่อน”เกลื่อนเมือง ก่อนหน้านี้ ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า บริษัทภิบาลซีพีก็เข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการนำเข้าหมูเถื่อนนี้ อย่างช่วยไม่ได้
แม้จะอ้างว่าไม่เคยรู้เรื่อง ไม่ได้เป็นผู้นำเข้า ไม่ได้อยู่เบื้องหลังการนำเข้า แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีการนำเอาหมูเถื่อน หมูชำแหละ และเครื่องใน(ตับหมู)เหล่านั้นขึ้นไปวางขายยังห้างค้าปลีกค้าส่งยักษ์ของตนเองมาแล้ว
ยิ่งวันวานเหลือบไปเห็นข่าวนายปรีชา ศิริแสงอารำพี เจ้าของบริษัท ศิริแสงอารำพี จำกัด ผู้ผลิตปลาป่น ที่เข้าร่วมกับประมงสมุทรสาคร เปิดรับซื้อปลาหมอคางดำเจ้าโรงงานปลาป่นให้สิ้นเริ้อง จนถึงวันนี้สามารถกำจัดปลาไปได้แล้ว 769,231 กิโลกรัม
โดยในส่วนของโรงงานศิริแสงอารำพี ที่ร่วมมือกับบริษัท ซีพีเอฟ รับซื้อปลาหมอคางดำจากทุกจังหวัดทั่วประเทศในราคา 15 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อนำไปผลิตเป็นปลาป่นอาหารสัตว์นี้ นัยว่าขณะนี้ มีผู้นำปลาหมอคางดำจากจังหวัดสมุทรปราการเข้ามาส่งให้โรงงานแล้วรวม 5,860 กิโลกรัม และยังเปิดรับซื้อปลาหมอคางดำจากเกษตรกรและชาวประมงในจังหวัดสมุทรสาครต่อเนื่ิองต่อไป
ความร่วมมือข้างต้นนั้นถือว่าบริษัทได้ทำมาดีแล้วและน่าจะช่วยให้บริษัทได้รับความชื่นชมไปมากกว่านี้หากจะแสดงความรับผิดชอบให้สังคมได้เห็นว่า แม้จะไม่ได้เป็นต้นตอการนำเข้าและแพร่ระบาด (ปลามันอาจจะว่ายน้ำข้ามน้ำข้ามทะเลมาจริงๆ)
แต่ในฐานะที่ CPF หรือเครือซี.พี.คือผู้นำอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ปษุสัตว์ และอาหารสัตว์ของประเทศยังพร้อมจะแสดงความรับผิดชอบ ในการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเดือนร้อนจากปลาหมอคางดำครั้งนี้ ด้วยการทุ่มเทเม็ดเงิน ทุ่มเทสรรพกำลัง ระดมแล็ปวิจัยที่มีอยู่ทั้งหมด เพื่อสกัดกั้นและ ทำลายการแพร่ระบาด ของปลาหมอคางดำที่ว่านี้
ไม่เพียงแค่การรับซื้อหรือตั้งจุดรับซื้อปลาหมอคางดำไปผลิตเป็นปลาป่น ผลิตเป็นแค่อาหารสัตว์ดังที่ทำอยู่เท่านั้น แต่ต้องแสดงให้เห็นว่า บริษัทพร้อมจะร่วมเยียวยา แจกพันธุ์ปลา พันธ์กุ้ง พันธ์สัตว์น้ำที่จะช่วยฟื้นฟู วิถีชีวิตของเกษตรกร ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำต่างๆ ทั่วประเทศ อย่างถึงที่สุด ต้องแสดงให้เห็นว่า บริษัท ไม่ได้ลอยตัวเหนือปัญหาอย่างที่เป็นอยู่
ถึงต้องบอกว่าเสียดายโอกาส ในการกอบกู้ เครดิตชื่อเสียงและภาพพจน์ของบริษัท ภิบาล ในสามโลกโดยแท้
เพราะ สุดท้ายยังไงซะผู้คนก็ยังคงฝังใจ เพราะจำได้ในข้อมูลเรื่องการนำเข้าปลาหมอคางดำ ต่อให้นำเอาไปผลิตเป็นปลาป่นเป็นอาหารสัตว์ออกมาจำหน่าย ผู้คน ก็อาจจะไม่ให้ความเชื่อถือ เผลอดีไม่ดีจะ “บอยคอด”สินค้า ในเครือ CPF ไปทั้งหมดเอาด้วย ทำเป็นเล่นไป
ที่สำคัญใจอนาคตอันใกล้นั้น กลุ่มซีพี.เองยังมีแผนจะร่วมมกับพันธมิตรยื่นขอไลเซ่นส์จัดตั้งธนาคารไร้สาขา Virtual Bank อยู่ด้วยอีก …
หาก เครดิตชื่อเสียงและภาพพจน์ของบริษัท ป่นปี้อยู่เช่นนี้แล้ใครจะอยากใช้บริการการเงินหรือธุรกรรมการเงินกับบริษัทภิบาลที่พร้อมจะปัดความรับผิดชอบแบบนี้ จริงไม่จริง!!!