สืบเนื่องจากกลุ่มงานต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต บก.ตอท. หรือ TICAC ได้รับการประสานข้อมูลจาก มูลนิธิอิมมานูเอล ประเทศไทย และมูลนิธิโซเอ ประเทศไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการช่วยเหลือผู้เสียหายที่ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ และสนับสนุนการทํางานของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยแจ้งเบาะแสว่า มีการลักลอบนำเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ซึ่งเป็นแดนเซอร์หางเครื่องที่แต่งกายวาบหวิว โดยหนึ่งในหางเครื่องมีพฤติกรรมชักชวนรุ่นน้องในกลุ่มหางเครื่องไปขายบริการ ตรวจสอบพบเป็นผู้เสียหายจำนวน 2 คน อายุ 17 ปี และ 13 ปี จึงรายงานผู้บังคับบัญชาทราบ
ต่อมา พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้สั่งการให้ พล.ต.ต.ชูศักดิ์ ขนาดนิด ผบก.ตอท. เร่งส่งเจ้าหน้าที่ออกสืบสวนสอบสวนกรณีดังกล่าว เนื่องจากมีเด็กตกเป็นผู้เสียหาย ต้องให้การช่วยเหลือโดยเร่งด่วน จึงมอบหมายให้กลุ่มงานต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต บก.ตอท. ลงพื้นที่ร่วมกับฝ่ายสืบสวน กก.1 บก.สอท.4 เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดี
กระทั่งช่วงเย็นของวันที่ 20 ส.ค.67 สายลับจึงได้ทดลองติดต่อผู้ก่อเหตุผ่านบัญชีเฟซบุ๊กบัญชีหนึ่งเพื่อติดต่อซื้อบริการ ภายหลังบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าว ได้ส่งภาพเด็กในสังกัดที่มีการขายบริการให้สายลับดู พบว่ามีเหยื่อที่คาดว่าอายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 2 ราย รวมอยู่ด้วย โดยรายหนึ่งมีอายุ 17 ปี และอีกรายอายุเพียง 13 ปี สายลับจึงตกลงจ้างผู้หญิงจากภาพมา 2 ราย
ต่อมา หลังจากนัดหมายเรียบร้อยแล้ว ได้มีชายหญิงคู่หนึ่ง ทราบชื่อภายหลังคือ นางสาวจีรนันท์ อายุ 20 ปี และ นายพุฒิพงศ์ อายุ 23 ปี ได้เดินทางมาส่งเด็กสาวทั้ง 2 คนที่โรงแรมม่านรูดแห่งหนึ่ง ในพื้นที่ ต.ป่าแดด อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ พร้อมกับให้ชำระเงินสดจำนวน 12,000 บาท สายลับจึงชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้ เมื่อนางสาวจีรนันท์รับเงินแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้แสดงตัวเข้าจับกุมและทำการตรวจค้น พร้อมนำตัวบุคคลทั้งหมดไปตรวจสอบข้อมูล ณ ที่ทำการ บก.สอท.4 จ.เชียงใหม่
เจ้าหน้าจึงทราบว่า หนึ่งในหญิงขายบริการที่ทั้งคู่พามาส่งนั้น มี 1 คน มีอายุเพียง 13 ปี โดยนางสาวจีรนันท์ฯ ให้การรับสารภาพว่า ตนทำอาชีพเป็นแดนเซอร์วงดนตรีรำวงแห่งหนึ่งในจังหวัดลำพูน แต่ช่วงหลังเศรษฐกิจ ไม่ดีทำให้ไม่ค่อยมีงาน เลยเริ่มหันไปรับงานเอ็นเตอร์เทน เช่น การชงเหล้า และได้ผันตัวไปรับงานค้าบริการทางเพศด้วยในภายหลัง เมื่อตนเห็นว่ามีรายได้ดี จึงได้ชักชวนน้องๆ แดนซ์เซอร์ในวงดนตรีมาร่วมค้าบริการทางเพศด้วยกัน สำหรับเหยื่ออายุ 13 ปี รายดังกล่าวนั้น มีค่าตัวอยู่ที่ 7,000 บาท โดยตนจะหักค่านายหน้าจำนวน 5,500 บาท และจ่ายให้เด็กที่รับงานเพียง 1,500 บาท โดยมีนายพุฒิพงศ์ฯ ทำหน้าที่เป็นคนขับรถ คอยรับส่งเด็กให้แก่ลูกค้าที่คอยซื้อบริการทางเพศ ซึ่งตนได้ทำมาเป็นระยะเวลาประมาณ 1 ปีแล้ว กระทั่งถูกตำรวจไซเบอร์จับกุมในที่สุด
ตำรวจไซเบอร์จึงได้ประสานเจ้าหน้าที่จากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ พม. เข้าร่วมคุ้มครองคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ โดยทีมสหวิชาชีพ ได้ร่วมกันสัมภาษณ์เด็กหญิงที่ผู้ขายบริการทางเพศคนดังกล่าว ภายหลังมีการประชุมร่วมกันระหว่าง เจ้าหน้าที่ พม., พนักงานสอบสวน และเจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุม ผลการประชุมมีความเห็นว่า เด็กอายุ 13 ปี คนดังกล่าวเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์
เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้แจ้ง 4 ข้อหาหนัก ได้แก่ 1.“กระทำการค้ามนุษย์โดยการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากการค้าประเวณี” 2. “เป็นธุระจัดหาล่อไปหรือชักพาไปซึ่งบุคคลใด เพื่อให้บุคคลนั้นกระทำการค้าประเวณี แม้บุคคลนั้นจะยินยอมก็ตาม” 3. “เพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น เป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือพาไปเพื่อการอนาจารซึ่งชายหรือหญิง แม้ผู้นั้นจะยินยอมก็ตาม” และ 4. “ชักจูง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควร หรือน่าจะทำให้เด็กมีความประพฤติเสี่ยงต่อการกระทำผิด” ส่งดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป