“…บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. เปิดเผยผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปี 2567 โดยมีกำไรสุทธิรวม 80,761 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลจากการเติบโตของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม โดยเฉพาะโครงการ G1/61 ที่เพิ่มกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติ อย่างไรก็ดี ผลการดำเนินงานในส่วนอื่นๆ ยังคงมีความท้าทาย ธุรกิจการกลั่นเผชิญกับอัตรากำไรขั้นต้นที่ลดลง เนื่องจากภาวะตลาดที่ผันผวน และธุรกิจก๊าซธรรมชาติก็ได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่สูงขึ้นอันเป็นผลมาจากนโยบาย Single Pool ส่งผลให้มีการด้อยค่าสินทรัพย์ในธุรกิจปิโตรเคมี…”
19 พฤศจิกายน 2567 – บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. เปิดเผยผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปี 2567 โดยบริษัทและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิรวม 80,761 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ปัจจัยขับเคลื่อนผลประกอบการ
ความสำเร็จดังกล่าวมาจากการเติบโตของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม โดยเฉพาะโครงการ G1/61 ที่เพิ่มกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติ ทำให้ปริมาณการขายเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับกำไรจากการลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติและธุรกิจไลฟ์ไซเอนซ์ รวมถึงผลบวกจากอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าขึ้น
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจการกลั่นเผชิญกับอัตรากำไรขั้นต้นที่ลดลง เนื่องจากภาวะตลาดที่ผันผวน และธุรกิจก๊าซธรรมชาติก็ได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่สูงขึ้นอันเป็นผลมาจากนโยบาย Single Pool ส่งผลให้มีการด้อยค่าสินทรัพย์ในธุรกิจปิโตรเคมี
มุ่งสู่พลังงานสะอาดและยั่งยืน
ปตท. ยังคงเดินหน้าสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ผ่านกลยุทธ์ C3 ได้แก่
Climate Resilience Business ปรับ Portfolio ธุรกิจให้เติบโต ควบคู่กับการลดการปล่อยคาร์บอน ให้การดำเนินงานต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้จะเผชิญกับความผันผวนและความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
Carbon-Conscious Asset ปรับปรุงประสิทธิภาพกระบวนการผลิต นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ มุ่งเน้นการใช้พลังงานสะอาด ให้ความสำคัญกับสินทรัพย์ที่คำนึงถึงคาร์บอน ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
Coalition, Co-Creation, and Collective Efforts for All ประสานความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีในการลดก๊าซเรือนกระจก ใช้เทคโนโลยีการดักจับและการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage: CCS) รวมถึงเพิ่มการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยวิธีทางธรรมชาติ ผ่านการปลูกและบำรุงรักษาป่า ซึ่งสถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท. โดยศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์ ได้รับประกาศเกียรติคุณจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จากการจัดการขยะ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 4.848 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า อีกทั้งศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินีได้ขยายผลองค์ความรู้ในการจัดการของเสีย ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 6.848 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า สะท้อนการบูรณาการทุกภาคส่วน พร้อมส่งต่อองค์ความรู้ในการร่วมลดการปลดปล่อยคาร์บอนอย่างเป็นรูปธรรม
นอกจากนี้ ปตท. ยังเร่งผลักดันธุรกิจใหม่ด้านการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage: CCS) และธุรกิจไฮโดรเจน เร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการกักเก็บคาร์บอนจากกระบวนการผลิตของบริษัทในกลุ่ม อีกทั้งยังมีการลงทุนในธุรกิจไฮโดรเจนต่างประเทศ รองรับการใช้พลังงานสะอาดเพิ่มเติม และมีเป้าหมายนำไฮโดรเจนเข้ามาผสมกับเชื้อเพลิงหลักเพื่อลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนในอนาคต
นอกจากพันธกิจหลักในการรักษาเสถียรภาพทางพลังงานแล้ว ปตท. และบริษัทในกลุ่ม ได้ร่วมช่วยเหลือและดูแลสังคม เร่งบรรเทาทุกข์ในสถานการณ์วิกฤต โดยได้ส่งมอบความช่วยเหลือแก่พี่น้องผู้ประสบเหตุอุทกภัยอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนสิงหาคม ประกอบด้วย ถุงยังชีพ 25,170 ถุง น้ำดื่ม 81,740 ขวด ยารักษาโรค ผ้าห่ม เรือพาย และก๊าซหุงต้มเพื่อใช้ในการประกอบอาหาร รวมมูลค่ากว่า 15.73 ล้านบาท อีกทั้งได้ส่งทีมปฏิบัติการ PTT Group SEALs ลงพื้นที่ปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ยากแก่การเข้าถึง พร้อมสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐในการมอบถุงยังชีพ อพยพประชาชน และน้ำมันเชื้อเพลิงในการฟื้นฟูพื้นที่และบ้านเรือนในจังหวัดสุโขทัย เชียงราย และเชียงใหม่อีกด้วย
ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ปตท. ในฐานะบริษัทพลังงานแห่งชาติ มุ่งมั่นรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโต ควบคู่กับการดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย พร้อมสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติและดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มอย่างสมดุล มุ่งสู่การเติบโตขององค์กรในระดับโลกอย่างยั่งยืน”