วันเสาร์, มกราคม 18, 2025
หน้าแรกข่าวประชาสัมพันธ์กสม. แนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมแก้ไขปัญหาสิทธิเด็ก กรณีเด็กไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทยเข้ารับการศึกษาในประเทศไทย

Related Posts

กสม. แนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมแก้ไขปัญหาสิทธิเด็ก กรณีเด็กไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทยเข้ารับการศึกษาในประเทศไทย

กสม. แนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมแก้ไขปัญหาสิทธิเด็ก สิทธิทางการศึกษา กรณีเด็กไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร หรือไม่มีสัญชาติไทย – ตรวจสอบกรณีนักกิจกรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกฟ้องปิดปาก ย้ำหน่วยงานความมั่นคงต้องเปิดพื้นที่ให้ประชาชนใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างสันติ – มีท่าทีกรณีครู ตชด.พ่อลูกถูกวางระเบิดและยิงซ้ำจนเสียชีวิต เร่งให้นำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษโดยเร็ว

วันศุกร์ที่ 17 มกราคม 2568 เวลา 14.00 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และนางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 2/2568 โดยมีวาระสำคัญ 3 วาระ ดังนี้

1.กสม. แนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมแก้ไขปัญหาสิทธิเด็ก กรณีเด็กไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทยเข้ารับการศึกษาในประเทศไทย

    นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ติดตามสถานการณ์ปัญหากรณีเด็กไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทยเข้ารับการศึกษาในประเทศไทย ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับปัญหาสถานะบุคคล สิทธิอาศัยอยู่ในราชอาณาจักร รวมถึงสิทธิด้านสาธารณสุข จึงได้หยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใด ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน

    กสม. ได้พิจารณาเอกสาร ความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิ หน่วยงานของรัฐ องค์กรเอกชน บุคคล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งรายงานการลงพื้นที่ ตลอดจนบทบัญญัติของกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนแล้ว เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 รับรองสิทธิของเด็กทุกคนให้ได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2548 ได้ขยายโอกาสทางการศึกษาแก่บุคคลที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย ให้ทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยสามารถเข้าเรียนได้ โดยไม่จำกัดระดับ ประเภท หรือพื้นที่การศึกษา รวมทั้งการรับเข้าเรียน ลงทะเบียนนักเรียน นักศึกษา การออกหลักฐานทางการศึกษา และให้จัดสรรงบประมาณอุดหนุนเป็นค่าใช้จ่ายรายหัวให้แก่สถานศึกษาในอัตราเดียวกันกับค่าใช้จ่ายที่จัดสรรให้แก่เด็กไทย ยกเว้นผู้หนีภัยจากการสู้รบให้จัดการเรียนในพื้นที่ สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) ที่ได้รับรองสิทธิของเด็กทุกคนให้ได้รับโอกาสทางการศึกษา ลดอัตราการออกจากโรงเรียนกลางคัน และคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ

    จากการศึกษาและรวบรวมข้อมูลพบว่า เด็กต่างด้าวแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ที่มีปัญหาและอุปสรรคในการเข้าถึงสิทธิทางการศึกษา ได้แก่ (1) เด็กที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน (2) เด็กลูกหลานแรงงานสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม (3) เด็กสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่เดินทางโดยลำพังด้วยเหตุผลทางการศึกษา (4) เด็กที่เดินทางไปกลับตามชายแดน และ (5) เด็กพื้นที่พักพิงชั่วคราว

    กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า การจัดการศึกษาเด็กไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทยมีปัญหาสองกรณี ได้แก่ (1) กรณีการรับนักเรียนนักศึกษาเข้าเรียนในสถานศึกษาของรัฐ เด็กไม่สามารถเข้าถึงสิทธิทางการศึกษาเท่าที่ควรหรือค่อนข้างลำบาก ด้วยอุปสรรคหรือข้อจำกัดของสถานศึกษา หรือหน่วยงานต้นสังกัดเรียกหลักฐานเกินความจำเป็นหรือไม่จัดทำบันทึกแจ้งประวัติบุคคล เพื่อนำมาลงหลักฐานทางการศึกษา และมีการดำเนินการที่ไม่สอดคล้องตามระเบียบ ประกาศ และแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องสำหรับการจัดการศึกษาแก่บุคคลที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย อย่างไรก็ตาม ปัญหาสถานะบุคคลหรือการเข้าเมืองโดยมิชอบด้วยกฎหมายเป็นคนละกรณีกับสิทธิทางการศึกษาของเด็ก การที่สถานศึกษาไม่รับเด็กเข้าเรียนเนื่องจากสถานะดังกล่าวและข้อจำกัดเรื่องภาษาในการสื่อสาร ย่อมส่งผลกระทบต่อสิทธิทางการศึกษาและสิทธิเด็ก และ (2) กรณีศูนย์การเรียนรู้เด็กต่างด้าว ซึ่งทำหน้าที่ดูแลเด็กให้สามารถเข้าถึงสิทธิด้านการศึกษาตามความต้องการ และช่วยปกป้องคุ้มครองเด็ก รวมทั้งแบ่งเบาภารกิจของรัฐในการจัดการศึกษา ยังมีข้อจำกัดบางประการที่ทำให้ไม่สามารถจัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนตามกฎหมายได้ เช่น ผู้ขอจัดการศึกษาต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย ต้องเป็นหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือหลักสูตรที่กระทรวงศึกษาธิการรับรอง ขณะที่เด็กและผู้ปกครองต้องการเรียนหลักสูตรของต่างประเทศ เพื่อกลับไปเรียนต่อหรือใช้ชีวิตในประเทศต้นทาง เป็นต้น ทั้งนี้ รัฐควรส่งเสริมการจัดการการศึกษา โดยคำนึงถึงมิติต่างๆ อย่างรอบด้าน อาทิ ด้านมนุษยธรรม สิทธิมนุษยชน ความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคม

    ส่วนประเด็นสถานะบุคคลของเด็กลูกหลานแรงงานสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม และเด็กสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่เดินทางโดยลำพังด้วยเหตุผลทางการศึกษาและการอาศัยอยู่ในราชอาณาจักร เห็นว่า รัฐควรกำหนดมาตรการที่เหมาะสมในการให้สิทธิอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว และให้เด็กจัดทำทะเบียนประวัติและบัตรประจำตัวตามสถานะที่เป็นจริงเพื่อไม่ให้เด็กตกอยู่ในภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ เพื่อปกป้องคุ้มครองเด็กจากการแสวงหาผลประโยชน์ และเห็นว่า เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการประชากรในประเทศ และการพิสูจน์ทราบตัวบุคคล ประกอบกับประเทศไทยกำลังเผชิญกับโครงสร้างประชากรวัยแรงงานลดลง และอาจขาดแคลนแรงงานในอนาคต เมื่อประเทศไทยได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนเป็นค่าใช้จ่ายรายหัวให้เด็กกลุ่มดังกล่าวอยู่แล้ว หากรัฐกำหนดมาตรการส่งเสริมให้ได้รับโอกาสในการทำงานในประเทศไทยย่อมเป็นปัจจัยสนับสนุนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน เนื่องจากสามารถสื่อสารภาษาและเข้าใจวัฒนธรรมไทย ทำให้สามารถอยู่ร่วมกับสังคมไทยโดยไม่แปลกแยก

    นอกจากนี้ ประเด็นสิทธิด้านสาธารณสุขของเด็กลูกหลานแรงงานสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมาและเวียดนาม และเด็กสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่เดินทางโดยลำพังด้วยเหตุผลทางการศึกษา เห็นว่า รัฐยังไม่มีการกำหนดขอบเขตการให้สิทธิผ่านระบบการซื้อประกันสุขภาพของเอกชนหรือระบบร่วมจ่ายสำหรับนักเรียนนักศึกษาในราคาที่สามารถเข้าถึงได้ หากนักเรียนนักศึกษาประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอาจไม่สามารถเสียค่าบริการดังกล่าว ประกอบกับโรงพยาบาลต้องให้บริการด้านการรักษาพยาบาลแก่เด็กทุกคนทำให้ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่สามารถเบิกชดเชยค่าบริการทางการแพทย์จากแหล่งงบประมาณหรือกองทุนใด ซึ่งอาจเป็นภาระทางด้านงบประมาณและการบริการสาธารณสุขของประเทศ

    ด้วยเหตุผลดังกล่าว กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2568 จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการ สรุปได้ดังนี้

    (1) ให้กระทรวงศึกษาธิการ จัดให้มีระบบสารสนเทศกำหนดรหัสประจำตัวผู้เรียนในศูนย์การเรียนรู้เด็กต่างด้าว โดยสำรวจและจัดเก็บข้อมูลนักเรียนรายบุคคลในระบบจัดเก็บข้อมูลนักเรียนรายบุคคล (Data Management Center: DMC) ให้ครอบคลุมทั้งประเทศ รวมทั้งประสานส่งข้อมูลเด็กให้กรมการปกครองจัดทำทะเบียนประวัติคนต่างด้าวเช่นเดียวกับนักเรียนนักศึกษารหัส G และให้ปรับปรุงระเบียบ ประกาศ และแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาแก่บุคคลที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทยที่เป็นอุปสรรค หรือข้อจำกัด รวมทั้ง ให้กำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียนเพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมการรับนักเรียนนักศึกษาที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย และสนับสนุนงบประมาณ บุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่ตามแนวชายแดน หรือพื้นที่ที่มีเด็กต่างด้าวเป็นจำนวนมาก ให้สามารถเข้าถึงสิทธิทางการศึกษาในรูปแบบการศึกษาในระบบ หรือขยายห้องเรียนไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ในรูปแบบการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย

    (2) ให้กระทรวงมหาดไทยร่วมกับสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ประกาศผ่อนผันให้เด็กลูกหลานแรงงานสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม และเด็กสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่เดินทางโดยลำพังด้วยเหตุผลทางการศึกษาที่เข้าเมืองเพื่อวัตถุประสงค์ทางการศึกษาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ และได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ตลอดจนออกประกาศกำหนดเขตพื้นที่ควบคุมและการอนุญาตให้เด็กสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่เดินทางโดยลำพังด้วยเหตุผลทางการศึกษาออกนอกพื้นที่ควบคุม รวมทั้งให้จัดทำทะเบียนประวัติและออกบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยให้กับเด็กลูกหลานแรงงานสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม และเด็กสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่เดินทางโดยลำพังด้วยเหตุผลทางการศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร

    (3) ให้กระทรวงศึกษาธิการร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข จัดให้มีระบบประกันสุขภาพแก่นักเรียนนักศึกษาต่างด้าว ให้สามารถเข้าถึงสิทธิด้านบริการสาธารณสุขได้ โดยไม่เป็นภาระเกินควร และให้หารือสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กำหนดหลักเกณฑ์การขายประกันสุขภาพของบริษัทประกันภัยตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัยให้แก่นักเรียน นักศึกษาต่างด้าว โดยสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลที่ได้รับไม่น้อยกว่าสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลที่ได้รับจากการทำประกันสุขภาพกับกระทรวงสาธารณสุข ตามแนวทางการประกันสุขภาพของแรงงานต่างด้าว โดยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 ที่ให้คนต่างด้าวสามารถเลือกทำประกันสุขภาพกับกระทรวงสาธารณสุข หรือประกันสุขภาพกับบริษัทประกันภัยได้ เพื่อให้ผู้ปกครองนักเรียนนักศึกษาในสถานศึกษาหรือศูนย์การเรียนรู้เด็กต่างด้าวสามารถเลือกซื้อประกันสุขภาพดังกล่าวได้ตามความเหมาะสม

    ทิ้งคำตอบไว้

    กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
    กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

    spot_img

    Latest Posts