“…‘วัชระ’ กระโดดขวาง กสทช.อนุมัติควบรวมกิจการทรู-ดีแทค หวั่นผูกขาดตลาดลิดรอนสิทธิ์ ปชช.ย้ำหากเดินหน้าต่อ พร้อมฟ้องศาลอาญาทุจริตฯ…”
(27 เม.ย.65) เมื่อเวลา 14.20 น.ที่สำนักงาน กสทช.นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือถึง ศาสตราจารย์คลินิก นพ. สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. พล.อ.ท. ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กสทช. ด้านกิจการกระจายเสียง ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ นายต่อพงศ์ เสลานนท์ กสทช. ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย กสทช. ด้านเศรษฐศาสตร์
เรื่อง การปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของคณะกรรมการ กสทช. และคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า
จากกรณีที่มีข่าวตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 ว่ากลุ่มบริษัทในเครือซีพี (กลุ่มบริษัททรู) จะควบรวมกิจการกับกลุ่มบริษัทในเครือเทเลนอร์ (กลุ่มบริษัทดีแทค) ทำให้มีนักวิชาการ นักคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งประชาชนทั่วไปเกิดความกังวลถึงสิทธิของผู้บริโภคในการเลือกใช้บริการโทรคมนาคมพื้นฐานที่จะถูกลิดรอนไปอันเป็นผลจากการควบรวมกิจการดังกล่าว เนื่องจากตามข้อมูลของ กสทช.ในปัจจุบันมีผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จํานวน 141 ล้านเลขหมาย ผ่านผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 รายใหญ่ (ไอไอเอส ทรู และดีแทค) 132 ล้านเลขหมาย คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาดรวมกันสูงถึงร้อยละ 93 และทั้ง 3 รายล้วนเป็นผู้มีอิทธิพลเหนือตลาดทั้งสิ้น แต่เมื่อมีการควบรวมกิจการระหว่างกลุ่มทรูและกลุ่มดีแทคแล้วจะเป็นรายที่มีส่วนแบ่งการตลาดสูงถึงร้อยละ 57 ซึ่งถือว่าจะเป็นผู้มีอิทธิพลเหนือตลาดเป็นอย่างยิ่ง ที่สําคัญกว่านั้น การควบรวมนี้จะทําให้กลุ่มบริษัทใหม่หลังการควบรวมจะกลายเป็นผู้ถือครองคลื่นความถี่จํานวนมากที่สุดรายหนึ่งของประเทศไทยคือจํานวน 1,260 เมกะเฮิรตซ์ซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
“มาตรา 60 …คลื่นความถี่เป็นสมบัติของชาติเพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน … องค์กรดังกล่าว (กสทช.) ต้องจัดให้มีมาตรการป้องกันมิให้มีการแสวงหาประโยชน์จากผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรมหรือสร้างภาระแก่ผู้บริโภคเกินความจําเป็น …ป้องกันการกระทําที่มีผลเป็นการขัดขวางเสรีภาพในการรับรู้หรือปิดกั้นการรับรู้ข้อมูลหรือข่าวสารที่ถูกต้อง … และป้องกันมิให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่โดยไม่คํานึงถึงสิทธิของประชาชนทั่วไป…”
การควบรวมกิจการดังกล่าวอันเป็นการจํากัดลิดรอนสิทธิ์ของผู้บริโภค จึงถูกบัญญัติให้เป็นอํานาจหน้าที่ของ กสทช. ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553
“มาตรา 27 (11) กําหนดมาตรการป้องกันมิให้มีการกระทําอันเป็นการผู้ขาดหรือก่อให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขัน…”
“มาตรา 27(13) คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมิให้ถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบกิจการกิจการและคุ้มครองสิทธิในความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพของบุคคลในการสื่อสารถึงกันโดยทางโทรคมนาคมและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของประชาชนในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์คลื่นความถี่…”
และ “มาตรา 31 … ตรวจสอบการดําเนินการของผู้ประกอบกิจการฯ มิให้มีการดําเนินการใด ๆ ในประการที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค …” ซึ่ง กสทช. (กทช. ในขณะนั้น) ได้ดําเนินการตามบทบัญญัติข้างต้นโดยออก ประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการป้องกันมิให้มีการกระทําอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2559 โดยเฉพาะใน “ข้อ 8… การเข้าซื้อหุ้นเกินร้อยละ 10 ของจํานวนหุ้นทั้งหมดของผู้รับใบอนุญาตรายอื่นจํากระทํามิได้ เว้นแต่ กสทช.จะอนุญาต และหากการดําเนินการนั้นส่งผลให้เกิดการผูกขาดหรือลดหรือจํากัดการแข่งขันในการให้บริการ กสทช. อาจจะสั่งห้ามการถือครองกิจการ หรือกําหนดมาตรการเฉพาะ …”
นอกจากนั้น พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 มาตรา 21 บัญญัติให้ กสทช.ต้องกําหนดมาตรการป้องกันการผูกขาด ทําให้กลุ่มทรู และกลุ่มดีแทค ต้องรายงานรายละเอียดการควบรวมกิจการต่อเลขาธิการ กสทช. ก่อนการดําเนินการใด ๆ โดยต้องมีรายละเอียดเป็นไปตามประกาศ กสทช. ซึ่งเลขาธิการ กสทช. ต้องเสนอรายงานดังกล่าวให้กสทช. พิจารณาภายใน 60 วัน เพื่อให้กําหนดเงื่อนไขป้องกันความเสียหายในทันทีให้เป็นไปตามมาตรา 22 ของกฎหมายฉบับดังกล่าว โดยมีมาตรการป้องกันการผูกขาดหรือการแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรมให้เป็นไปตามประกาศข้างต้นในข้อ 12
อีกทั้ง กลุ่มทรูและกลุ่มดีแทค ยังประกอบธุรกิจอื่น ๆ นอกเหนือจากกิจการที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. จึงต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 “มาตรา 51 …แจ้งผลการควบรวมธุรกิจต่อคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าภายใน 7 วัน เว้นแต่การควบรวมจะทำให้ผูกขาดหรือมีอำนาจเหนือตลาด ต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการก่อนการดำเนินการ…” โดยมีรายละเอียดตามประกาศคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขออนุญาตและการอนุญาตการรวมธุรกิจ พ.ศ.2561 โดยเฉพาะในข้อ 10 แต่กลับปรากฏเป็นข่าวว่าหน่วยงานภายใต้คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าได้ปฏิเสธการดำเนินการ และอ้างว่าไม่ใช่อำนาจของตน แต่เป็นอำนาจของ กสทช. แต่เพียงผู้เดียว เพราะเป็นข้อยกเว้นในมาตรา 4 (4) ซึ่งไม่ใช่ข้อเท็จจริงของกฎหมายตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด เนื่องจากทั้งสองกลุ่มบริษัทล้วนประกอบธุรกิจอย่างหลากหลายนอกเหนือจากโทรคมนาคม
ดังนั้น จึงขอให้คณะกรรมการ กสทช.ดําเนินการตามอํานาจหน้าที่ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และกฎหมายทุกฉบับโดยเคร่งครัด ไม่ให้มีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งจะทำให้ประชาชนผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกลิดรอนสิทธิ์ในการเลือกใช้บริการโทรคมนาคมพื้นฐาน และอาจถูกครหาว่าเป็นผู้มีอํานาจหนุนหลังนายทุนเอกชนที่มีกําลังทรัพย์เอาเปรียบประชาชน อันอาจทําให้ประเทศไทยเสียโอกาสความสามารถในการแข่งขันด้านต่าง ๆกับต่างประเทศอีกด้วย
หาก กสทช. ชุดใหม่อนุมัติหรือเห็นชอบให้กลุ่มทรู และกลุ่มดีแทค สามารถควบรวมกิจการได้อันทําให้ประชาชนหรือผู้บริโภคเสียเปรียบด้วยเหตุผลข้างต้น จึงจำเป็นต้องฟ้องร้อง กสทช. ผู้อนุมัติต่อศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบต่อไป
ก่อนหน้านี้ นายวัชระ ได้ยื่นหนังสือคัดค้านการควบรวมกิจการทรู-ดีแทคต่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 ม.ค.65 และเมื่อวันที่ 5 ก.พ 65 ได้ยื่นถึง 4 องค์กรคือคณะกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม วุฒิสภา คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) คณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สภาผู้แทนราษฎร และคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า