ใครที่ติดตามการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อช่วงใกล้สิ้นปี 2567 เป็นประเด็นต่อเนื่องมาถึงต้นปีนี้ คงได้เห็นการถกเถียงเรื่องการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ซึ่งเป็นกฎหมายประมงที่ออกมาในสมัยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประเด็นสำคัญตามร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมฯ มาตรา 23 คือการแก้ไขมาตรา 69 ในพระราชกำหนดการทำประมงที่บัญญัติว่า “ ห้ามมิให้ผู้ใดใช้เครื่องมืออวนล้อม ที่มีช่องตาอวนเล็กกว่าสองจุดห้าเซนติเมตรทำการประมงในเวลากลางคืน” โดยให้ยกเลิก และให้ใช้ตามที่บัญญัติใหม่ในร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมฯ ว่า “ ห้ามมิให้ผู้ใดใช้เครื่องมืออวนล้อม ที่มีช่องตาอวนเล็กกว่าสองจุดห้าเซนติเมตรทำการประมงในเขตสิบสองไมล์ทะเลนับจากแนวทะเลชายฝั่งในเวลากลางคืน
การทำการประมงนอกเขตสิบสองไมล์ทะเลตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข พื้นที่ ตามที่รัฐมนตรีมีประกาศกำหนด ทั้งนี้ ประกาศดังกล่าวต้องกำหนดในเรื่องการใช้แสงไฟล่อไว้ด้วย”
หมายความว่า มาตรา 69 ที่แก้ไขเพิ่มเติม อวนที่มีตาเล็กกว่า 2.5 ซม.ที่เรียกกันว่าอวนตาถี่หรืออวนตามุ้ง สามารถใช้ทำประมงในเวลาอื่นได้ และสามารถทำได้นอกเขต 12 ไมล์ทะเลนับจากชายฝั่ง
ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติเห็นชอบ 239 เสียง จากจำนวนผู้ลงมติ 383 คน ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้ผ่านเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาของวุฒิสภา ซึ่งในการประชุมวุฒิสภา เมื่อวันที่ 13 มกราคม ที่ผ่านมา เป็นการพิจารณาวาระ 1 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบรับหลักการร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ด้วยเสียง 165 เสียง และมีการตั้งกรรมการวิสามัญเพื่อศึกษา 21 คน ก่อนพิจารณาต่อไป
การพิจารณาแก้ไขพระราชกำหนดประมง พ.ศ.2558 โดยเฉพาะมาตรา 69 มีผู้คัดค้านไม่เห็นด้วยจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะชาวประมงพื้นบ้านติดชายฝั่งทะเล 22 จังหวัด ภาคประชาสังคม มีการเคลื่อนไหวจัดกิจกรรมคัดค้านร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้หลายประเด็น ประเด็นหลักคือไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 69 โดยให้เหตุผลสรุปได้ว่า การทำการประมงด้วยอวนล้อมจับที่มีช่องตาอวนเล็กกว่า 2.5 เซนติเมตรในเวลากลางคืนทุกพื้นที่ในทะเล (รวมถึงพื้นที่นอกแนวทะเลชายฝั่ง 12 ไมล์ทะเล )ในทางปฏิบัติของการทำประมงในเวลากลางคืน ต้องใช้วิธีจับปลาประกอบกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าปั่นไฟล่อสัตว์น้ำ การทำประมงด้วยช่องตาอวนถี่ซึ่งโดยทั่วไปใช้จับปลาขนาดเล็กมากคือปลากะตัก จะติดลูกปลาซึ่งเป็นสัตว์น้ำวัยอ่อนเข้ามาด้วย จึงเป็นการประมงที่ทำลายพันธุ์สัตว์น้ำ เพราะสัตว์น้ำวัยอ่อนถูกทำลายก่อนวจะเติบโตเต็มที่เป็นการทำลายห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศ
เหตุผลของกลุ่มผู้คัดค้านการแก้ไขกฎหมายประมงฉบับเดิมคือพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 เครือข่ายประมงพื้นบ้าน สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ภาคประชาสังคมด้านสิ่งแวดล้อม ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อวุฒิสภาไปแล้ว โดยเรียกร้องให้พิจารณาหลายข้อ ข้อสำคัญคือเรียกร้องให้ยกเลิกการแก้ไขพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 มาตรา 69 ให้กลับไปใช้บทบัญญัติที่ตราไว้เดิม ความว่า “ห้ามใช้เครื่องมืออวนล้อมจับที่มีช่องตาอวนเล็กกว่า 2.5 เซนติเมตร ทำการประมงในเวลากลางคืน”
ในอีกแง่มุมหนึ่ง พระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ที่บังคับใช้มาจนถึงปัจจุบัน เป็นกฎหมายที่ออกมาในสมัย คสช. ซึ่งรัฐบาลจากคณะรัฐประหารในเวลานั้นให้เหตุผลว่าต้องการจะแก้ไขปัญหาการประมงโดยมิชอบด้วยกฎหมาย (IUU Fishing) พรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งเห็นว่าเป็นการออกกฎหมายฉบับนี้อย่างเร่งรีบและขาดการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จึงมีการเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการแก้กฎหมายประมง ซึ่งมีการถกเถียงกันทั้งในสภาและนอกสภา ประเด็นที่พูดถึงกันมากก็คือมาตราที่ 69 ตามพระราชกำหนดการประมง ซึ่งฝ่ายคัดค้านเห็นว่า ถ้าแก้ไขมาตรานี้ก็จะทำให้ท้องทะเลไทยจะมีสภาพถึงขั้นหายนะ เพราะจะทำให้สัตว์น้ำวัยอ่อนถูกทำลาย ไม่อยู่รอดเติบโตเป็นทรัพยากรทางทะเลต่อไปได้
ต้องติดตามกันต่อว่าวุฒิสภาจะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ในวาระต่อไปและมีมติออกมาอย่างไร ซึ่งจะรู้ผลในอีกไม่นานนี้
สุรชา บุญเปี่ยม / รายงาน