ช่วงต้นปี 2562 หรือเมื่อ 6 ปีก่อน ซึ่งอยู่ในช่วงฤดูหนาวต่อฤดูร้อน เกิดปรากฏการณ์ฝุ่นปกคลุมกรุงเทพมหานคร บางส่วนของภาคภาคกลาง ภาคอีสาน ในภาคเหนือโดยเฉพาะภาคเหนือตอนบนฝุ่นปกคลุมแทบทุกพื้นที่ทุกจังหวัด คนไทยได้รับรู้ว่าฝุ่นที่เกิดขึ้นคือฝุ่น PM2.5 เป็นฝุ่นละอองขนาดจิ๋วที่มีขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน เป็นส่วนหนึ่งที่มีส่วนชี้วัดคุณภาพอากาศ ซึ่งต่อมาคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้ประกาศเตือนเมื่อปี 2566 ว่า ฝุ่นละอองที่มีขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ต้องไม่เกิน 37.5 ไมครอนกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) จึงจะปลอดภัยต่อสุขภาพคนทั่วไป
ฝุ่น PM2.5 เกิดขึ้นทุกปี สถานการณ์ปีนี้มีรายงานอย่างเป็นทางการผ่านสื่อแทบทุกแขนงว่า สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 อยู่ในขั้นรุนแรง โดยตามข้อมูลของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) รายงานสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 เมื่อวันพุธ 22 มกราคม ที่ผ่านมา เวลา 07.00 น.ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล มีฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐานทุกเขต โดย 3 อันดับแรก อันดับ 1 คือเขตหนองแขม 104.3 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก/ลบ.ม.)ตามมาด้วยเขตบางบอน 97.1 มคก./ลบ.ม. และเขตทวีวัฒนา 95.6 มคก./ลบ.ม.
สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ล่าสุดขณะรายงาน วันที่ 24 ม.ค. 2568 ศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ รายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ ประจำวันที่ 24 มกราคม 2568 เวลา 7.00 น. สรุปภาพรวมปริมาณ PM2.5 ในประเทศพบเกินค่ามาตรฐานใน 60 จังหวัดในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคอีสาน โดยภาคเหนือ เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 16.0 – 82.2 ไมโครกรัม /ลูกบาศก์เมตร (มคก/ลบ.ม.)
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 34.9 – 85.6 มคก./ลบ.ม.
ภาคกลางและตะวันตก เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 34.8 – 113.5 มคก./ลบ.ม.
ภาคตะวันออก เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 55.8 – 105.0 มคก./ลบ.ม.
ภาคใต้ เกินค่ามาตรฐาน 1 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 19.0 – 41.5 มคก./ลบ.ม. กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยสถานีตรวจวัดของกรมควบคุมมลพิษ ร่วมกับกรุงเทพมหานคร เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 61.2 – 112.4 มคก./ลบ.ม.
ที่ผ่านมา สถาบันวิจัยทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศวิเคราะห์ วิจัยสาเหตุของการเกิด PM 2.5 พบว่าส่วนใหญ่เกิดจากการเผาไหม้ ทั้งจากเครื่องยนต์ของยานพาหนะ และการเผาวัสดุต่างๆ รวมถึงวัสดุทางการเกษตร โดยข้อมูลจากกรมมลพิษ และกระทรวงพลังงาน พบว่า สาเหตุของ PM2.5 ในประเทศไทยมาจากการเผาในที่โล่ง เป็นแหล่งกำเนิดของ PM 2.5 มากที่สุด ตามด้วยอุตสาหกรรมการผลิต และการขนส่ง สำหรับฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพมหานคร สาเหตุหลักมาจากยานพาหนะรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และการเผาทำให้เกิดโดยเฉพาะการเผาวัสดุทางการเกษตร เป็นฝุ่นที่ลอยมาจากรอบนอกกรุงเทพมหานครเมื่อประกอบกับสภาพอากาศปิดทำให้มีฝุ่นปกคลุมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ปีนี้ คุณภาพอากาศอยู่ในขั้นย่ำแย่ ทำให้โรงเรียนในกรุงเทพมหานคร 103 โรงเรียน ต้องปิดเรียนชั่วคราวหลายวัน เพื่อไม่ให้นักเรียนได้รับฝุ่นจนมีปัญหาด้านสุขภาพ
ในทางการแพทย์ ฝุ่น PM2.5 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน มีรายงานว่าปีที่ป่านๆมา มีผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพราะได้รับฝุ่น PM 2.5 จำนวนมาก โดยจากเว็บไซต์โรงพยาบาลศิครินทร์ เผยแพร่ข้อมูลทางการแพทย์ไว้อย่างน่าสนใจ จึงขออ้างอิงในบทความนี้ด้วยเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อประชาชน
“ ฝุ่นสามารถเข้าสู่ทางโพรงจมูก แล้วเข้าสู่กระแสเลือด นอกจากนี้แล้ว ฝุ่นยังเป็นพาหะนำสารอื่นเข้ามาด้วย เช่น แคดเมียม ปรอท โลหะหนักไฮโดรคาร์บอน และสารก่อมะเร็งจำนวนมาก ด้วยขนาดที่เล็กของ PM 2.5 ทำให้ฝุ่นละอองชนิดนี้สามารถแพร่กระจายเข้าสู่ทางเดินหายใจ กระแสเลือด และแทรกซึมสู่กระบวนการทำงานในอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น มะเร็งปอด ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หัวใจขาดเลือด หลอดเลือดในสมอง ติดเชื้อเฉียบพลันในระบบหายใจส่วนล่าง โรคผิวหนัง ภูมิแพ้ ไซนัส
ที่น่ากลัวกว่านั้น มีข้อมูลจากสมาคมโรคหัวใจของอเมริกาว่า หากคนที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว เช่น ความดัน ไขมัน เบาหวาน โรคหัวใจ เส้นเลือดในสมอง สัมผัสกับฝุ่นควัน PM 2.5 เพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมง จะกระตุ้นให้เกิดอาการหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หัวใจวาย เส้นเลือดในสมองตีบ หัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจถึงเสียชีวิต ได้เลย “
ฝุ่น PM2.5 จึงเป็นภัยคุกคามสุขภาพประชาชนคนไทย ซึ่งนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะรองประธานกรรมการกองทุน สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ) ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ที่ค่าเกินมาตรฐาน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในหลายพื้นที่ พบว่ามีประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานกว่า 38 ล้านคนในจำนวนนี้ 15 ล้านคน เป็นกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย และ 6 ล้านคน เป็นเด็กและเยาวชน มีจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศสูงถึง 12 ล้านคน ซึ่งจะมีการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนผ่านการออกกฎหมายผ่านสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
ฝุ่น PM2.5 เป็นภัยเงียบที่ส่งผลต่อสุขภาพประชาชนในระยะยาว กรมการแพทย์ได้เผยแพร่วิธีการให้ประชาชนดูแลตนเองให้ปลอดภัยจากฝุ่น PM2.5 ด้วยการสวมหน้ากาก N95 หรือหน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธี คือ คลุมจมูกลงมาถึงใต้คาง และต้องแนบสนิทกับใบหน้า เพื่อป้องกันฝุ่น เลี่ยงกิจกรรมนอกบ้าน ในบริเวณที่มีค่ามลพิษอากาศสูง หมั่นทำความสะอาดบ้าน เพื่อลดการสะสมของฝุ่นภายในบ้าน เลี่ยงกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 เช่น การเผาขยะ การเผาหญ้า การจอดรถติดเครื่องยนต์ไว้เป็นระยะเวลานาน และตรวจเช็คสภาพรถยนต์ให้อยู่ในสภาวะปกติ ไม่ก่อควันดำ หากพบว่าตนเองมีอาการผิดปกติของร่างกาย เช่น ไอ เหนื่อย แน่นหน้าอก ควรปรึกษาแพทย์ทันที และที่สำคัญ ควรติดตามข้อมูลข่าวสารด้านมลพิษทางอากาศเป็นประจำ เพื่อป้องกันฝุ่นละอองและความปลอดภัยต่อสุขภาพ
ฝุ่น PM2.5 เป็นอันตรายต่อสุขภาพประชาชน หน่วยงานของรัฐหลายภาคส่วนมีหน้าที่แก้ปัญหา ขณะเดียวกัน ประชาชนก็ต้องป้องกันตนเองอย่างถูกวิธีด้วย เพราะสุขภาพของประชาชนแต่ละคนเป็นเรื่องสำคัญ การได้รับฝุ่น PM2.5 สะสมในร่างกายอาจไม่เห็นอาการเจ็บป่วยในวันนี้แต่จะส่งผลให้เกิดโรคที่เกี่ยวเนื่องในระยะยาวก็ได้