มาตรการ “รถไฟฟ้า-รถเมล์” ฟรี 7 วัน สู้ฝุ่นพิษ PM2.5 ผ่านพ้นไปแล้ว ปรากฏว่ารถไฟฟ้าบางสายแทบทะลัก ผู้โดยสารแน่นจริงๆ อยากให้รัฐเร่งประเมินผล ถ้า “คุ้ม” กับเงินชดเชยที่รัฐต้องจ่ายแทนผู้ใช้บริการ ก็ให้พี่น้องประชาชนใช้บริการฟรีต่อไปเลย แต่อย่านำ “เงินภาษีของคนทั้งประเทศ” มาชดเชย!
ผมได้เปรียบเทียบปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าในช่วงให้บริการฟรี 7 วัน ระหว่างวันที่ 25-31 มกราคม 2568 กับช่วงก่อนให้บริการฟรี 7 วัน ระหว่างวันที่ 18-24 มกราคม 2568 พบว่ามีผู้โดยสารรถไฟฟ้าทุกสาย ทุกสีจากทั้งหมด 8 สาย 8 สี เพิ่มขึ้นรวมประมาณ 2.4 ล้านคน คิดเป็น 38%
ในส่วนของเงินชดเชยให้เอกชนผู้ประกอบการรถไฟฟ้า ทุกสาย ทุกสี รวมทั้งผู้ประกอบรถเมล์ (ขสมก.)นั้น ครั้งแรกบอกว่าจะใช้เงินประมาณ 140 ล้านบาท ต่อมาเพิ่มเป็น 329 บาท ล่าสุดลดลงเหลือ 190 ล้านบาท ในความเห็นของผม เงินชดเชยไม่ได้ลดลงเหลือ 190 ล้านบาท ยังคงเป็น 329 ล้านบาทเท่าเดิม แต่รัฐจะใช้เงินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งเป็นเงินสะสมจากส่วนแบ่งรายได้ค่าโดยสาร มาช่วยชดเชยจำนวน 139 ล้านบาท เป็นผลให้ต้องใช้ภาษีของคนทั้งประเทศมาชดเชยจำนวน 190 ล้านบาท
ผู้รับผิดชอบเคยให้สัมภาษณ์ว่าเมื่อใช้มาตรการนี้ครบ 7 วันแล้วจะประเมินผล ส่วนจะต่อมาตรการนี้อีกหรือไม่ ขอให้รอผลการประเมินก่อน ผมอยากให้รัฐเร่งประเมินผลการใช้มาตรการนี้ว่า สามารถทำให้การใช้รถยนต์ส่วนบุคคลในหลากหลายพื้นที่ลดลงเท่าใด? มีผลช่วยให้ลด PM2.5 ในแต่ละพื้นที่ลดลงได้เท่าใด? คิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์
อนึ่ง ในช่วง 7 วัน ที่ใช้มาตรการนี้ ผมได้เดินทางผ่านหลายพื้นที่ที่มีรถไฟฟ้า พบว่าบนถนนหลายสาย รถก็ยังคงติดอย่างหนัก!
แต่อย่างไรก็ตาม ถ้ารัฐประเมินแล้วเห็นว่าการให้พี่น้องประชาชนใช้รถไฟฟ้าและรถเมล์ฟรีมีผลให้การใช้รถยนต์ส่วนบุคคลลดลงอย่างมีนัยสำคัญ คุ้มกับเงินชดเชย ก็ควรพิจารณาใช้มาตรการนี้ต่อไป แต่ผมมีเงื่อนไข 2 ข้อ ดังนี้
(1) ไม่นำเงิน “ภาษีของคนทั้งประเทศ” มาชดเชยให้ผู้ประกอบการรถไฟฟ้าและผู้ประกอบการรถเมล์ ขสมก.
(2) ใช้หลักเกณฑ์เดิมในการคำนวณค่าชดเชยตามที่รัฐได้ใช้คำนวณในช่วงการให้บริการฟรีระหว่างวันที่ 25-31 มกราคม 2568 นั่นคือไม่ชดเชยค่าโดยสารในส่วน “ผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น” ซึ่งมีผลมาจากการให้บริการฟรี โดยชดเชยให้เฉพาะจำนวนผู้โดยสารที่เคยใช้บริการเดิมเท่านั้น