ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุชาติ เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับฟังความคิดเห็นเครือข่ายองค์กรทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีข้อห่วงกังวลว่าโครงการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชน ประกอบกับ กสม. ได้ศึกษานโยบายของรัฐบาลในโครงการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าแบบครบวงจรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ซึ่งมีศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ และเห็นว่านโยบายดังกล่าวอาจมีประเด็นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมที่ดี รวมทั้งการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการตัดสินใจด้านสิ่งแวดล้อม กสม. เมื่อเดือนสิงหาคม 2565 จึงมีมติให้หยิบยกกรณีข้างต้นขึ้นตรวจสอบ
กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 43 ได้รับรองสิทธิของบุคคลและชุมชนในการมีส่วนร่วมในการจัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งในการเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐให้ดำเนินการใดอันจะเป็นประโยชน์หรืองดเว้นการดำเนินการใดอันจะกระทบต่อความเป็นอยู่อย่างสงบสุขของประชาชนหรือชุมชน และหลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNGPs) ได้กำหนดหน้าที่ของภาครัฐและความรับผิดชอบของภาคธุรกิจในการดำเนินกิจการ ภายใต้หลักการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เคารพสิทธิมนุษยชน และเยียวยาผลกระทบ โดยเห็นว่ากรณีดังกล่าว มีประเด็นต้องพิจารณา 2 ประเด็น ดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง การมีส่วนร่วมของประชาชนต่อการพัฒนาพลังงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล เห็นว่า โครงการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าแบบครบวงจรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงาน เชื่อมโยงกับการพัฒนาเศรษฐกิจทั้งระบบตั้งแต่การส่งเสริมการปลูกพืชพลังงาน การแปรรูปผลิตภัณฑ์ และส่งเสริมให้ประชาชน วิสาหกิจชุมชน รวมกลุ่มร่วมลงทุนในกิจการพลังงานของรัฐ ข้อมูล ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2567 ปรากฏว่า โครงการฯ ยังอยู่ระหว่างการเตรียมการ มีเพียงกิจกรรมส่งเสริมการปลูกพืชพลังงานที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 มีเกษตรกรปลูกพืชพลังงานนำร่อง 10,000 ไร่ แต่ยังไม่ได้ประชาสัมพันธ์รายละเอียดโครงการทั้งหมดให้ประชาชนทราบ จึงยังไม่เข้าสู่กระบวนการขั้นตอนการมีส่วนร่วมของประชาชน อย่างไรก็ดี พบว่า โครงการมีวัตถุประสงค์และแนวทางดำเนินการสอดคล้องกับแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน พ.ศ. 2566 – 2570 ซึ่งมุ่งเน้นการผลิตพลังงานจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน ที่มีอยู่ในแต่ละท้องถิ่น เช่น แสงอาทิตย์ ลม แหล่งน้ำ และชีวมวลจากภาคเกษตรกรรมและพืชอื่น ๆ และสอดคล้องตามรายงานโครงการประเมินการพัฒนาที่ยั่งยืนเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment: SEA) กรณียุทธศาสตร์พลังงานภาคใต้ รวมทั้งแนวทางการพัฒนาไฟฟ้าของประเทศ
ส่วนกรณีโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็กมาก ในพื้นที่ตำบลปะแต อำเภอยะหา จังหวัดยะลา จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เป็นการดำเนินการภายใต้โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก 2 โครงการ กำลังการผลิต 3 เมกะวัตต์ และ 6 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างขั้นตอนการรับฟังความเห็นจากประชาชน โดยยังไม่สามารถจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 ให้แล้วเสร็จได้ เนื่องจากประชาชนที่เข้าร่วมส่วนใหญ่แสดงออกอย่างชัดเจนถึงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น และยังไม่ดำเนินการให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอีกครั้ง ในประเด็นการมีส่วนร่วมของประชาชนนี้ จึงยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็นว่า มีการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ประเด็นที่สอง ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมขน จากการตรวจสอบปรากฏว่า ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวลในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีทั้งหมด 16 ราย โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ที่มีโรงไฟฟ้าชีวมวลตั้งอยู่ ไม่ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมหรือปัญหามลพิษจากโรงไฟฟ้าต่อประชาชนอย่างชัดเจน แต่แจ้งว่า โรงไฟฟ้าได้ปฏิบัติตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) รวมทั้งได้ให้ความช่วยเหลือชุมชนในด้านต่าง ๆ อย่างไรก็ดี พบว่าโรงไฟฟ้าบางแห่งก่อปัญหามลพิษ เช่น ฝุ่นละออง ขี้เถ้า และเสียงรบกวนจากการประกอบกิจการบ้าง แต่ยังไม่ถึงขั้นรบกวนความเป็นอยู่ตามปกติแต่อย่างใด
อย่างไรก็ดี กสม. เห็นว่า การประกอบกิจการโรงไฟฟ้าไม่ว่าจะเป็นขนาดเล็กหรือเล็กมาก หากไม่มีกระบวนการจัดการที่ดีจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทุกขั้นตอน การกำหนดให้ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้ากำลังการผลิตไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ ได้รับยกเว้นไม่ต้องจัดทำรายงาน EIA จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ต้องกำกับและติดตามให้เจ้าของโครงการดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่กำหนดไว้ตามประมวลหลักการปฏิบัติ (Code of Practice: CoP) ของ กกพ. อย่างเคร่งครัดด้วย ทั้งนี้เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่โดยรอบโรงไฟฟ้า
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้
(1) ให้ กกพ. เร่งรัดไปยังบริษัทเอกชนผู้ประกอบกิจการโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็กมาก ในพื้นที่ตำบลปะแต อำเภอยะหา จังหวัดยะลา ให้ชี้แจงประชาสัมพันธ์ข้อมูลโครงการให้ประชาชนทราบ และจัดให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริงอีกครั้ง โดยให้ส่งหนังสือประชาสัมพันธ์การจัดเวทีรับฟังความเห็นไปยังประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่รอบโครงการรัศมี 3 กิโลเมตร และให้กำกับและติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาตามรายงาน CoP รวมทั้งกำกับดูแลอย่างเคร่งครัดให้ผู้พัฒนาโครงการจัดทำรายงานการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence: HRDD) ทุกโครงการที่จะขออนุมัติ เพื่อส่งเสริมให้ภาคธุรกิจประกอบกิจการโดยเคารพสิทธิมนุษยชนตามหลักการ UNGPs
(2) ให้ ศอ.บต. ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ชุมชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม ร่วมกันดำเนินโครงการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าแบบครบวงจรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยให้มีการประเมินศักยภาพพื้นที่ ทั้งนี้ ให้นำรายงาน SEA กรณียุทธศาสตร์พลังงานภาคใต้ มาประกอบการพิจารณาดังกล่าว
(3) ให้ อปท. และชุมชนร่วมเฝ้าระวัง รวมทั้งให้กำกับเกี่ยวกับการใช้เงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์การใช้เงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 อย่างเคร่งครัด โดยกำหนดให้การใช้เงินกองทุนต้องเป็นไปเพื่อการป้องกัน เฝ้าระวัง และแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้ามากกว่าร้อยละ 50 ตลอดจนมีกลไกการติดตามให้การใช้เงินกองทุนเป็นไปตามข้อกำหนดข้างต้น
(4) ให้ อปท. ในพื้นที่ที่มีการประกอบกิจการโรงไฟฟ้ากำหนดโครงการเกี่ยวกับการป้องกัน เฝ้าระวัง และแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และสุขภาพอนามัยของประชาชน ไว้ในแผนพัฒนาตำบล เพื่อให้การใช้เงินทุนพัฒนาไฟฟ้าของท้องถิ่นสอดคล้องกับวัตถุประสงค์การใช้เงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550
(5) ให้บริษัทผู้ประกอบกิจการโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็กในพื้นที่ตำบลคู อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา จัดทำรายงานการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (HRDD) และทบทวนปรับปรุงรายงานดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ตามหลักการ UNGPs เพื่อป้องกันการเกิดผลกระทบต่อชุมชน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และแรงงาน ซึ่งเป็นการประกอบธุรกิจโดยเคารพสิทธิมนุษยชน