วันศุกร์, กุมภาพันธ์ 7, 2025
หน้าแรกข่าวประชาสัมพันธ์กสม. ชี้กรณี สน.ชนะสงคราม จัดเก็บและเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลเยาวชนนักกิจกรรมเป็นการแทรกแซงสิทธิเกินสมควรแก่เหตุ แนะ ตร. ยกเลิกการจัดทำบัญชีบุคคลเฝ้าระวังด้วยเหตุแสดงออกทางการเมือง

Related Posts

กสม. ชี้กรณี สน.ชนะสงคราม จัดเก็บและเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลเยาวชนนักกิจกรรมเป็นการแทรกแซงสิทธิเกินสมควรแก่เหตุ แนะ ตร. ยกเลิกการจัดทำบัญชีบุคคลเฝ้าระวังด้วยเหตุแสดงออกทางการเมือง

กสม. ชี้กรณี สน.ชนะสงคราม จัดเก็บและเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลเยาวชนนักกิจกรรมเป็นการละเมิดสิทธิ แนะ ตร. ยกเลิกการจัดทำบัญชีบุคคลเฝ้าระวังด้วยเหตุแสดงออกทางการเมือง

  • ตรวจสอบโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้แนะ กกพ. กำกับดูแลกิจการขนาดเล็กให้ดำเนินการโดยประชาชนมีส่วนร่วม

วันศุกร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และผู้ช่วยศาสตราจารย์สุชาติ เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 5/2568 โดยมีวาระสำคัญ ดังนี้

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากเยาวชนนักกิจกรรมรายหนึ่งเมื่อเดือนสิงหาคม 2567 ระบุว่า ตนเองและครอบครัวมีชื่ออยู่ในกลุ่มบุคคลเฝ้าระวัง ระดับแดง (บุคคลเฝ้าระวังพิเศษ)โดยปรากฏในเอกสารของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม (สน.ชนะสงคราม) ผู้ถูกร้อง ที่นำเสนอข้อมูลต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ซึ่งในขณะที่ผู้ถูกร้องจัดทำบัญชีเฝ้าระวังนั้น ผู้ร้องมีอายุเพียง 16 ปี ข้อมูลที่ถูกบันทึกประกอบด้วยข้อมูลการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การเดินทางออกจากที่พัก การใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกประเด็นการศึกษา สิทธิเด็ก สิทธิในการประกันตัว สิทธิสตรี สิทธิในการเข้าถึงสวัสดิการแห่งรัฐ นอกจากนี้ ยังปรากฏข้อมูลส่วนบุคคลของบิดา มารดา และญาติของผู้ร้อง เกี่ยวกับข้อมูลประกันสังคม ประวัติการทำงาน ยานพาหนะ ทัศนคติทางการเมือง ซึ่งเป็นการกระทำที่ผู้ร้องเห็นว่ากระทบต่อสิทธิมนุษยชน จึงขอให้ตรวจสอบ

กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 32 ให้การรับรองสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัว และมาตรา 34 ได้ให้การรับรอง เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น ซึ่งการกระทำอันเป็นการละเมิดหรือกระทบต่อสิทธิหรือเสรีภาพดังกล่าวไม่ว่าในทางใด ๆ จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพียงเท่าที่จําเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน ประกอบกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม ให้การรับรองสิทธิและเสรีภาพดังเช่นว่านี้ที่จะไม่ถูกแทรกแซงความเป็นส่วนตัว นอกจากนี้ ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีเช่นกัน กำหนดให้รัฐภาคีต้องประกันเสรีภาพแก่เด็กที่จะสามารถแสดงความคิดเห็นของตนเองโดยเสรีในทุก ๆ เรื่องที่มีผลกระทบต่อเด็ก และต้องประกันว่าจะไม่มีเด็กคนใดถูกลิดรอนเสรีภาพโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งให้คำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ ซึ่งหลักการดังกล่าวปรากฏอยู่ในพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ด้วย

จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า การขึ้นบัญชีผู้ร้องและครอบครัวเป็นบุคคลเฝ้าระวัง ปรากฏตามเอกสารที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ชนะสงคราม ได้เสนอต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ เพื่อใช้ประกอบคำให้การพิจารณาคดีระหว่างผู้ร้องซึ่งเป็นฝ่ายโจทก์ และจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจนายหนึ่งในสังกัด สน. ชนะสงคราม เรื่อง ความผิดต่อเสรีภาพ ลหุโทษ อันเป็นข้อมูลที่จัดทำโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ กองกำกับการสืบสวน 4 กองบังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล ประกอบด้วยข้อมูลการใช้ชีวิตประจำวัน ข้อมูลประกันสังคม ประวัติการทำงาน ยานพาหนะ และทัศนคติทางการเมือง นอกจากนี้ ยังมีการจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของนักกิจกรรมทางการเมืองในลักษณะเดียวกันอีก 19 คน โดยอาศัยอำนาจ ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 มาตรา 6 ข้อมูลนี้จัดทำขึ้นตั้งแต่ปี 2563 เนื่องจากเยาวชนผู้ร้องเคยเข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมทางการเมือง ทำให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ต้องติดตามตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมาย รวมถึงให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ดูแลการชุมนุมสาธารณะทราบถึงข้อมูลเบื้องต้นของผู้ชุมนุมเพื่อป้องกันการกระทำผิดกฎหมาย โดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล ตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540

กสม. เห็นว่าการที่กองกำกับการสืบสวน 4 กองบังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล จัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ร้องและครอบครัว อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 มาตรา 6 (3) ซึ่งเป็นเพียงอำนาจทั่วไปของหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมาย ขณะที่รัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ให้การรับรองสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัว รวมทั้งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น หน่วยงานของรัฐจะกระทำอันเป็นการละเมิดหรือกระทบต่อสิทธิหรือเสรีภาพดังกล่าวไม่ว่าในทางใด ๆ มิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพียงเท่าที่จําเป็น เพื่อประโยชน์สาธารณะ เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น หรือ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และจะต้องมีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะและกำหนดหลักการไว้อย่างชัดแจ้ง ดังเช่น พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 แต่พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 และพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ไม่ได้บัญญัติให้ ตร. มีอำนาจในการจัดทำบัญชีเฝ้าระวังบุคคลแต่อย่างใด ดังนั้น การดำเนินการของเจ้าหน้าที่ตำรวจในกรณีดังกล่าวนี้จึงไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะในลักษณะรับรองการกระทำ เช่น “จัดทำบัญชี” “การติดตามบุคคลตามบัญชี” รวมทั้งไม่ปรากฏหลักเกณฑ์และมาตรฐานในการกำกับการปฏิบัติงานที่รัดกุมเพียงพอไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการกำหนดลักษณะของบุคคลที่ต้องเฝ้าระวัง หรือวิธีปฏิบัติในการติดตามความเคลื่อนไหวของบุคคล

นอกจากนี้ การที่กองบัญชาการตำรวจนครบาลกล่าวอ้างว่า การจัดเก็บข้อมูลบุคคลเฝ้าระวังอาศัยอำนาจตามมาตรา 24 (1) (6) แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 นั้น เห็นว่า บทบัญญัติของกฎหมายกำหนดให้หน่วยงานของรัฐ “เปิดเผย” ข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลต่อหน่วยงานของรัฐแห่งอื่นหรือผู้อื่นโดยปราศจากความยินยอมได้ในกรณีที่เป็นการเปิดเผยต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานของตนตามหน้าที่และอำนาจ หรือเป็นการเปิดเผยเพื่อป้องกันการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย การสืบสวน การสอบสวน และการฟ้องคดีเท่านั้น แต่การจัดทำบัญชีบุคคลเฝ้าระวังของกองบัญชาการตำรวจนครบาลดังกล่าว มีลักษณะเป็น “การเก็บรวบรวม (Collection) ใช้ (Use)” ไม่ใช่ “การเปิดเผย” ดังนั้น จึงไม่สามารถอ้างข้อยกเว้นตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารราชการ พ.ศ. 2540 ได้

และการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ชนะสงคราม ผู้ถูกร้อง นำเอกสารการขึ้นบัญชีบุคคลเฝ้าระวังของผู้ร้องและครอบครัว ซึ่งจัดทำโดยกองกำกับการสืบสวน 4 กองบังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาลไปใช้ต่อหน่วยงานภายนอก ยังเป็นการ “เปิดเผยข้อมูล” โดยที่ผู้ร้องและครอบครัวไม่ได้ให้ความยินยอม และเป็นการนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในการติดตามผู้ร้องและครอบครัว รวมถึงนำข้อมูลมาใช้เป็นพยานหลักฐานต่อศาล การกระทำดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐมุ่งเน้น
การป้องกันการกระทำผิด โดยแทรกแซงสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเกินสมควรแก่เหตุ ทั้งที่หน่วยงานของรัฐมีหน้าที่ให้หลักประกันสิทธิและเสรีภาพ รวมทั้งรักษาความสงบเรียบร้อย เพื่อรักษาความสมดุลระหว่างความมั่นคงของรัฐกับการใช้สิทธิและเสรีภาพของประชาชน กรณีตามคำร้องนี้จึงมีการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ทั้งนี้ กสม. เห็นว่า การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และ ตร. ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญา แม้มีความสำคัญต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของประชาชน แต่การใช้หน้าที่และอำนาจดังกล่าวโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชน จะต้องเป็นไปตามกรอบของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และอยู่ภายใต้หลักการตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 และพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 อีกทั้งจะต้องเป็นไปตามหลักความได้สัดส่วน โดยต้องคำนึงถึงการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนควบคู่ไปด้วย

ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 มีมติให้มีข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ชนะสงคราม ผู้ถูกร้อง และกองกำกับการสืบสวน 4 กองบังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล ซึ่งกระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชน พร้อมสั่งการเน้นย้ำและกำชับหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ในสังกัดว่า ในการกำหนดมาตรการหรือวิธีการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมหรือการรักษาความปลอดภัย จะต้องคำนึงถึงการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนควบคู่ไปด้วย อีกทั้งการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่เป็นการจำกัดหรือแทรกแซงสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลจะต้องมีฐานของกฎหมายให้อำนาจไว้เป็นการเฉพาะและเป็นไปตามหลักความได้สัดส่วน ทั้งนี้ให้ยกเลิกการจัดทำบัญชีบุคคลหรือปฏิบัติการในลักษณะเฝ้าระวังและติดตามความเคลื่อนไหวของบุคคล เพียงเพราะบุคคลดังกล่าวนั้นแสดงความคิดเห็นหรือแสดงออกทางการเมืองด้วย

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts