เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 27 ก.พ.68 ที่ หน้ากระทรวงคมนาคม ถนนราชดำเนิน นายกฤษฎา อินทามระ ฉายา“ทนายปราบโกง” เดินมาที่กระทรวงคมนาคม เพื่อยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดยมีนางพิมพา สุทินศักดิ์ ตัวแทนรัฐมนตรีคมนาคมมารับเอกสารหลักฐานดังกล่าว โดยทางการท่าเรือแห่งประเทศไทย ส่งนายเดชา นุชพุ่ม ผู้ช่วย ผอ.การท่าเรือฯ มาร่วมตรวจสอบ
จากกรณีที่มีข่าวครึกโครมเกี่ยวกับการพัฒนาที่ดินของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ให้เป็น “เอนเทอร์เทนเม้นต์ คอมแพล็กซ์” หรือ “สมาร์ท ซิตี้” โดยนำต้นแบบมาจากท่าเรือโยโกฮามา ประเทศเทศญี่ปุ่น นั้น
ตนมีเอกสารหลักฐานในการใช้ประโยชน์ที่ดินดังกล่าว ว่า เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2477 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 7 ได้ทรงสละราชสมบัติ และสภาผู้แทนราษฎรได้มีมติเห็นชอบในการอัญเชิญพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล ขึ้นครองราชย์ สืบราชสันตติวงศ์ต่อไป โดยพระองค์ทรงมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎรจึงให้ตราพระราชบัญญัติเรียกว่า “พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พุทธศักราช 2477 ต่อมาคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พุทธศักราช 2477 จึงให้ตราพระราชกฤษฎีกาเรียกว่า “พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตต์ที่ดินที่จะเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสร้างท่าเรือกรุงเทพฯ พุทธศักราช 2478” และต่อมา สภาผู้แทนราษฎรจึงได้ลงมติว่า สมควรเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ที่กำหนดเขตต์ไว้ในพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตต์ที่ดินที่จะเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างท่าเรือกรุงเทพฯพุทธศักราช 2478 จึงมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างท่าเรือกรุงเทพฯ พุทธศักราช 2480 ” โดยให้เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ภายในเขตต์ดั่งกำหนดไว้ในแผนที่และบัญชีซึ่งมีรายนามเจ้าของหรือผู้ปกครองโดยชอบด้วยกฎหมาย ท้ายพระราชบัญญัตินี้ให้แก่กระทรวงเศรษฐการ หลังจากนั้น ก็มีการนำที่ดินดังกล่าวจำนวนสองพันกว่าไร่ไปทำเป็นท่าเรือกรุงเทพฯจนสำเร็จ ซึ่งขณะนั้นการท่าเรือแห่งประเทศไทยยังไม่มีการก่อตั้งขึ้นมาเป็นองค์กรของรัฐ เมื่อเวลาผ่านไปนานถึง 14 ปีนับจากมีพระราชบัญญัติเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างท่าเรือกรุงเทพฯพุทธศักราช.2480 จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ.2478 โดยในมาตรา 6 ให้จัดตั้งการท่าเรือขึ้นเรียกว่า “การท่าเรือแห่งประทศไทย” มีวัตถุประสงค์ (1) รับโอนกิจการท่าเรือจากสำนักงานท่าเรือกรุงเทพฯในกรมการขนส่ง กระทรวงคมนาคม (2) ประกอบและส่งเสริมกิจการท่าเรือเพื่อประโยชนแห่งรัฐและประชาชน (3) ดำเนินกิจการที่เกี่ยวกับหรือต่อเนื่องกับการประกอบกิจการท่าเรือ มาตรา 10 ให้โอนทรัพย์สินหนี้สินทั้งสิ้นของสำนักงานท่าเรือกรุงเทพฯในการขนส่งตลอดจนบรรดาที่ดินซึ่งได้เวนคืนไว้แล้วเพื่อการท่าเรือให้แก่การท่าเรือแห่งประเทศไทย และ มาตรา 11 ที่ดินซึ่งการท่าเรือแห่งประทศไทยได้มาด้วยอำนาจแห่งพระราชบัญญัตินี้หรือบทกฎหมายอื่นจะโอนต่อไปมิได้เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะ
จากเหตุผลข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ตนในฐานะประชาชนคนไทย จึงมีความห่วงใยเกี่ยวกับการพัฒนาโครงการท่าเรือกรุงเทพฯของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ในพื้นที่สองพันกว่าไร่ ที่มีข่าวครึกโครมว่าจะทำเป็นเอนเทอร์เทนเม้นต์ คอมแพล็กซ์ หรือ สมาร์ท ซิตี้ เหมือนท่าเรือโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น นั้น โครงการดังกล่าวจึงไม่สามารถทำได้ เพราะขัดต่อพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างท่าเรือกรุงเทพ พ.ศ.2480 อย่างชัดแจ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตามพจนานุกรมแปล ไทย-ไทย ราชบัณฑิตยสถาน คำว่า “ท่าเรือ” คำนามคือ “ที่จอดเรือ” กฎ คือ “สถานที่สำหรับให้บริการแก่เรือในการจอดเทียบบรรทุกหรือขนถ่ายของ ในวันนี้ตนจึงต้องมายื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในฐานะกำกับดูแลการท่าเรือแห่งประเทศไทย เพื่อให้ทบทวนการดำเนินโครงการพัฒนาที่ดินดังกล่าวให้ถูกต้องตามหลักกฎหมายทุกประการ หากฝ่าฝืนอาจมีความผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และอาจทำให้เกิดความเสียหายแก่กลุ่มทุนที่สนใจดำเนินการตามโครงการดังกล่าวด้วย
















