สวัสดีครับท่านผู้ชมทุกท่าน พบกับ “#สืบสานตำนานบรรณาธิการลานโพธิ์” โดย คุณสุธน ศรีหิรัญ วันนี้คุณสุธนจะพาทุกท่านไปรู้จักกับความเป็นมาของ “#เบี้ยแก้” วัตถุมงคลที่สร้างชื่อเสียงเป็นอย่างมากให้กับ พระพุทธวิถีนายกหลวงปู่บุญ พระพุทธวิถีนายกหลวงปู่เพิ่ม และหลวงปู่เจือ ปิยสีโล แห่ง #วัดกลางบางแก้ว จังหวัดนครปฐม ครับ
เบี้ยแก้ คือ เครื่องรางชนิดหนึ่ง คนสมัยโบราณเชื่อว่า เป็นของศักดิ์สิทธิ์ ใช้ป้องกันสิ่งไม่ดีทั้งหลาย หลักการของเบี้ยแก้ คือ การนำเปลือกหอยมาบรรจุด้วยปรอท ด้วยการใช้พลังจิตอธิษฐาน ให้ปรอทวิ่งเข้าไปอยู่ในหอยเบี้ยแก้ จากนั้นอุดหรือปิดด้วยชันโรง



องค์ประกอบของเบี้ยแก้มี 3 อย่าง คือ หอยเบี้ยแก้ ปรอท และ ชันโรง
คุณสุธนเล่าว่า หอยที่เอามาทำเบี้ยแก้ ตามตำรับตำราของวัดหลางบางแก้วจะใช้หอยเบี้ยแก้ที่มีลักษณะครบองค์ประกอบ มีฟัน 32 ซี่ โดยถือคติว่ามีอาการครบ 32 แบบของคนเรา
แต่บางสำนักใช้ “เบี้ยจั่น” หอยทะเลฝาเดียวที่มีขนาดเล็ก มีฟันเล็กๆ เรียงยาว หอยเบี้ยแก้ที่เอามาใช้ต้องไม่ใหญ่จนเกินไป




องค์ประกอบสำคัญที่สุดของเบี้ยแก้ เชื่อกันว่า “ปรอท” เป็นธาตุกายกายสิทธิ์เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ไม่ได้เกิดจากการหลอมตะกั่วหรือไปซื้อหาเอาได้มา การเอาปรอทมาใช้ต้องรู้จักการดักปรอท ที่อยู่ตามธรรมชาติ เนื่องจากปรอทเป็นธาตุที่เคลื่อนไหวตลอดเวลา ภายหลังได้นำเอาปรอทซึ่งสังเคราะห์ได้โดยกรรมวิธีทางเคมีมาใช้แทน เพราะปรอทธรรมชาติจะสามารถเรียกได้เฉพาะเกจิอาจารย์บางรูปเท่านั้น




คุณสุธนเล่าว่า หลวงปู่บุญท่านสามารถใช้พลังจิตเรียกปรอท หรือ หาปรอทได้ด้วยตัวท่านเอง
ส่วน “ชันโรง” มาจากตัวชันโรง แมลงชนิดหนึ่ง คล้ายผึ้ง แต่ตัวเล็กกว่า ชอบกินน้ำหวานจากเกสรดอกไม้ มักจะอยู่รวมตัวกันเป็นกลุ่มๆ ตามที่สงบต่างๆ เช่น ริมหน้าต่างโบสถ์ วิหาร ศาลา หรือในที่ๆ ไม่มีใครไปรบกวน ชันโรงจะมีกลิ่นหอม โดยโบราณาจารย์มักจะนิยมเอาชันโรงอุดเบี้ยแก้เพื่อป้องกันไม่ให้ปรอทที่ใส่ไว้ในหอยเบี้ยแก้หลุดออกมา








เมื่อรวบรวมของสำคัญจนครบ ผู้ทำเบี้ยแก้จะนำเอาปรอทมาแล้วเสกให้เข้าไปในตัวหอยเบี้ยแก้ เสกเสร็จก็ปิดด้วยชันโรง โดยเชื่อว่าเสกให้ปรอทคงศักดิ์สิทธิ์ ตอนปิดเบี้ยมีวิธีทำแตกต่างกันออกไป บางสำนักเมื่ออุดชันโรงแล้วจึงใช้แผ่นตะกั่วห่อหุ้ม หรือบางสำนักก็ใช้แผ่นทองแดงเล็กๆ ลงอักขระปิดทับบนชันโรง เช่น เบี้ยแก้สายอ่างทอง
เบี้ยแก้มีหลายสำนัก ที่โด่งดัง คือ สายภาคกลาง หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว และ หลวงปู่รอด วัดนายโรง
อีกสายหนึ่ง คือสายอ่างทอง มีหลวงพ่อภักตร์ วัดโบสถ์ หลวงปู่คำ วัดโพธิ์ปล้ำ หลวงพ่อนุ่ม วัดนางใน และหลวงพ่อโปร่ง วัดท่าช้าง เป็นต้น
ส่วนสายหลวงปู่รอด วัดในโรง ผู้ที่สืบต่อมา คือ หลวงพ่อทัต วัดคฤหบดี
สำหรับในสายของหลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว ก็มีหลวงปู่เพิ่ม วัดกลางบางแก้ว และหลวงปู่เจือ ปิยสีโล วัดกลางบางแก้ว
สุดท้าย คุณสุธนยังเล่าถึงประสบการณ์ การใช้เบี้ยแก้ แก้คุณไสยให้กับหญิงสาวหน้าตาดีที่ถูกกระทำได้สำเร็จ จนเธอพ้นจากอำนาจมืดที่ครอบงำ ตอนหลังเธอและครอบครัวจึงศรัทธาต่อเบี้ยแก้และหลวงปู่เพิ่ม วัดกลางบางแก้วเป็นอย่างมากครับ