วันจันทร์, เมษายน 28, 2025
หน้าแรกการเมืองดราม่า 2 วิวาทะรับซื้อไฟแพงแสนล้าน! หลุมพรางทุนการเมือง-หรือสานต่อขบวนการปล้นปชช.

Related Posts

ดราม่า 2 วิวาทะรับซื้อไฟแพงแสนล้าน! หลุมพรางทุนการเมือง-หรือสานต่อขบวนการปล้นปชช.

ยังคงเป็นประเด็นร้อนในแวดวงพลังงาน

เรื่องของ “วิวาทะ”ปมที่รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร โดยกระทรวงพลังงานดอดไฟเขียวให้ 2 การไฟฟ้าคือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) เซ็นสัญญารับซื้อไฟฟ้า พลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมในโครงการ 5,200 เมกะวัตต์ (MW) ที่ค้างมาตั้งแต่ปีก่อน และยังตั้งแท่นจะจัดซื้อเพิ่มเติมอีก 3,600 MW

โดย 2 ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคประชาชน นาย วรภพ วิริยะโรจน์ และนายศุภโชติ ไชยสัจระบุว่า ผลพวงจากการที่รัฐบาลสานต่อโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาดข้างต้นจะทำให้ประชาชนคนไทยถูก “มัดมือชก”จ่ายค่าไฟฟ้าแพงเกินจริงไปอีก 25 ปีคิดเป็นมูลค่านับแสนล้านบาท เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนพลังงาน อย่างชัดเจน

ขณะที่กระทรวงพลังงาน ได้ออกมาตอบโต้ ยืนยัน โครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่ว่านี้ไม่ได้ทำให้ค่าไฟแพงแต่อย่างใด ตรงกันข้ามยังมีส่วนทำให้ราคาค่าไฟในมือประชาชนลดลงเสียอีก เพราะต้นทุนรับซื้อไฟฟ้าในสัญญาต่ำกว่าโครงการรับซื้อไฟฟ้าในอดีตและราคาขายส่งไฟฟ้าที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯขายส่งให้กับ 2 การไฟฟ้าเสียอีก

จนกลายเป็น”วิวาทะ”ที่สร้างความสับสนให้ผู้คนในสังคม ทุกฝ่ายต่างต้องการความกระจ่าง ตกลงแล้วการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่ว่าสร้างภาระให้แก่ประชาชนไปอีกนับทศวรรษ หรือเป็นแนวทางในอันที่จะแก้ลำค่าไฟแพงกันแน่ การกระตุกเบรกโครงการดังกล่าวคือหลุมพรางที่จะทำให้ประชาชนต้องเสียโอกาสใช้ไฟในราคาถูกจริงหรือไม่?

เพื่อความกระจ่างในเรื่องนี้ “สืบจากข่าว”จึงขอประมวลมุมมองของทั้ง 2 ฝ่าย ดังนี้

สานต่อนโยบายเอื้อทุนพลังงาน!

ศุภโชติ ไชยสัจ และ วรภพ วิริยะโรจน์
ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน

“พรรคประชาชนได้ทักท้วงและตั้งคำถามเกี่ยวกับการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทั้งรอบ 5,200 MW และ 3,600 MW ที่แม้กระบวนการคัดเลือกที่ส่อแววทุจริต ทำให้เกิดการผูกขาดในภาคพลังงานและค่าไฟแพงกว่าที่ควรจะเป็น แต่รัฐบาลยังคงปล่อยให้มีการลงนามรับซื้อเรื่อยๆ

เมื่อรัฐปล่อยให้มีการลงนามไปแล้วจะทำให้การยกเลิกทำได้ยาก ประชาชนต้องแบกรับผลกระทบนี้ไปตลอดอายุสัญญา 25 ปี พรรคประชาชนจึงขอชี้แจงและตั้งข้อสังเกตุ ดังนี้

ประเด็นที่ 1 ราคารับซื้อไฟฟ้าที่ไม่มีการประมูล ราคาที่รับซื้อเป็นการหาบริษัทที่ให้ราคาถูก และใช้อัตรารับซื้อไฟตั้งแต่ปี 2565-2573 ไม่สะท้อนความเป็นจริง เพราะต้นทุนของเทคโนโลยีต่ำลงในทุกปี

ประเด็นที่ 2 อำนาจของนายกรัฐมนตรี กระบวนการรับซื้อไฟฟ้านี้เกิดจากมติ กพช. ซึ่งนายกฯ เป็นประธาน ต่อให้เปลี่ยนมาเป็นรัฐบาล(เพื่อไทย) และบอกว่าไม่เห็นด้วย ท่านก็สามารถออกมติยกเลิกได้ เช่นกรณีการสั่งชะลอโครงการ 3,600 MW

ประเด็นที่ 3 การที่รัฐบาลอ้างว่าเซ็นไปแล้วบางส่วนจึงยกเลิกไม่ได้ ทำให้เกิดคำถามย้อนกลับไปว่า ท่านกำลังทำเพื่อใคร? กำลังรักษาผลประโยชน์ประชาชนให้ใช้ไฟได้ถูกกว่านี้ หรือแค่รักษาผลประโยชน์กลุ่มทุนที่ได้สัมปทานและเอื้อกำไรให้สูงเกินควร

ประเด็นที่ 4 ตัวแทนรัฐบาลชี้แจงการรับซื้อไฟฟ้าเป็นไปตามกฎหมาย หากพบผิดกฎหมายทีหลังยกเลิกได้ทุกเมื่อ แม้จะไม่ได้ผิดกฎหมาย หรือเมินเฉยคำว่าทุจริตเชิงนโยบาย แต่รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับคำว่า เหมาะสมและผลกระทบต่อประชาชน เพราะการรับซื้อนี้ไม่ได้ผิดกฎหมายอะไรเลย แต่ปล่อยให้เอื้อผลประโยชน์ต่อนายทุน เหมือนปล่อยให้ทุจริตเชิงนโยบายได้ต่อไปเรื่อยๆ

ประเด็นที่ 5 การอ้างว่าต้องซื้อไฟฟ้าเพิ่มเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และตอบโจทย์อนาคตพลังงานสะอาดของประเทศ พรรคประชาชนเห็นด้วยกับการเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาด แต่จำเป็นที่จะเกิดในภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจก่อน และรัฐบาลควรส่งเสริมโดยไม่ส่งผลกระทบต่อค่าไฟโดยรวมของประชาชน

ทางพรรคได้เสนอให้รัฐบาลใช้ Direct PPA หรือการที่ผู้ผลิตไฟฟ้าสามารถขายไฟให้กับผู้ใช้ได้โดยตรง ไม่ได้นำต้นทุนมารวมในค่าไฟ แต่รัฐบาลกลับจำกัดให้ใช้แค่ 2,000 MW เฉพาะกลุ่มธุรกิจ data center และปัจจุบันรัฐบาลยังไม่เปิดให้ใช้จริง ทั้งที่ผู้ประกอบการรอกันมา10 เดือนแล้ว

ทั้ง 5 ประเด็นที่กล่าวมา ผมหวังว่ารัฐบาลจะใช้อำนาจในการแก้ไข และยกประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้งในการแก้ปัญหานี้ และออกมาตอบคำถามสังคมอย่างชัดเจน ตรงไปตรงมา

พลังงานโต้ซื้อไฟฟ้าราคาแพง

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน

กระแสข่าวและความกังวลเกี่ยวกับการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (RE Big Lot)จำนวน 5,200 เมกะวัตต์(MW) ที่ว่าอาจทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้น และสร้างภาระงบประมาณแผ่นดินเป็นหลักแสนล้านบาทนั้น อยากชี้แจงดังนี้

  1. การรับซื้อไฟฟ้าปริมาณ 5,203 เมกะวัตต์( RE Big Lot )เป็นการดำเนินการจากมติ กพช.ในการประชุมเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 65 และได้มีการดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ครบถ้วนไปก่อนแล้ว ปัจจุบันมีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA) แล้วเป็นส่วนใหญ่ บางโครงการได้มีการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว

การยกเลิกสัญญาของ RE Big Lot ที่ลงนามไปแล้วจึงไม่อาจทำได้ หากจะมีการยกเลิกโครงการที่ยังไม่ลงนามในสัญญาส่วนที่เหลือกว่าสิบสัญญา จะทำให้เกิดข้อขัดแย้งกับสัญญาที่ลงนามไปแล้ว เป็นการดำเนินการแบบ 2 มาตรฐานระหว่างกลุ่มโครงการที่ได้มีการลงนามในสัญญาแล้ว และโครงการที่ยังไม่ได้ลงนาม

  1. การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 5,200 MW จะทำให้ค่าไฟฟ้าแพงหรือไม่? การรับซื้อไฟฟ้า RE Big Lot มีต้นทุนรับซื้อไฟฟ้าเฉลี่ยประมาณ 2.7 บาทต่อหน่วย (พลังงานแสงอาทิตย์ Solar มีอัตรา 2.18 บาทต่อหน่วย , พลังงานลม Wind มีอัตรา 3.10 บาทต่อหน่วย ,พลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับ BESS (ระบบเดินไฟในแบตเตอรี่) อัตรา 2.83 บาทต่อหน่วย) ซึ่งมีราคาที่ต่ำกว่าค่าไฟฟ้าขายส่งเฉลี่ย(Grid Parity)ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ(กฟผ.) ขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย (การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค) โดย ณ เดือน มีนาคม 68 ค่าไฟฟ้าขายส่งเฉลี่ยประมาณ 3.18 บาทต่อหน่วย

ดังนั้น การรับซื้อไฟฟ้า RE Big Lot จะไม่ทำให้ราคาค่าไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น แต่ในทางตรงกันข้าม กลับจะทำให้ค่าไฟฟ้าขายส่งเฉลี่ยลดลง เนื่องจากมีราคารับซื้อไฟฟ้าต่ำกว่าค่าไฟฟ้าขายส่งเฉลี่ย โดยจะช่วยให้ค่าไฟฟ้าขายส่งเฉลี่ยลดลงประมาณ 4,574 ล้านบาทต่อปี

  1. การรับซื้อไฟฟ้าจาก RE Big Lot จะช่วยให้ประเทศไม่เสียโอกาสในการลงทุนในพัฒนาพลังงานหมุนเวียนซึ่งเป็นเชื้อเพลิงพลังงานสะอาดที่มีอัตรารับซื้อในระดับที่เหมาะสมและสามารถแข่งขันได้ ไม่ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าในภาพรวม และช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพทางด้านราคาค่าไฟฟ้าของประเทศได้ในระยะยาว
  2. การรับซื้อไฟฟ้า RE Big Lot เป็นการช่วยเพิ่มปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในระบบไฟฟ้า และจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ให้สามารถบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกตามการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contribution: NDC) ร้อยละ 30 – 40 ภายในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593) และบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero Carbon Emission) ภายในปี ค.ศ. 2065 (พ.ศ. 2608)

อีกทั้งการเพิ่มการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพของประเทศไทยในการรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดของผู้ประกอบการภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม โดยเฉพาะธุรกิจส่งออกที่มีความจำเป็นต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ และเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

ระวัง “หลุมพราง”ทุนการเมืองขยายสัญญาเก่า

ตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นิวเอนเนอร์ยี

ผมเห็นข่าวที่นายวรภพและ นายศุภโชติ 2 สส.พรรคประชาชน ออกมาแถลงข่าว ขอให้นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ในฐานะ รมว.พลังงาน เบรกการลงนามสัญญารับซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาด 3,600 mw ไม่งั้นคนไทยจะต้องจ่ายค่าไฟแพงไปอีก 25 ปี

ด้วยความเคารพ ผมต้องขอเห็นต่างและขอเน้นย้ำก่อนว่า ผม หรือบริษัทผม ไม่ได้เข้าร่วมประมูลขายไฟให้ภาครัฐ และไม่เคยเป็นผู้ติดตั้งให้ผู้ชนะประมูลด้วย มีแต่เพียงความหวังดีเท่านั้นในฐานะคนประกอบอาชีพด้านพลังงานสะอาดอย่างสุจริต

ผมขอฉายภาพโครงสร้างการผลิตไฟฟ้าของประเทศในปัจจุบัน และต้นทุนขายไฟของโรงไฟฟ้าแต่ละประเภท ดังนี้

  1. โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ – ราคาขายหน้าโรงไฟฟ้า 1.40 บาท/หน่วย
    2.โรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์(แม่เมาะ) – ราคาขายหน้าโรงไฟฟ้า 1.32 บาท/หน่วย
    3.โรงไฟฟ้าถ่านหิน (นำเข้า) – ราคาขายหน้าโรงไฟฟ้า 2.01 บาท/หน่วย
    4.โรงไฟฟ้าก๊าซ – ราคาขายหน้าโรงไฟฟ้า 3.24-4.06 บาท/หน่วย (รวมค่า AP)
    5.โรงไฟฟ้าลม(แบบมี adder) – ราคาขายหน้าโรงไฟฟ้า 8 บาท/หน่วย
    6.โรงไฟฟ้าโซลาร์ (แบบมี adder) – ราคาขายหน้าโรงไฟฟ้า 10-12 บาท/หน่วย
    7.โรงไฟฟ้าโซลาร์ & ลม (หลัง adder หมด) – ราคาขายหน้าโรงไฟฟ้า 4.5 บาท/หน่วย รวม FT
    8.โรงไฟฟ้าโซลาร์ (สัญญาใหม่ราคาคงที่ Non-Firm) – 2.16 บาท/หน่วย
    9.โรงไฟฟ้าโซลาร์+แบตเตอรี่ (สัญญาใหม่ รับซื้อราคาคงที่ แบบ Firm) – 2.8 บาท/หน่วย
  2. โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนอื่นๆ (ชีวมวล ขยะ) – 4-6 บาท/หน่วย

ราคาด้านบนเป็นราคาขายไฟหน้าโรงไฟฟ้า ยังไม่รวมค่าสายส่ง 0.24 บาท/หน่วย และค่าสายจำหน่ายและการให้บริการของ 2 การไฟฟ้าคือการไฟฟ้าภูมิภาค (PEA) และการไฟฟ้านครหลวง (MEA) ที่ 0.51 บาท/หน่วย

การที่กกพ.ประกาศรับซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาด ประเภทโรงไฟฟ้าโซลาร์ (แบบราคารับซื้อคงที่) 2.16 บาท/หน่วย และ โรงไฟฟ้าโซลาร์+แบตเตอรี่ที่ 2.8 บาท/หน่วย เป็นการทำให้ค่าไฟประเทศไทยแพงไปอีก 25 ปีหรือไม่?

หากดูโครงสร้างราคาค่าไฟข้างต้นจะเห็นเลยว่า ไม่จริงเลย เพราะวันนี้ต้นทุนเฉลี่ยค่าผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศอยู่ที่เกือบ 3.3 บาท/หน่วย การที่เรารับซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่ 2 บาทกว่า/หน่วย จะทำให้ต้นทุนไฟฟ้าเฉลี่ยของประเทศถูกลงด้วยซ้ำ ไม่ใช่แพงขึ้นอย่างที่หลายท่านเข้าใจผิด

ประเด็นที่ 2. (ที่ไม่มีใครกล่าวถึงเลย)คือในปี 2568-2577 จะมีโรงไฟฟ้าก๊าซและน้ำมัน ซึ่งมีต้นทุนแพงกว่าพลังงานสะอาดมาก กำลังจะถูกปลดระวางออกจากระบบอีก 14,573 เมกะวัตต์ เป็นโรงไฟฟ้าเอกชน 10,396 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้า กฟผ. 4,177 เมกะวัตต์

การรับซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาดในครั้งนี้ จึงเป็นการเอาโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่ใหม่กว่าและถูกกว่า เข้ามาทดแทนโรงไฟฟ้าก๊าซและน้ำมันที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม และกำลังจะหมดอายุ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนค่าผลิตไฟถูกลงอีกเกือบ 1 บาท/หน่วย

ประเด็นที่ 3.ราคารับซื้อไฟที่ 2.16 บาท/หน่วย มันเป็นราคาที่แพงหรือไม่ และราคาแผงโซลาร์มีแต่ลงจริงหรือไม่? ผมต้องนำเรียนทั้งคุณศุภโชติ และนายพีระพันธุ์ ที่เบรกการรับซื้อไฟฟ้าครั้งนี้ว่า มันไม่แพงเลยครับ

เพราะผู้ชนะประมูลต้องลงทุนทั้งที่ดิน ซึ่งโรงไฟฟ้าโซลาร์ 1 เมกะวัตต์ ต้องใช้ที่ดินมากถึง 6 ไร่ ไหนจะเรื่องการดูแลระบบ การล้างแผงโซลาร์ การกำจัดหนู แมลงไม่ให้ไปกัดสายไฟ และการเดินระบบสายส่ง+ factor เหล่านี้ ต้องถูกนำไปคำนวณด้วย

ผมจึงคิดว่า เหตุผลที่ผมอ้างมาคงจะเพียงพอที่จะแสดงให้เห็นภาพว่า 2.16 บาท มันไม่แพงเลยครับ และคงไม่เป็นต้นเหตุที่ทำให้ค่าไฟแพง โดยผมขอเน้นย้ำอีกครั้งนะครับ ว่าเรากำลังมีโรงไฟฟ้า Gas ที่ราคาขายแพง และกำลังหมดอายุกว่า 14,000MW > เพราะฉะนั้นการรับซื้อไฟฟ้าสะอาดที่ราคาถูกกว่าโรงไฟฟ้าแบบดั้งเดิมมาทดแทน เพื่อเฉลี่ยต้นทุนลง คงไม่ใช่สาเหตุที่ประเทศไทยจะมีค่าไฟแพงไปอีก 25 ปี แน่นอนครับ

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts