วันอังคาร, พฤษภาคม 6, 2025
หน้าแรกคอลัมนิสต์วัชระ เพชรทอง“วัชระ” จี้ ป.ป.ช.คุ้มครอง 3 พนักงาน กฟผ.ผู้กล้าแฉทุจริตปลูกป่าทิพย์พันล้านถูกตัดโบนัส!

Related Posts

“วัชระ” จี้ ป.ป.ช.คุ้มครอง 3 พนักงาน กฟผ.ผู้กล้าแฉทุจริตปลูกป่าทิพย์พันล้านถูกตัดโบนัส!

“…วัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือถึง ป.ป.ช. ร้องขอความเป็นธรรมให้พนักงาน กฟผ. 3 ราย ที่กล้าร้องเรียนการทุจริตโครงการปลูกป่าล้านไร่ ถูกตอบแทนด้วยการกลั่นแกล้ง สั่งย้าย–ระงับโบนัส ทั้งที่ยังไม่มีหลักฐานชัดเจน ชี้ต้องได้รับการคุ้มครองในฐานะผู้แจ้งเบาะแส…”

เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2568 นายวัชระ เพชรทอง อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ ได้ยื่นหนังสือถึงนายสาโรจน์ พึงรำพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอให้ตรวจสอบการกระทำที่อาจเข้าข่ายละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในโครงการปลูกป่าล้านไร่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งมีมูลค่าโครงการกว่า 1,000 ล้านบาท

สาระสำคัญของเรื่องอยู่ที่การร้องเรียนจากพนักงาน กฟผ. 3 ราย ได้แก่ นายชยพล ควรเขียน, นายชัยณรงค์ แซ่หว่อง และนายนฤนาถ ล้ำสัน ซึ่งเป็นคณะกรรมการตรวจรับงานในโครงการดังกล่าว โดยทั้งสามได้ตรวจพบความผิดปกติในการดำเนินงาน เช่น พื้นที่บางส่วนมีการปลูกต้นไม้เพียงเฉพาะด้านหน้า แต่พื้นที่ด้านในกลับไม่มีการปลูกจริงตาม TOR ที่กำหนดไว้ จนนำไปสู่การไม่อนุมัติรับรองงานถึง 3 ครั้ง

อย่างไรก็ตาม แทนที่ผู้บริหาร กฟผ. จะดำเนินการตรวจสอบตามข้อมูลที่ได้รับ กลับมีคำสั่งย้ายผู้ร้องเรียนออกจากโครงการ และเปลี่ยนตัวคณะกรรมการตรวจรับงานชุดใหม่ ก่อนเร่งให้โครงการผ่านการตรวจรับทุกพื้นที่ พร้อมอนุมัติจ่ายเงินงวดต่าง ๆ ตามเดิม

ที่น่าตกใจยิ่งกว่านั้น คือ ผู้แจ้งเบาะแสทั้งสามคนกลับถูกระงับการจ่ายโบนัสประจำปี ด้วยเหตุผลว่าการสอบสวนยังไม่สิ้นสุด ซึ่งนายวัชระมองว่าเป็นการกลั่นแกล้งและละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของพนักงานที่ทำหน้าที่ด้วยความสุจริตใจ พร้อมตั้งคำถามต่อ ป.ป.ช. ว่าเหตุใดผู้เปิดโปงการทุจริตจึงไม่ได้รับการคุ้มครองในฐานะ “พยาน” ตามที่กฎหมายกำหนด

“การตั้งคำถามต่อสิ่งที่ผิด ควรได้รับการรับฟัง ไม่ใช่การลงโทษ” คือเสียงจากหนึ่งในผู้ร้องเรียนที่ถ่ายทอดผ่านนายวัชระ พร้อมเสนอข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ได้แก่

1.ทบทวนคำสั่งระงับโบนัส จนกว่าการสอบสวนจะสิ้นสุด

2.เปิดเผยรายละเอียดข้อกล่าวหาและพยานหลักฐานอย่างโปร่งใส

3.ให้การคุ้มครองผู้ร้องเรียนอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ให้ถูกกลั่นแกล้ง

ทั้งนี้ นายวัชระยังย้ำว่า หากไม่มีระบบคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสที่เข้มแข็ง ความพยายามปราบปรามการทุจริตในองค์กรรัฐย่อมไม่มีวันบรรลุผล พร้อมขอให้ ป.ป.ช. เร่งดำเนินการตรวจสอบอย่างโปร่งใส และให้ความเป็นธรรมกับเจ้าหน้าที่ระดับล่างที่กล้าหาญเหล่านี้อย่างเร่งด่วน

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts