บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดย สถาบันนวัตกรรม ได้รับการรับรองระบบงานหน่วยตรวจสอบความใช้ได้และทวนสอบก๊าซเรือนกระจก ตามมาตรฐาน ISO 14065:2020 และ ISO/IEC 17029:2019 และได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประเมินภายนอก (Validation and Verification Bodies : VVB) สำหรับให้บริการตรวจสอบความใช้ได้และทวนสอบโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) ขององค์กรต่างๆ ตอกย้ำความมุ่งมั่นของ สถาบันนวัตกรรม ปตท. ในการเป็นผู้เชี่ยวชาญการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านก๊าซเรือนกระจก สอดคล้องตามมาตรฐานสากล เพื่อสร้างการเติบโตทางธุรกิจ พร้อมขับเคลื่อนเป้าหมาย Net Zero Emissions ของประเทศไทยอย่างยั่งยืน
โดย ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และความยั่งยืน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้เป็นผู้แทน ปตท. รับมอบใบรับรอง จาก นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และ ดร.ณัฐริกา วายุภาพ นิติพน รองผู้อำนวยการ รักษาการผู้อำนวยการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ใน 7 ขอบข่าย ได้แก่ อุตสาหกรรมด้านพลังงาน การส่งจ่ายพลังงาน ความต้องการการใช้พลังงาน อุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมเคมี การขนส่ง และการดักจับและเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ใต้พื้นดิน
สถาบันนวัตกรรม ปตท. คือผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เพื่อการเติบโตทางธุรกิจ ให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อม และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย ให้ก้าวทันสู่สังคมโลก ภายใต้แนวคิด together for Sustainable Thailand Sustainable World ปตท.แข็งแรงร่วมกับสังคมไทยและเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน
ตลอดเวลาที่ผ่านมา สถาบันนวัตกรรม ปตท. ได้ค้นคว้า วิจัย พัฒนา ให้เกิด Innovative Solution สร้างโอกาสใหม่ให้กับธุรกิจ พร้อมทั้งบริหารจัดการสู่ความเป็นเลิศ นำไปสู่ความได้เปรียบทางการแข่งขัน อาทิ นวัตกรรมเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคอุตสาหกรรม นวัตกรรมเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน นวัตกรรมด้านน้ำมันเชื้อเพลิงสะอาด นวัตกรรมด้านพลังงานหมุนเวียน และเทคโนโลยีอนาคต รวมทั้งการค้นคว้า วิจัย พัฒนานวัตกรรมการใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ ศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม การประเมินและทวนสอบก๊าซเรือนกระจก ทั้งภายในกลุ่ม ปตท. และดำเนินงานร่วมกับพันธมิตรภายนอก ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยนวัตกรรมเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน
การได้รับใบรับรองและการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประเมินภายนอก แสดงให้เห็นถึงการต่อยอดความรู้ความชำนาญด้านการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กรและผลิตภัณฑ์ รวมถึงขอการรับรองโครงการลดก๊าซเรือนกระจกสำหรับกลุ่ม ปตท. ไปสู่การเป็นผู้ตรวจประเมินตามมาตรฐานสากลให้กับองค์กรอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ขององค์กรต่างๆ นำพาประเทศไทยก้าวสู่อนาคตอย่างยั่งยืน
มาตรฐาน ISO 14065:2020 และ ISO/IEC 17029:2019
เป็นมาตรฐานสำหรับหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบความใช้ได้ (Validation) และทวนสอบ (Verification) ข้อมูลด้านก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas: GHG) ซึ่งเป็นการยอมรับอย่างเป็นทางการว่าหน่วยงานที่ผ่านการรับรองมีมาตรฐานการทำงาน มีทักษะและความสามารถในการตรวจสอบและการทวนสอบข้อมูลก๊าซเรือนกระจกในภาคธุรกิจ
- ISO 14065:2020 คือ มาตรฐานสากลที่กำหนดหลักการและข้อกำหนดสำหรับหน่วยตรวจสอบควา มใช้ได้และทวนสอบการแสดงปริมาณข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงก๊าซเรือนกระจก
- ISO/IEC 17029:2019 คือ มาตรฐานสากลที่กำหนดหลักการและข้อกำหนดสำหรับความสามารถ การดำเนินการอย่างสม่ำเสมอคงไว้ซึ่งมาตรฐาน และความเป็นกลางของหน่วยตรวจสอบความใช้ได้และทวนสอบที่ดำเนินกิจกรรมการตรวจสอบและรับรองข้อมูลทุกประเภท ไม่จำกัดเฉพาะก๊าซเรือนกระจก
ความสำคัญต่อภาคธุรกิจ
- เพิ่มความน่าเชื่อถือของข้อมูลก๊าซเรือนกระจกที่ผ่านการตรวจสอบและรับรองว่ามีความถูกต้อง มีคุณภาพ และโปร่งใส
- เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ และการเข้าถึงตลาดสากล องค์กรที่ต้องการเข้าร่วมตลาดคาร์บอนเครดิต ต้องมีข้อมูลก๊าซเรือนกระจกที่ผ่านการตรวจสอบและทวนสอบตามมาตรฐาน
- สร้างความน่าเชื่อถือ และลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ สร้างความไว้วางใจและมั่นใจให้กับนักลงทุนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการแสดงข้อมูล หากไม่มีการตรวจสอบและรับรองข้อมูลจากหน่วยงานที่ได้รับรองตามมาตรฐาน อาจเกิดความไม่โปร่งใส และนำไปสู่การสูญเสียความน่าเชื่อถือและชื่อเสียงขององค์กร
การได้รับรองระบบงานหน่วยตรวจสอบความใช้ได้และทวนสอบก๊าซเรือนกระจกตามมาตรฐาน ISO 14065:2020 และ ISO/IEC 17029:2019 มีความสำคัญสำหรับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลก๊าซเรือนกระจก เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการแสดงข้อมูลได้อย่างมั่นใจว่าข้อมูลที่ผ่านการตรวจสอบนั้นอยู่บนพื้นฐานที่สมเหตุสมผล ต่อการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมและความความยั่งยืนขององค์กร สนับสนุนการปฏิบัติตามกฎหมาย และเพิ่มโอกาสและความยั่งยืนทางธุรกิจ
การขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประเมินภายนอกสำหรับโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจของประเทศไทย (T-VER)
Thailand Voluntary Emission Reduction Program หรือ T-VER กลไกภาคสมัครใจที่ถูกพัฒนาขึ้นโดย องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคธุรกิจลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและนำคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ที่เกิดขึ้นไปใช้แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายสำหรับชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร งานบริการ บุคคล หรือผลิตภัณฑ์ได้
ผู้ประเมินภายนอก (Validation and Verification Body: VVB) คือหน่วยงานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อบก. ให้สามารถทำหน้าที่ ตรวจสอบความใช้ได้ของโครงการ (Validation) ประเมินว่าโครงการลดก๊าซเรือนกระจกสอดคล้องตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของ T-VER และทวนสอบรับรองผลการลด/ดูดกลับก๊าซเรือนกระจก (Verification) เพื่อตรวจสอบและยืนยันผลการประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่โครงการสามารถลดได้จริง
เมื่อองค์กรได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประเมินภายนอกของ อบก. จะสามารถให้บริการตรวจสอบความใช้ได้และทวนสอบโครงการ ที่ขึ้นทะเบียนภายใต้ T-VER ได้
ความสำคัญต่อภาคธุรกิจ
- เพิ่มโอกาสพัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจกและรับรองคาร์บอนเครดิต ภาคธุรกิจที่มีการดำเนินกิจกรรม/โครงการที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในองค์กร สามารถพัฒนาเพื่อขึ้นทะเบียนโครงการและขอรับรองคาร์บอนเครดิตได้ในอนาคต โดยโครงการเหล่านั้นจะต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบและทวนสอบความถูกต้องโดย VVB ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว
- ลดต้นทุนและเพิ่มรายได้ให้แก่ภาคธุรกิจ องค์กรที่ได้รับคาร์บอนเครดิตจาก T-VER สามารถใช้ลดภาระภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) หรือขายคาร์บอนเครดิตให้กับบริษัทที่ต้องการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
- สนับสนุนการปฏิบัติตามมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและ ESG คาร์บอนเครดิตจาก T-VER สามารถใช้แสดงหรือเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมในรายงานด้านความยั่งยืนองค์กร เพื่อดึงดูดนักลงทุน
- เพิ่มความสามารถการแข่งขันและส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย การมีหน่วยประเมินภายนอกที่ได้รับการขึ้นทะเบียน ช่วยให้กระบวนการรับรองคาร์บอนเครดิตสอดคล้องตามมาตรฐาน เป็นที่ยอมรับ และเพิ่มความสามารถการแข่งขันในระดับสากล
การขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประเมินภายนอกภายใต้ T-VER จะช่วยให้โครงการลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทย ได้รับการตรวจสอบและรับรองอย่างมีมาตรฐาน ภาคธุรกิจสามารถพัฒนาโครงการลด/ดูดกลับก๊าซเรือนกระจกและนำคาร์บอนเครดิตที่ผ่านการตรวจสอบและรับรองจากผู้ประเมินภายนอกแล้วไปใช้ประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมได้ รวมถึงส่งเสริมให้ประเทศไทยมีโครงการที่ช่วยลด/ดูดกลับก๊าซเรือนกระจกมากยิ่งขึ้น