วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
หน้าแรกคอลัมนิสต์วัชระ เพชรทองวัชระร้องชวนฟันขบวนการงาบงบประมาณสอดไส้ไม้ "พะยอม" แทน "ไม้ตะเคียนทอง" โครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่

Related Posts

วัชระร้องชวนฟันขบวนการงาบงบประมาณสอดไส้ไม้ “พะยอม” แทน “ไม้ตะเคียนทอง” โครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่

(20 มิ.ย.65) เมื่อเวลา 13.15 น.ที่อาคารรัฐสภา นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือผ่านงานสารบรรณถึง นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอให้พิจารณาสั่งการให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรดำเนินการทางกฎหมายกับผู้กระทำความผิดกรณีการใช้ไม้ในการก่อสร้างและตกแต่งอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดของสัญญา เนื่องจากปรากฏหลักฐานชัดเจน ตามบันทึกข้อความรองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (นายศิโรจน์ แพทย์พันธุ์) ที่ 12 ลงวันที่ 14 มี.ค.65 และหนังสือกรมป่าไม้ ที่ ทส 1607.520/2554 ลงวันที่ 11 ก.พ.65  สรุปได้ว่ามีการใช้ “ไม้พะยอม” ซึ่งมิใช่ไม้ชนิดที่ระบุในข้อกำหนดของสัญญาฯ มาปะปนใช้ในการปูพื้นแทน “ไม้ตะเคียนทอง” ซึ่งเป็นไม้ “ชนิด” ที่ระบุในข้อกำหนดของสัญญาฯ  ประกอบกับคณะกรรมการตรวจการจ้างตรวจรับงวดงานของการปูพื้นไม้ดังกล่าวแล้ว และสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (ผู้ว่าจ้าง) ได้จ่ายเงินซึ่งเป็นงบประมาณของแผ่นดินให้กับงวดงานดังกล่าวแล้ว ในขณะนางพรพิศ เพชรเจริญ เป็นเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรอันอาจเข้าข่ายกระทำความผิดทางอาญา และเป็นเหตุให้ผู้ว่าจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง โดยนายวัชระได้มีหนังสือลงวันที่ 28 มี.ค.65แจ้งให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรทราบและให้ดำเนินการแล้วนั้น

เนื่องจากขณะนี้ปรากฏว่ามีกลุ่มบุคคลหนึ่งพยายามจะให้มีการยอมรับว่า “ไม้พะยอม” หรือไม้ชนิดอื่นที่ปะปนมาใช้กับการปูพื้นอาคารรัฐสภาแห่งใหม่สามารถใช้แทน “ไม้ตะเคียนทอง” ได้ ซึ่ง เป็นการบิดเบือนวัตถุประสงค์ เจตนารมณ์ข้อกำหนดของผู้ออกแบบ และข้อกำหนดในสัญญาฯ ที่ระบุ “ชนิด” ของไม้ว่าให้ใช้ “ไม้ตะเคียนทอง”เท่านั้น การกระทำดังกล่าวจะมีผลเป็นการปกปิดและยกเว้นความรับผิดชอบที่มีการใช้ “ไม้พะยอม” หรือไม้ชนิดอื่นมาปูพื้นปะปนแทน “ไม้ตะเคียนทอง” เนื่องจากมีการจ่ายเงินงบประมาณเป็นค่าให้กับงวดงานการปูพื้นดังกล่าวไปแล้ว

นายวัชระ กล่าวว่า เมื่อเจตนารมณ์ข้อกำหนดของผู้ออกแบบ และข้อกำหนดในสัญญาฯ ระบุให้ใช้ไม้   “ชนิด” ไม้ตะเคียนทองก็ต้องใช้ตามนั้น มิใช่ว่าจะใช้ไม้ “ชนิด” อื่นมาทดแทนได้ สำหรับคุณภาพ ของไม้ที่อ้างอิงตามมาตรการฐานของ มอก. ก็เพื่อควบคุมคุณภาพ ของไม้ที่จะนำมาใช้ในการก่อสร้างและตกแต่ง เพื่อให้ได้ไม้ที่มี “คุณภาพ” ดี แข็งแรง ทนทาน จึงไม่สามารถตีความความหมายของคำว่า “ชนิดของไม้” กับคำว่า “คุณภาพของไม้” มาบิดเบือนจนสามารถใช้ไม้ “ชนิด” อื่นมาใช้แทน “ไม้ตะเคียนทอง” อันผิดไปจากวัตถุประสงค์ เจตนารมณ์ข้อกำหนดของผู้ออกแบบและข้อกำหนดของสัญญาฯ นอกจากนี้ ความพยายามในการบิดเบือน โดยการตีความข้อกำหนดของสัญญาฯ เพื่อให้ยอมรับการใช้ “ไม้พะยอม” หรือไม้ชนิดอื่นใช้แทน “ไม้ตะเคียนทอง” ยังเป็นการขัดกับข้อเท็จจริงที่เป็นเอกสารในการส่งมอบเอกสารในการตรวจรับ และเอกสารทางการเงินของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (ผู้ว่าจ้าง) ที่ได้จ่ายเงินงบประมาณอันเป็นค่าจ้างในงวดงานของการปูพื้นไม้ดังกล่าวในอัตราและราคาของ “ไม้ตะเคียนทอง”และยังมีความพยายามในการตีความข้อกำหนดของสัญญาฯ เกี่ยวกับ “งานงวดสุดท้าย” โดยมีเจตนาว่าแม้จะมีการปูพื้นอาคาร มีการตรวจรับและจ่ายเงินให้แก่ผู้รับจ้างในงวดงานดังกล่าวไปแล้ว มิใช่เป็นการตรวจรับงานงวดสุดท้าย โดยเมื่อพบข้อพิรุธหรือข้อบกพร่องภายหลังว่ามีการใช้ไม้ชนิดอื่น ซึ่งไม่ใช่ไม้ตะเคียนทอง ตามข้อกำหนดในสัญญาฯ จึงสามารถแก้ไขให้ถูกต้องตามข้อกำหนดในสัญญาฯ ได้นั้น เป็นการตีความที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากงานงวดสุดท้ายก็เป็นงานงวดหนึ่งเหมือนกับงานงวดอื่น ๆ ก่อนหน้านั้น เพียงแต่ข้อกำหนดของสัญญาฯ ระบุให้สามารถแก้ไขความบกพร่องใน “คุณภาพ” ของงานได้เท่านั้น แต่มิได้หมายความว่า งานในงวดงานต่าง ๆ ที่ผ่านผู้เกี่ยวข้องจะใช้วัสดุ “ชนิด” ใดก็ได้ หรือไม่ถูกต้องตามข้อกำหนดในสัญญาฯ ก็ได้ มาดำเนินการเพื่อให้แล้วเสร็จตามงวดงานนั้น ๆ อันนำมาสู่การเบิกค่าจ้างของงวดงานนั้น เพราะงานแต่ละงวดต้องมีความถูกต้อง ใน “ชนิด” ของวัสดุ ปริมาณงานฯ โดยต้องมีส่งมอบ รับมอบ อนุมัติการจ่ายค่าจ้างในอัตราและราคาของ “ชนิด” ของวัสดุดังกล่าว หากมีการจ่ายค่าจ้างอันเป็นงบประมาณแผ่นดินให้กับวัสดุ “ชนิด” ที่ไม่ถูกต้อง ผู้เกี่ยวข้องย่อมต้องรับผิดต่อไป ซึ่ง “ชนิด” ของวัสดุ จะเป็นตัวกำหนดอัตราและราคาในการจ่ายเงินให้แก่ผู้รับจ้าง หากมีการใช้ “ชนิด” ของวัสดุต่างชนิดหรือประเภทกัน ย่อมมีราคาและการจ่ายค่าจ้างที่ต่างกัน ดังนั้น ความถูกต้องของ “ชนิด” ของวัสดุของแต่ละงวดงาน จึงเป็น “สาระสำคัญ” ของการส่งมอบ ตรวจรับและการจ่ายค่าจ้าง ซึ่งก็เป็นไปตามเหตุผลของกรรมการตรวจการจ้าง 3 คน ที่ระบุว่า การใช้ไม้ที่ไม่ถูกต้องตามข้อกำหนดในสัญญาฯ เป็น “สาระสำคัญ” ของการตรวจรับและมีผลถึงการจ่ายไปไม่ตรงตามวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างตกแต่งอาคารรัฐสภาฯ

อนึ่ง เนื่องจากได้รับแจ้งจากข้าราชการที่ซื่อสัตย์สุจริตว่า ไม้ตง (ไม้รองไม้ปูพื้น) ตามข้อกำหนดในสัญญาต้องเป็นไม้ตะเคียนทอง แต่ปรากฏว่าไม่ใช่ไม้ตามข้อกำหนดในสัญญาเช่นเดียวกับไม้ปูพื้นที่กรมป่าไม้พิสูจน์แล้วว่าเป็นไม้พะยอม จึงขอให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรสั่งการให้กรมป่าไม้มาพิสูจน์ไม้ปูพื้นและไม้ตงทุกแผ่นในอาคารรัฐสภาว่าตรงตามข้อกำหนดในสัญญาหรือไม่ เพื่อให้เป็นไปตามสัญญาต่อไป พร้อมสั่งการให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำความผิดดังกล่าว เพื่อรักษาผลประโยชน์ของราชการ และปกป้องงบประมาณแผ่นดินเพื่อมิให้มีการใช้ไปอย่างไม่ถูกต้อง

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

Latest Posts