วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
หน้าแรกการเมืองเปิดเอกสารลับกฤษฎีกา! ตีความอำนาจ กสทช.-ดีลควบรวมยิ่งกว่า “8 ปีลุงตู่” อ้างไร้อำนาจล้วงลูกองค์กรอิสระ -แต่ชี้แนะ “สุดซอย” ย้อนแย้งตัวเอง

Related Posts

เปิดเอกสารลับกฤษฎีกา! ตีความอำนาจ กสทช.-ดีลควบรวมยิ่งกว่า “8 ปีลุงตู่” อ้างไร้อำนาจล้วงลูกองค์กรอิสระ -แต่ชี้แนะ “สุดซอย” ย้อนแย้งตัวเอง

เปิดเอกสารลับกฤษฎีกาชุด “มีชัยอีกแล้ว” โบ้ยตีความอำนาจ กสทช.เคาะดีลควบรวมธุรกิจ อ้างเป็นดุลยพินิจขององค์กรอิสระ กสทช. แต่กลับล้วงลูกชี้แนะให้ยึดถือประกาศ กสทช.ปี 61 เป็นคัมภีร์ผ่าทางตันอ้างครอบคลุมไปถึงประกาศเดิมอยู่แล้ว  นักกฎหมายเตือน กสทช.ระวังเจอไบก้อน ”ตายยกรัง”   

หลังจากทุกฝ่ายเฝ้ารอคำตอบจาก “คณะกรรมการกฤษฎีกา” กรณีที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ทำหนังสือไปถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ผ่านรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี (พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ) เพื่อขอให้ใช้อำนาจสั่งการให้คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ตอบข้อหารือในปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ กสทช.และ สำนักงาน กสทช.ในการพิจารณาการรวมธุรกิจระหว่างบริษัททรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็สคอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทคนั้น

*กฤษฎีกามีความเห็น “ย้อนแย้ง” ตัวเอง?

ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ก.ย.ที่ผ่านมา มีกระแสข่าวว่าเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้มีหนังสือตอบกลับไปยังสำนักนายกฯ และสำนักงาน กสทช.แล้ว พร้อมแนบบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องอำนาจดำเนินการของ กสทช.ในการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ระหว่างบริษัท ก.และบริษัท ข.(ทรูและดีแทค)

โดยระบุว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้พิจารณาข้อหารือของสำนักงาน กสทช.ทั้ง 6 ข้อแล้ว โดยมีผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า ผู้แทนสำนักงาน กสทช.เป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่า ข้อหารือที่สำนักงาน กสทช.ร้องขอมาส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการใช้ดุลยพินิจตามกฎหมายของ กสทช.(พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ฯ พ.ศ.2553 และ พรบ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม ปี 2544) คณะกรรมการกฤษฎีกาจึงไม่อาจให้ความเห็นในส่วนที่เป็นการใช้ดุลยพินิจ รวมทั้งการกำหนดมาตรการ หรือเงื่อนไขต่างๆ อันเป็นหน้าที่ และอำนาจของ กสทช.ซึ่งเป็นองค์กรอิสระได้    

อย่างไรก็ตาม ในท้ายบันทึกความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา กลับระบุว่า โดยที่ข้อเท็จจริงตามปรากฏตามคำชี้แจงของผู้แทนสำนักงาน กสทช.ว่า ในการกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาด หรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม นั้น กสทช.ได้ออกประกาศ 4 ฉบับคือ

  1. ประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่องมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาด หรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 (ประกาศฉบับปี 2549 )
  2. ประกาศ กสทช.เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการการควบรวมและการถือหุ้นไขว้ในกิจการโทรคมนาคม ปี 2553 (ประกาศฉบับปี 2553)
  3. ประกาศ กสทช.เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณากำหนดผู้มีอำนาจเหนือตลาดในกิจการโทรคนาคม ปี 2557 และ
  4. ประกาศ กสทช.เรื่องมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ปี2561 (ประกาศฉบับปี 2561) ซึ่งประกาศฉบับปี 2553 นั้น ได้กำหนดให้การรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคมต้องได้รับอนุญาตจาก กสทช.ก่อน แต่ต่อมาในปี 2561 กสทช.ได้ออกประกาศฉบับปี 2561 ขึ้น โดยยกเลิกประกาศฉบับปี 2553 และกำหนดให้การรวมธุรกิจกระทำได้ โดยจัดทำรายงานส่งให้ กสทช. ซึ่งมีทั้งกรณีที่ต้องรายงานก่อนล่วงหน้า และที่รายงานหลังจากรวมธุรกิจแล้ว สอดคล้องกับบทบัญญัติมาตรา 77 วรรคสามของรัฐธรรมนูญฯ ที่กำหนดว่ารัฐพึงใช้ระบบอนุญาตเฉพาะกรณีที่จำเป็น

นอกจากนี้เพื่อกำกับดูแลมิให้การรวมธุรกิจมีผลเป็นการผูกขาด หรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม จึงให้อำนาจ กสทช.กำหนดเงื่อนไขหรือนำมาตรการเฉพาะสำหรับผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญมาบังคับใช้เพื่อป้องกันความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะดังที่ปรากฏในข้อ 12 ของประกาศฉบับปี 2561 หรือในกรณีที่การรวมธุรกิจนั้นมีลักษณะตามข้อ 8 ของประกาศปี 2549 และข้อ 9 ของประกาศปี 2561 ให้ถือว่ารายงานดังกล่าวเป็นการขออนุญาตไปในตัวเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ควบรวมธุรกิจไม่ต้องยื่นคำขอซ้ำซ้อน เพราะในกรณีที่เข้าข่ายตามข้อ 8 ของประกาศปี 2549 กสทช.ก็มีอำนาจอนุญาตได้อยู่แล้ว “ดังนั้นการดำเนินการใด ๆ ที่เป็นการรวมธุรกิจจึงต้องดำเนินการตามประกาศฉบับปี 2561 ซึ่งยังมีผลใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้การใช้อำนาจดังกล่าว กสทช.ต้องคำนึงถึงความได้สัดส่วนระหว่างการคุ้มครองผู้บริโภค กับการพัฒนากิจการโทรคมนาคมด้วย”

* มั่วตุ้มประกาศปี 49 -หักดิบศาลปกครอง

แหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคม เปิดเผยว่า หลังมีการเผยแพร่บันทึกลับของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาข้างต้น บรรดานักกฎหมายหลายคน ต่างแสดงความประหลาดใจต่อความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ออกมาเพราะมีความ “ย้อนแย้งในตัวเอง” อย่างเห็นได้ชัด

เพราะแม้จะอ้างว่าตนเองไม่มีอำนาจวินิจฉัยหรือพิจารณาให้ความเห็นเกี่ยวกับการใช้ดุลยพินิจของ กสทช.ซึ่งเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญฯ ที่มีกฎหมายกำหนดขอบเขตอำนาจและหน้าที่เป็นการเฉพาะ แต่ในส่วนของการพิจารณาดีลควบรวมธุรกิจที่ สำนักงาน กสทช.ร้องขอให้กฤษฎีกาพิจารณาให้ความเห็นนั้น  คณะกรรมการกฤษฎีกาชุดนี้ที่มี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นประธาน กลับมีความเห็นชัดเจนว่าการพิจารณากรณีการรวมธุรกิจครั้งนี้ กสทช.ควรยึดถือประกาศฉบับปี 2561 ที่ผู้ขอควบรวมสามารถกระทำได้ โดยให้ถือว่ารายงานการรวมธุรกิจของผู้ยื่นขอถือเป็นการขออนุญาตตามข้อ 9 ของประกาศฉบับปี 2561 และข้อ 8 ของประกาศ กทช.ปี 2549 ด้วย ทั้งที่เป็นเรื่องที่หมิ่นเหม่ต่อการ”ก้าวล่วง”อำนาจขององค์กรอิสระ และยังเป็นการใช้อำนาจในลักษณะที่เป็น Abuse of Power โดยตรง

ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ข้อ 8 ของประกาศ กทช.ปี 2549 นั้นกำหนดไว้ว่า การถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน โดยการเข้าซื้อหรือถือหุ้นเกินกว่าร้อยละสิบของจำนวนหุ้นทั้งหมด ไม่ว่าจะกระทำโดยทางตรงหรือทางอ้อมจะกระทำมิได้เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ และในกรณีที่คณะกรรมการพิจารณาเห็นว่า การถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกันอาจส่งผลให้เกิดการผูกขาด หรือลดหรือจำกัดการแข่งขันการให้บริการโทรคมนาคม คณะกรรมการอาจสั่งห้ามได้

 “ไม่มีข้อความใดในประกาศ กทช.ฉบับนี้ที่เปิดทางให้บริษัทสื่อสารดำเนินการควบรวมธุรกิจได้อัตโนมัติ หรือแค่รายงาน กสทช.เพื่อทราบเท่านั้น  มีแต่ให้ กสทช.และสำนักงาน กสทช.ต้องพิจารณากรณีควบรวมดังกล่าวขัดประกาศ กสทช.หรือไม่ หากเห็นว่าก่อให้เกิดการผูกขาด ตัดตอน หรือลดการแข่งขันอาจสั่งไม่ให้ควบรวมกิจการได้  กรณีดีลควบรวมครั้งประวัติศาสตร์นี้ที่มีผลศึกษาวิเคราะห์ยืนยันอย่างชัดเจนว่าส่งผลกระทบต่อสภาพตลาดก่อให้เกิดการผูกขาด ลดการแข่งขัน และส่งผลกระทบต่อราคาค่าบริการในมือประชาชนโดยตรง แล้วคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นใครถึงไปชี้นำว่าไม่ต้องพิจารณาประเด็นเหล่านี้”

นอกจากนี้ ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งให้ยกคำร้องขอทุเลาประกาศ กสทช.ว่าด้วยมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคมปี 2561 ที่ 1 ในคณะกรรมการติดตามการปฏิบัติงานของ กสทช.หรือ”ซูเปอร์บอร์ด กสทช.”ยื่นคำร้อง เพื่อให้เพิกถอนประกาศฉบับดังกล่าวเนื่องจากเห็นว่าประกาศ กสทช.ฉบับนี้มีการลดทอนอำนาจ กสทช. แต่ศาลปกครองมีความเห็นว่า ประกาศ กสทช.ฉบับปี 2561 ประกอบประกาศ กทช.ว่าด้วยมาตรการป้องกันการผูกขาดฯ ปี 2549 ได้ให้อำนาจ กสทช.ที่จะพิจารณา “อนุมัติ” หรือ “ไม่อนุมัติ” การขอควบรวมธุรกิจได้อยู่แล้ว หากพิจารณาเห็นว่า การรวมธุรกิจดังกล่าวอาจส่งผลให้เกิดการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันด้านบริการในกิจการโทรคมนาคม

*กสทช.หลงประเด็น …หรือหลงทาง?

ผู้คว่ำหวอดในวงการโทรคมนาคมชี้ กสทช.กำลังหลงประเด็น ยัน กม.จัดตั้งไม่เปิดให้ใช้วิจารณญาณได้

นักวิชาการด้านกฎหมาย ที่มีส่วนในการยกร่างกฎหมายจัดตั้ง กสทช. เปิดเผยถึงความพยายามของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ต่อการพิจารณาอนุมัติดีลควบรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทคว่า ข้อเท็จจริงที่ทุกฝ่ายรวมทั้ง กสทช.ชุดปัจจุบันต้องตระหนักก็คือ กฎหมายจัดตั้งองค์กรอิสระ กสทช.หรือ พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯปี 2553 และที่แก้ไขปี 2562 (พรบ.กสทช.) พรบ.ประกอบกิจการโทรคมนาคมปี 2544 และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับขอบข่ายอำนาจหน้าที่ของกสทช.นั้น เปิดทางให้ กสทช.ใช้วิจารณญาณพิจารณาว่าจะอนุมัติ-ไม่อนุมัติดีลควบรวมธุรกิจในลักษณะเช่นนี้ได้หรือไม่ต่างหาก “อย่าหลงประเด็น”

ทั้งนี้ พรบ.กสทช. และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2561 และประกาศ กทช.เรื่องมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคมพ.ศ.2549 วางกรอบให้ กสทช.มีอำนาจหน้าที่เพียง 2 ภารกิจหลักคือ “กำกับดูแล” ให้ตลาดมีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม การดำเนินการใดๆ ในอันที่จะไปกระทบต่อหลักการข้างต้น ทำให้ทางเลือกของผู้บริโภคลดลงจะกระทำไม่ได้เลย

และหาก กสทช.เห็นว่า ตลาดมีการผูกขาด หรือผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีอำนาจเหนือตลาดมีพฤติการณ์เอารัดเอาเปรียบผู้ใช้บริการ มีอำนาจเหนือตลาดกำหนดเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรมกับผู้ใช้บริการ ทำให้ประชาชนผู้ใช้บริการถูกเอาเปรียบ  กสทช.ต้องงัดกฎหมายที่มีเข้าไปกำกับดูแล โดยออกมาตรการกำกับดูแลทันที  ไม่ใช่ไปพิจารณาให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีอำนาจเหนือตลาดเป็นทุนเดิมอยู่แล้วควบรวมกิจการด้วยข้ออ้าง ไม่แน่ใจในอำนาจที่ตนเองมี ทั้งที่การควบรวมดังกล่าว ไม่ต้องไปพิจารณาในมิติอื่น ก็เห็นได้ชัดเจนอยู่แล้วว่า จะส่งผลต่อการลดการแข่งขัน และมีอำนาจเหนือตลาด ซึ่งไม่ว่าจะพิจารณาในแง่ใด กสทช.ก็ไม่สามารถพิจารณาอนุมัติให้ได้ 

“ สิ่งที่ กสทช.กำลังดำเนินการอยู่เวลานี้ ไม่ว่าจะตั้งอนุกรรมการขึ้นมาศึกษาผลกระทบในทุกมิติ หรือที่เที่ยวไปสอบถามคณะกรรมการกฤษฎีกาจนนำไปสู่ข้ออ้างในการพิจารณาอนุมัติการควบรวมกิจการนั้น ล้วนเป็นแค่มหกรรมปาหี่เพียงเพื่อจะสร้างความชอบธรรมในการพิจารณาอนุมัติการควบรวมธุรกิจว่า กสทช.ได้ดำเนินการอย่างรอบคอบ รัดกุมพิจารณาผลประทบในทุกมิติแล้วเท่านั้น แต่ปัญหาก็คือ กฎหมายจัดตั้ง กสทช.คือ พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องหาได้เปิดช่องให้ กสทช.ใช้วิจารณญาณในการพิจารณาอนุมัติ”  

ที่สำคัญทุกฝ่ายต้องตระหนักดั่งภาษิตโบราณที่ว่า “ธรรมชาติของเสือต้องกินเนื้อ ธรรมชาติของวัวควายยังไงมันต้องกินหญ้า การทำธุรกิจยังไงก็ต้องการกำไร(Profit) หรือแสวงหาผลกำไร จะไปล้อมคอก ล่ามโซ่ กักกันไว้อย่างไร หากแม้มีโอกาสอันน้อยนิด มันก็ต้องเผยทาสแท้ของมันออกมา…..ฉันใดก็ฉันนั้ัน กสทช.จะไปออกมาตรการห้าม มาตรการเฉพาะที่ต้องดำเนินการก่อนการควบรวมธุรกิจอย่างไร  สุดท้ายเมื่อมีอำนาจผูกขาดเหนือตลาดไปแล้ว ธรรมชาติของการดำเนินธุรกิจที่ต้องการกำไรหรือแสวงหากำไรยังไงก็ต้องเผยออกมาวันยังค่่ำ

*กสทช.ไร้อำนาจตามประกาศปี 61 จริงหรือ?

สำหรับประกาศที่เกี่ยวข้อง 3 ฉบับที่กำลังเป็นที่โจทย์ขานอยู่เวลานี้ได้แก่  1) ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 (ประกาศ กทช.ปี2549) 2) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณากำหนดผู้มีอำนาจเหนือตลาดในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2557 และ 3) ประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2561 ที่ถูกนำมากล่าวอ้างกันมากที่สุดคือข้อ 5 “ผู้รับใบอนุญาตหรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้รับใบอนุญาตที่ประสงค์จะทำการรวมธุรกิจกับผู้รับใบอนุญาตรายอื่นต้องรายงานต่อเลขาธิการกสทช. ไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันก่อนการดำเนินการ” นั้น

หลักเกณฑ์ตามประกาศข้างต้นที่ระบุว่า “ต้องรายงาน” ต่อเลขาธิการ กสทช.จนนำไปสู่การตีความว่า กสทช.ไม่มีอำนาจในการ “อนุญาต” หรือ“ไม่อนุญาต” การควบรวมธุรกิจและติดยึดอยู่กับหลักเกณฑ์ตามประกาศฉบับนี้ ก่อนไปตีความว่า กสทช.มีอำนาจเพียง “รับทราบรายงาน” หรือเป็นเพียง “ตรายาง Rubber Stamp” รับทราบรายงานการควบรวมของผู้ที่ยื่นขอควบรวมธุรกิจเท่านั้น

แต่ในข้อเท็จจริง ในประกาศฉบับเดียวกัน ยังมีข้อกำหนดเพิ่มเติมในข้อ 9 “การรายงานในข้อ 5 ข้อ 6 ข้อ 7 หรือข้อ 8 ให้ถือเป็นการขออนุญาตจาก กสทช.ตามข้อ 8  ประกาศ กทช.เรื่องมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดฯ พ.ศ.2549 ด้วย   ดังนั้น การรายงานการควบรวมจึงไม่ได้จบที่กระบวนการรายงานตามข้อ 5 ของประกาศ กสทช.ปี 2561 ดังที่หลายฝ่ายเข้าใจ แต่ยังต้องถือเป็นการ “ขออนุญาต” ตามข้อ 8 ของประกาศ กทช.ปี 2549 ด้วย  ซึ่งนั่นทำให้ กสทช.ต้องย้อนกลับไปพิจารณาว่า ประกาศฉบับเดิมที่ว่านี้ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้อย่างไร เพื่อที่จะพิจารณาว่า อำนาจของ กสทช.ในกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม และการควบรวมกิจการที่แท้จริงกำหนดเอาไว้อย่างไร 

“เมื่อพลิกดูประกาศ กทช.เรื่องมาตรการป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดฯ พ.ศ.2549 ข้อ 8 ระบุว่า “การควบรวมกิจการไม่ว่าจะกระทำโดยทางตรงหรือทางอ้อมผ่านตัวแทนจะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ……กรณีที่คณะกรรมการพิจารณาว่า การถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกันตามวรรคหนึ่งอาจส่งผลให้เกิดการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการโทรคมนาคม คณะกรรมการอาจสั่งห้ามการถือครองกิจการ หรือกำหนดมาตรการเฉพาะ” จะเห็นได้ว่า กสทช. มีอำนาจอย่างเต็มที่ ไม่เพียงการกำหนดเงื่อนไข หรือมาตราการเฉพาะเพื่อเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นเท่านั้น

แต่หากเห็นว่าการควบรวมกิจการจะส่งผลเสียก่อให้เกิดการผูกขาด ลดทอนการแข่งขัน ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในธุรกิจโทรคมนาคม และไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนตามเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ และบทบัญญัติจัดตั้ง องค์กรอิสระ กสทช.แล้ว กสทช. ย่อมมีอำนาจในการ “ไม่อนุญาต” การควบรวมกิจการได้ด้วย

แต่หาก กสทช. มีมติอนุญาตให้ควบรวมก็ยังสามารถออกมาตรการ หรือเงื่อนไขเพื่อลดผลเสียที่เกิดขึ้นจากการแข่งขันที่น้อยลงตั้งแต่การควบคุมราคา และคุณภาพ การบังคับขาย/คืนคลื่นความถี่ หรือโครงสร้างพื้นฐานให้กับผู้เล่นรายใหม่ หรือการบังคับให้ปล่อยเช่าเสาสัญญาณในราคาต้นทุนให้กับผู้เล่นรายใหม่  ซึ่งมาตรการเหล่านี้ถูกระบุไว้ในข้อ 13 ของ ประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณากำหนดผู้มีอำนาจเหนือตลาดในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2557อยู่แล้ว

“ดังนั้นการพิจารณาอำนาจหน้าที่ของ กสทช.ตามประกาศ กสทช.ฉบับต่าง ๆ จึงไม่อาจพิจารณาเพียงประกาศฉบับใดฉบับหนึ่งได้ จำเป็นต้องพิจารณาประกอบกันหลายฉบับควบคู่กันไป โดยกสทช. ต้องพิจารณาประกาศฯ พ.ศ. 2549 (ข้อ 8) ประกาศฯ พ.ศ. 2557 (ข้อ 13) ประกาศฯ พ.ศ. 2561 (ข้อ 5 และ 9) ควบคู่กันพร้อมกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่ดึงดันอยู่แต่เพียงข้อ 5 ของประกาศฯ พ.ศ. 2561 เพื่อ “ลดทอน”อำนาจตนเองเท่านั้น”

บทความก่อนหน้านี้
บทความถัดไป

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts