เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 19 ธ.ค.65 ที่ศูนย์รับแจ้งความกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ถนนพหลโยธิน จตุจักร กทม. ทนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม พร้อมด้วย น.ส.รัตนาภรณ์ นุชศิริ อายุ 42 ปี วิศวกรสาวซึ่งเป็นผู้เสียหายจากกรณีที่ถูกโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่แห่งหนึ่งในจังหวัดนนทบุรี ลงประวัติการรักษาไม่ตรงตามความเป็นจริงว่าผู้เสียหายเป็นมะเร็งแต่ปรากฎว่าเป็นประวัติของคนไข้เก่า และผู้เสียหายไม่ได้เป็นมะเร็งจริง ๆ ทำให้ประกันสุขภาพที่ทำไว้บอกล้างสัญญา ไม่สามารถเคลมรักษาได้ เดินทางมายังศูนย์รับแจ้งความ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เพื่อเข้าร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีกับ ปคบ. ในข้อหาปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมกับโรงพยาบาล
น.ส.รัตนาภรณ์ ระบุว่า สืบเนื่องจากก่อนหน้านี้เมื่อปี 2561 ผู้เสียหายได้ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลต้นเรื่องใน จ.นนทบุรี แค่คืนเดียวและครั้งเดียวจากการอาการท้องเสีย ต่อมาตนตรวจพบเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกระยะแรกกับโรงพยาบาลอีกแห่งหนึ่งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา ตนเลยขอเคลมค่ารักษาพยาบาลจากบริษัทประกันที่ตนทำไว้ ซึ่งเป็นกรมธรรม์ที่ทำไว้สำหรับโรคร้ายแรง จ่ายเบี้ยประกันปีละ 50,000 บาท และจะได้ผลตอบแทนค่ารักษาพยาบาลหากพบโรคร้ายจำนวน 1,075,000 บาท ซึ่งกรมธรรม์นี้ตนซื้อไว้เมื่อต้นปี 2564
แต่ปรากฎว่า ทางบริษัทประกันได้ตรวจสอบประวัติการรักษาพยาบาลของผู้เสียหายก่อนหน้านี้ กลับปรากฎว่า โรงพยาบาลต้นเหตุลงประวัติว่าตนนอนโรงพยาบาล 4 คืน และตรวจพบว่าเป็นมะเร็งปากมดลูกเมื่อปี 2561 ก่อนที่จะทำสัญญาประกันเมื่อต้นปี 2564 ทั้งที่ตอนนั้นตนเคยรักษาอาการท้องเสียแค่ครั้งเดียวและแอดมิดแค่คืนเดียว อีกทั้งโรงพยาบาลนี้ตนไม่เคยไปตรวจรักษาอีกเลย ทำให้กลายเป็นการผิดเงื่อนไขกรรมธรรม์ที่ต้องไม่มีประวัติป่วยโรคร้ายแรงก่อนซื้อกรมธรรม์และถือว่าผู้เสียหายปกปิดข้อมูลก่อนซื้อกรมธรรม์ ทางบริษัทประกันจึงยกเลิกกรมธรรม์และไม่จ่ายค่ารักษาพยาบาลให้
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นความผิดพลาดอย่างร้ายแรงจากการออกเอกสารและใช้เอกสารเท็จ รวมถึงปัญหาการคีย์ระบบข้อมูลในระบบของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลที่ผิดพลาดและเลิ่นเล่อ สร้างความเสียหายให้แก่ตนอย่างมากเนื่องจากไม่สามารถรับการเคลมประกันได้จากข้อมูลที่คาดเคลื่อนและไม่เป็นจริง ตนเลยจึงมาร้องเรียนกับทนายรณณรงค์ให้ช่วยเหลือกรณี ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ตนพร้อมทนายได้ยื่นเรื่องให้ทางกรงสนับสนุนบริการสุขภาพ หรือ สบส. เพื่อตรวจสอบเรื่องนี้ แต่ทางกรมอ้างว่าเป็นเรื่องข้อผิดพลาดของเจ้าหน้าที่เวชระเบียน ได้ทำการตักเตือนแล้ว และไม่ได้ดำเนินการใด ๆ ที่สร้างมาตรฐานความน่าเชื่อถือแก่ระบบสาธารณสุข อีกทั้งได้ขอเรียกร้องความเสียหายกับทางโรงพยาบาลต้นเรื่อง แต่ทางโรงพยาบาลยอมรับผิดว่าเกิดจากความประมาทเลิ่นเล่อของเจ้าหน้าที่เวชระเบียนจริง และรับผิดชอบเพียงแค่ว่าให้สิทธิพิเศษวงเงินค่ารักษาพยาบาล 200,000 บาท แต่ตนขอไม่รับเนื่องจากไม่มีความเชื่อมั่นที่จะรักษาพยาบาลที่นี่อีก
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ที่ปรากฎเป็นข่าวและทางโรงพยาบาลส่งหนังสือชี้แจงข้อผิดพลาดในการกรอกข้อมูลและยืนยันแล้วว่าทางผู้เสียหายไม่มีเจตนาปกปิดข้อมูลการรักษาพยาบาล ทำให้ทางบริษัทประกันยอมจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ตน 1,075,000 บาทแล้ว แต่ตนมองว่า การทำงานของโรงพยาบาลที่ทำงานกับความเป็นความตายควรมีมาตรฐานกว่านี้ อีกทั้งควรได้รับการตรวจสอบว่าการกระทำเช่นนี้ของโรงพยาบาลเข้าข่ายเป็นการปลอมเอกสารหรือไม่ จึงตัดสินใจมาแจ้งความกับ ปคบ.ในวันนี้ เพื่อเอาผิดกับโรงพยาบาลทั้งผู้อำนวยการ แพทย์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และหวังว่าเคสนี้จะเป็นอุทธาหรณ์แก่โรงพยาบาลมี่ต้องมีมาตรฐานในการตรวจสอบ และลงทะเบียนข้อมูลที่ถูกต้องแก่ผู้ป่วยเพื่อรักษาสิทธิของผู้บริโภค
ด้านทนายรณณรงค์ กล่าวว่า เคสนี้เป็นความผิดพลาดอย่างร้ายแรงที่เกิดขึ้นจากการประมาทเลิ่นเล่อของโรงพยาบาล แม้ทางโรงพยาบาลจะยอมรับผิดแต่มีพฤติการณ์ปลอมเอกสารที่สร้างความเสียหายแก่ผู้เสียหายอย่างมาก อีกทั้งการร้องเรียนกับหน่วยงานราชการกลับไร้ความคืบหน้า จึงตั้งข้อสังเกตว่าทำไมไม่มีหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุขมารับผิดชอบในการตรวจสอบมาตรฐานและคุณภาพการบริการของโรงพยาบาล เลยต้องการให้เคสนี้เป็นเคสตัวอย่าง เลยพาผู้เสียหายมาแจ้งความกับ ปคบ.เพื่อดำเนินคดีฐานปลอมเอกสารกับทางโรงพยาบาล อีกทั้งฝากถึงกระทรวงสาธารณสุขว่าให้ใส่ใจในการตรวจสอบและรับผิดชอบคุณภาพของโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนให้มากกว่านี้
เบื้องต้นพนักงานสอบปากคำผู้เสียหายรวบรวมพยานหลักฐานและดำเนินการตามกฎหมายต่อไป