พระอธิการจาลึก สญญฺโต เจ้าอาวาสวัดจุกกะเฌอ ตำบลบึง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เปิดเผยได้เตรียมจัดงานผูกพัทธสีมา-ฝังลูกนิมิตอุโบสถ หลังเก่าที่ชำรุดและได้บูรณะขึ้นใหม่ ของวัดจุกกะเฌอ สำหรับการจัดงานผูกพัทธสีมา-ฝังลูกนิมิตพระอุโบสถวัดจุกกะเฌอ นั้น จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 21-29 มกราคม 2566 ซึ่งงานจะตรงกับช่วงเทศกาลตรุษจีน รวมทั้งสิ้น 9 วัน 9 คืน และในวันศุกร์ที่ 20 มกราคม 2566 เวลา 15.00 น. จะมีพิธีเปิดงานผูกพัทธสีมา-ฝังลูกนิมิตอุโบสถ อย่างเป็นทางการ โดย นายสนธยา คุณปลื้ม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และในวันจันทร์ที่ 30 มกราคม 2566 เวลา 19.19 น. จะมีการตัดหวายลูกนิมิต โดยมีคณะกรรมการอุปถัมภ์ นำโดย ตระกูลคุณปลื้ม นายบุญเลิศ น้อมศิลป์ ประธานที่ปรึกษานายกเทศมนตรีเทศบาลนครแหลมฉบัง นางจินดา ถนอมรอด นายกเทศมนตรีเทศบาลนครแหลมฉบัง นายวันชัย พุ่มเมือง ประธานสภาเทศบาลนครแหลมฉบัง โดยทางวัดจุกกะเฌอได้มีการแบ่งหน้าที่ของแผนกต่างๆ ไว้แล้วเช่น แผนกอำนวยการ แผนกปฎิคม แผนกการเงิน-บัญชี แผนกสถานที่ แผนกรักษาความปลอดภัย แผนกจราจร โดยได้มีการระบุผู้ที่รับผิดชอบไว้ในเบื้องต้นแล้ว โดยงานนี้ทางวัดจุกกะเฌอและกรรมการวัดต้องเตรียมการทุกอย่างให้พร้อม เพราะงานผูกพัทธสีมา-ฝังลูกนิมิต ไม่ใช่การจัดงานวัดทั่วไป จะมีผู้คนจากทั่วสารทิศมาทำบุญ จึงต้องเตรียมทุกด้านให้เพียงพอ ทั้งที่จอดรถ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ซึ่งจตุปัจจัยที่ทางวัดจุกกะเฌอได้จากการผูกพัทธสีมา-ฝังลูกนิมิตรในครั้งนี้ จะนำไป สมทบทุนจัดสร้างรูปเหมือน “หลวงปู่เริ่ม ปรโม” อดีตเจ้าอาวาสวัดจุกกะเฌอ และพระเกจิอาจารย์ชื่อดังที่เคารพ และศรัทธาของชาวจังหวัดชลบุรี ขนาดหน้าตัก 9 เมตร สูง 11 เมตร ซึ่งองค์ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออก ซึ่งพุทธศาสนิกชนชาวพุทธท่านใด ที่ไม่มีเวลาเดินทางมาร่วมงานผูกพัทธสีมา-ฝังลูกนิมิตรในครั้งนี้ได้ ถ้าอยากจะร่วมทำบุญสามารถร่วมทำบุญได้ที่ บัญชีของวัดจุกกะเฌอ ชื่อธนาคารกรุงไทย สาขาสวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ บัญชีเลขที่ 454-0-37730-2
พระอธิการจาลึก สญญฺโต เจ้าอาวาสวัดจุกกะเฌอ กล่าวว่า “การฝังลูกนิมิต” นี้ มีชื่อเรียกเป็นทางการอีกอย่างหนึ่งว่าการ “ผูกพัทธสีมา” (ซึ่งก็แปลว่า เขตทำสังฆกรรมที่กำหนดตามพุทธานุญาต) โดยปัจจุบันจะเริ่มจากพระสงฆ์ ประชุมพร้อมกันในโบสถ์ เพื่อทำพิธี สวดถอน มิให้อาณาบริเวณที่จะกำหนดนี้ ไปทับที่ที่เคยเป็นสีมา หรือเป็นที่ที่มีเจ้าของครอบครองอยู่ก่อน เมื่อพระสงฆ์สวดถอนเป็นแห่งๆ ไปตลอดสถานที่ ที่กำหนดเป็นเขตแดนทำสังฆกรรมแล้วว่า มีอาณาเขตเท่าใด จากนั้นจะต้องไปขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต เพื่อให้ที่ดินบริเวณนั้นเป็นสิทธิ์ของสงฆ์ ที่เรียกว่าขอ วิสุงคามสีมา (คือเขตที่ได้พระราชทานแก่สงฆ์ เพื่อใช้เป็นที่ทำสังฆกรรม) เป็นการแยกส่วนบ้านออกจากส่วนวัด (วิสุง แปลว่า ต่างหาก คาม แปลว่า บ้าน) การที่ต้องขอพระบรมราชานุญาตเพราะถือว่า พระมหากษัตริย์เป็นเจ้าของแผ่นดิน การจะกระทำใดบนพื้นแผ่นดินจึงต้องขอพระบรมราชานุญาตก่อน โดยทั่วไป ลูกนิมิตที่ใช้ผูกสีมาจะมีจำนวน 9 ลูก โดยฝังตามทิศต่างๆ โดยรอบอุโบสถทั้ง 8 ทิศๆ ละ 1 ลูก และฝังไว้กลางอุโบสถอีก 1 ลูกเป็นลูกเอก เมื่อจะผูกสีมาพระสงฆ์จำนวน 4 รูป ก็จะเดินตรวจลูกนิมิตที่วางไว้ตามทิศต่างๆ โดยเริ่มตั้งแต่ทิศตะวันออกเป็นต้นไป เรียกว่า สวดทักสีมา จนครบทุกทิศและมาจบที่ทิศตะวันออกอีกครั้ง เพื่อให้แนวนิมิตบรรจบกัน เมื่อสวดทักนิมิตจบแล้ว ก็จะกลับเข้าไปประชุมสงฆ์ในอุโบสถ และสวดประกาศสีมาอีกครั้ง หลังจากนั้นก็จะทำการตัดลูกนิมิตลงหลุมเพื่อกลบ แล้วสร้างเป็นซุ้มหรือก่อเป็นฐานตั้งใบสีมาต่อไป ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าปัจจุบันใบสีมานี้ ได้กลายเป็นเครื่องหมายบอกเขตของโบสถ์แทนลูกนิมิต ที่เป็นเครื่องหมายเดิมที่ถูกฝังอยู่ข้างใต้ไปแล้ว ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องของความสวยงาม หรือการออกแบบในภายหลังก็ได้ อนึ่ง ลูกนิมิตที่ใช้ฝังตามทิศต่างๆ นี้ มีผู้เปรียบว่าเป็นเสมือนองค์พระพุทธเจ้า และพระอรหันต์สาวกสำคัญๆ กล่าวคือ ลูกนิมิตที่ฝังทาง ทิศตะวันออก หมายถึง พระอัญญาโกณฑัญญะ ซึ่งได้ชื่อว่า ผู้รู้ราตรีกาลนาน คือ มีความรู้มาก ผ่านโลกมามาก, ทิศตะวันออกเฉียงใต้ หมายถึง พระมหากัสสปะ ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ทรงธุดงค์คุณ, ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ หมายถึง พระราหุล ผู้เป็นเลิศทางการศึกษา, ทิศใต้ หมายถึง พระสารีบุตร ผู้เลิศในทางปัญญา, ทิศเหนือ หมายถึง พระโมคัลลานะ ผู้เลิศทางฤทธิ์, ทิศตะวันตก หมายถึง พระอานนท์ ผู้เลิศในทางพหูสูต, ทิศตะวันตกเฉียงใต้ หมายถึง พระอุบาลี ผู้เลิศในทางวินัย และ ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ หมายถึง พระควัมปติ ผู้เลิศในทางลาภและรูปงาม ส่วนลูกนิมิต กลางโบสถ์ ก็คือ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยเหตุที่ในสมัยก่อน การที่จะสร้างโบสถ์ได้หลังหนึ่งๆ หรือแม้จะซ่อมแซมโบสถ์เก่าให้สวยงามขึ้นมิใช่เรื่องง่าย และต้องใช้ระยะเวลานานมาก ดังนั้น จึงเชื่อกันว่า หากใครได้มีโอกาสทำบุญ “ฝังลูกนิมิต” หรือพูดง่ายๆ ว่าได้ร่วมสร้างโบสถ์ให้พระได้ใช้ทำสังฆกรรมนั้น จะมีอานิสงส์ถึง 6 ประการด้วยกัน คือ 1. ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บทุกชาติ ปราศจากอุปัททวะ (อุ-ปัด-ทะ-วะ สิ่งอัปมงคล) ทั้งหลาย 2. ไม่เกิดในตระกูลต่ำ 3. หากเกิดในมนุษย์โลก ก็จะเกิดเป็นท้าวพระยามหากษัตริย์ 4. หากเกิดในเทวโลก ก็จะเกิดเป็นท้าวสักกเทวราช 5. จะสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สินเงินทอง มีผิวพรรณผ่องใส และ 6. มีอายุยืนนาน และมักจะใส่สมุด ดินสอ เข็มและด้ายลงไปในหลุมที่ฝังลูกนิมิตด้วย เพราะเชื่อว่าจะช่วยให้มีความจำดี มีปัญญาเฉียบแหลมเหมือนเข็ม และมีความเจริญก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องเหมือนความยาวของด้าย
ชำนาญ/ชลบุรี