(16 ก.พ.66) เมื่อเวลา 10.40 น.ที่อาคารรัฐสภา นายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วยว่าที่ร้อยตรีสุทธิศักดิ์ ประศาสน์ครุการและนายกฤษฎ์ มนาปี ทนายความ ยื่นหนังสือผ่านงานสารบรรณ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาถึงนายโชติวัฒน์ เหลืองประเสริฐ (ประธานศาลฎีกา ประธานกรรมการสรรหากรรมการป้องกันและปรามปราบการทุจริตแห่งชาติ) และกรรมการสรรหาทุกคน แจ้งขอคัดค้านนายเนตร นาคสุข เข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการป้องกันและปรามปราบการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตามประกาศคณะกรรมการสรรหากรรมการป้องกันและปรามปราบการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง การรับสมัครบุคคลผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการ ป.ป.ช.ใหม่ (แทนพล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากครบวาระการดำรงตำแหน่งเก้าปี) ลงวันที่ 24 มกราคม 2566 นั้น ทั้งนี้ ผลการรับสมัครที่จุดรับสมัครบริเวณห้องโถง ชั้น 1 อาคารรัฐสภา (ฝั่งวุฒิสภา) เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2566 ปรากฏว่านายเนตร นาคสุข อายุ 68 ปี อดีตรองอัยการสูงสุด สมัครคุณสมบัติตามมาตรา 9 วรรคสอง (1)
นายวัชระ กล่าวว่า ต้องคัดค้านนายเนตร นาคสุข เข้าทำหน้าที่เป็นกรรมการ ป.ป.ช. เนื่องจากมีพฤติกรรมทางจริยธรรมที่ต้องสงสัยของสังคมและประชาชนเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ราชการที่ผ่านมาในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตและการบังคับใช้กฎหมายในการสั่งไม่อุทธรณ์คดีนายพานทองแท้ ชินวัตร ฟอกเงินธนาคารกรุงไทยว่าใช้หลักนิติธรรมใดเมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รองอัยการสูงสุดปฏิบัติราชการแทนอัยการสูงสุด (นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด ขณะนั้น) เนื่องจากมีพยานหลักฐานเป็นเอกสารของธนาคารแห่งประเทศไทยในขณะนั้นที่ส่งให้กับพนักงานสอบสวนโดยพยานบุคคลระบุว่ามีพยานเอกสารที่เชื่อมโยงความผิดในคดีฟอกเงินถึงบัญชีเงินฝากของนายพานทองแท้ ชินวัตร ด้วยใช่หรือไม่
และต่อมาคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) มีมติให้นายเนตร นาคสุข ออกจากราชการตามพระราชบัญญัติข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 85 และมาตรา 87 ความผิดกรณีสั่งไม่ฟ้องคดีโด่งดังของประเทศ และเมื่อปี 2563 นายเนตร นาคสุข ถูกยื่นร้องเรียนการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบกับสำนักงาน ป.ป.ช. ดังนั้น เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน จึงขอคัดค้านการสรรหาเลือกนายเนตร นาคสุข เป็นกรรมการป.ป.ช.ด้วยเหตุดังกล่าว จึงขอให้ประธานและกรรมการสรรหาป.ป.ช.ทุกคนได้ทราบและพิจารณาถึงความเหมาะสมต่อไป