วันพฤหัสบดี, พฤษภาคม 2, 2024
หน้าแรกข่าวประชาสัมพันธ์กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 7/2566 หัวข้อที่ 2 กสม. นับถอยหลังติดตามเป้าหมาย “การขจัดการไร้รัฐ” ในประเทศไทย ปี 2567

Related Posts

กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 7/2566 หัวข้อที่ 2 กสม. นับถอยหลังติดตามเป้าหมาย “การขจัดการไร้รัฐ” ในประเทศไทย ปี 2567

กสม. เตรียมเสนอ ครม. สั่งการหน่วยงานเร่งแก้ปัญหากรณีกรมธนารักษ์กำหนดให้ที่ดินที่อาศัยของราษฎรแปลง “สนามยิงปืนทุ่งฟ้าผ่า” จ.จันทบุรี เป็นที่ราชพัสดุ – นับถอยหลังติดตามเป้าหมาย “การขจัดการไร้รัฐ” ในประเทศไทย ปี 2567 – ผิดหวัง ครม. มีมติเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายป้องกันการทรมานและอุ้มหายออกไปอีก 7 เดือน หวั่นกระทบความน่าเชื่อถือของประเทศในการคุ้มครองสิทธิประชาชน

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายชนินทร์ เกตุปราชญ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 7/2566 โดยมี 3 วาระสำคัญดังนี้

  1. กสม. นับถอยหลังติดตามเป้าหมาย “การขจัดการไร้รัฐ” ในประเทศไทย ปี 2567

นายชนินทร์ เกตุปราชญ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการไร้รัฐ ไร้สัญชาติ มาอย่างต่อเนื่อง โดย กสม. ชุดปัจจุบัน ได้พิจารณาและกำหนดให้ประเด็น “สถานะบุคคล” เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่จะขับเคลื่อนและสร้างผลสัมฤทธิ์ในการดำเนินงานของ กสม.

จากการติดตามการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลในประเทศไทย พบว่า ตั้งแต่ปี 2548 รัฐบาลไทยใช้ความพยายามอย่างยิ่งในการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อขจัดหรือลดการไร้รัฐไร้สัญชาติอย่างเป็นระบบ โดยมีพัฒนาการเชิงบวกทั้งการรับแจ้งเกิดและออกสูติบัตรแบบถ้วนทั่ว (universal birth registration) การพิจารณากำหนดสถานะบุคคลและให้สัญชาติกับบุตรของบุคคลที่เดินทางเข้าเมืองและมีความผสมกลมกลืนกับสังคมไทยในลักษณะต่าง ๆ และการอนุญาตให้สิทธิในการอยู่อาศัยและการเข้าถึงสวัสดิการขั้นพื้นฐานโดยเฉพาะการศึกษาและสุขภาพ โดยในปี 2557 รัฐบาลไทยได้ประกาศเป็นหุ้นส่วนที่ดีของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) และองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) โดยได้รับการหยิบยกเป็นตัวอย่างของภูมิภาคในการแก้ไขปัญหาและป้องกันการเกิดปัญหาบุคคลไร้รัฐในประเทศ พร้อมกับเข้าเป็นประเทศร่วมก่อตั้งและเป็นผู้นำในกลุ่ม Group of Friends (GoF) ของโครงการ Global Campaign to End Statelessness by 2024 (#IBelong Campaign) ของ UNHCR ซึ่งมีเป้าหมายขจัดปัญหาการไร้รัฐให้หมดไปภายใน 10 ปี คือ ในปี 2567 (ค.ศ. 2024) ด้วย

ในการประชุมสมัชชาสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 1 – 2 กันยายน 2565 กสม. และภาคีเครือข่ายด้านสถานะบุคคล ได้ร่วมกันติดตามและประเมินสถานการณ์สถานะบุคคล และพบข้อจำกัดหลักใน 2 ส่วน ได้แก่

(1) ปัญหาต้นน้ำ จากการขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนการขอพิสูจน์หรือแก้ไขสถานะบุคคล รวมถึงทัศนคติและความเข้าใจที่ผิดพลาดทั้งของประชาชนผู้ทรงสิทธิที่ยื่นคำขอพิสูจน์สถานะบุคคลและหน่วยปฏิบัติงานโดยตรง ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้บางครั้ง มีการใช้ดุลพินิจ หรือสร้างภาระการพิสูจน์สถานะบุคคลเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด

(2) ปัญหาความล่าช้าของการตรวจพิสูจน์และการกำหนดสถานะบุคคล ทั้งจากขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ไม่คล่องตัว จำนวนบุคลากรผู้ปฏิบัติงานไม่เพียงพอ รวมถึงการสับเปลี่ยนโยกย้ายบุคลากรผู้ปฏิบัติงานที่ทำให้ระบบการทำงานสะดุดและขาดการฝึกฝนความเชี่ยวชาญต่อเนื่อง

จากการประชุมดังกล่าว กสม. ภาคีเครือข่ายด้านสถานะบุคคล ได้มีมติขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยติดตามเป้าหมาย “การขจัดการไร้รัฐ” ในปี 2567 ผ่านการประสานพลังภาคีเครือข่ายเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานแก้ไขปัญหาสถานะบุคคล เช่น การประสานความร่วมมือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการพิจารณาสถานะให้กับผู้ที่มีคุณสมบัติ การเสริมสร้างกระบวนการแก้ไขปัญหาสำหรับกลุ่มชายขอบ (อาทิ กลุ่มเด็กนักเรียนกลุ่ม G กลุ่มบุตรหลานติดตามแรงงาน กลุ่มภิกษุและสามเณรและกลุ่มผู้เฒ่าไร้รัฐไร้สัญชาติ) เพื่อให้เข้าถึงสิทธิทางสุขภาพ การเดินทาง และสิทธิขั้นพื้นฐานต่าง ๆ รวมทั้งมีแผนการสร้างเสริมศักยภาพในการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลในประเทศไทย เช่น การเร่งรัดกระบวนการกำหนดสถานะบุคคล การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและทัศนคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับสิทธิในสถานะบุคคลและสัญชาติ รวมถึงขั้นตอนการยื่นคำขอพิสูจน์สถานะบุคคล การนำเสนอการปรับปรุงโครงสร้างและกระบวนการงานทะเบียนและงานสถานะบุคคลที่กรมการปกครองรับผิดชอบ และการนำเทคโนโลยีเชื่อมโยงฐานข้อมูลด้านสถานะบุคคลมาปรับใช้ในการขับเคลื่อนงานด้านสถานะบุคคล

ภายหลังจากการออกมติดังกล่าว ตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 กสม. และเครือข่ายที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินงานขับเคลื่อนมติในหลากหลายรูปแบบ ได้แก่ (1) การตรวจสอบกรณีร้องเรียนและจัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับสถานะและสิทธิของกลุ่มประชากรไร้รัฐไร้สัญชาติ (2) การจัดทำคลินิกงานสถานะบุคคลในลักษณะกิจกรรมเคลื่อนที่และเข้าถึงประชากรกลุ่มเป้าหมาย ทั้งในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก ภาคใต้ และสามจังหวัดชายแดนใต้ (3) การศึกษาวิจัยปัญหาและประชากรกลุ่มเป้าหมายที่มีปัญหาเฉพาะ อาทิ กรณีคนไทยพลัดถิ่น และกรณีพระสงฆ์และสามเณรไร้รัฐไร้สัญชาติ (4) การดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนศึกษา ในการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับความแตกต่างหลากหลายของประชากร กลุ่มชาติพันธุ์ รวมถึงสิทธิในสถานะบุคคล และ (5) การประชุมหารือเชิงนโยบายกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและระหว่างประเทศ

“ในโอกาสที่ปี 2567 เป็นปีเป้าหมายขจัดปัญหาการไร้รัฐให้หมดไปภายใน 10 ปี ตามโครงการ Global Campaign to End Statelessness by 2024 หรือ #IBelong แคมเปญ กสม. จะได้ร่วมเป็นอีกหนึ่งแรงในการขับเคลื่อนและติดตามความคืบหน้าการดำเนินการเรื่องดังกล่าวของประเทศไทย ซึ่งในการจัดงานสมัชชาสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 2 ซึ่งมีกำหนดจัดในเดือนกรกฎาคม 2566 จะมีการติดตามสถานการณ์ และนำเสนอตัวเลขของการแก้ไขปัญหาการไร้รัฐไร้สัญชาติในภาพรวมของประเทศไทย นำเสนอต่อสาธารณะชนต่อไป” นายชนินทร์ กล่าว

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts