วันอาทิตย์, กันยายน 22, 2024
หน้าแรกข่าวประชาสัมพันธ์กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 15/2566

Related Posts

กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 15/2566

กสม. ชงแก้กฎหมายปรับเกณฑ์อายุขั้นต่ำในการสมรสเป็น 18 ปี เพื่อคุ้มครองสิทธิเด็ก เสนอปรับปรุงกฎหมายคดียาเสพติด ให้ผู้ต้องหาที่ถูกควบคุมตัวมีสิทธิที่จะได้พบศาลโดยพลัน

วันที่ 20 เมษายน 2566 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และ นางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 15/2566 โดยมีวาระสำคัญดังนี้

  1. กสม. ชงแก้กฎหมายปรับเกณฑ์อายุขั้นต่ำในการสมรสเป็น 18 ปี ป้องกันการแสวงหาประโยชน์และคุ้มครองสิทธิเด็กจากการถูกบังคับแต่งงานก่อนวัยอันควร

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนขอให้ตรวจสอบกรณีการจัดให้มีการแต่งงานของผู้ใหญ่กับเด็กหญิงชาวมุสลิมอายุต่ำกว่า 15 ปี ในเขตพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ นั้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2566 ได้พิจารณาคำร้อง ความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนบทบัญญัติของกฎหมาย หลักสิทธิมนุษยชน และเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) ได้รับรองสิทธิเด็กไว้ โดยมีหลักการพื้นฐานว่าการกระทำหรือการดำเนินการทั้งหลายต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นอันดับแรก เด็กมีสิทธิในการมีชีวิต การอยู่รอด และการพัฒนาทางด้านจิตใจ อารมณ์ สังคม รวมถึงสิทธิในการแสดงความคิดเห็นและการให้ความสำคัญกับความคิดเหล่านั้น อันสอดคล้องตามหลักการในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ว่าเด็กทุกคนย่อมได้รับการคุ้มครองโดยมาตรการต่าง ๆ ที่จำเป็นจากครอบครัว สังคมและรัฐ เช่นเดียวกับที่ได้รับรองไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546

แม้รัฐจะให้เสรีภาพแก่บุคคลในการนับถือศาสนาและการจัดตั้งครอบครัว ตามที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 31 และมาตรา 32 และกติกา ICCPR ซึ่งรวมไปถึงการให้การศึกษาทางศาสนาและศีลธรรมตามหลักศาสนาแก่บุตรตามความเชื่อของตน แต่ต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งข้อจำกัดที่บัญญัติโดยกฎหมาย และตามความจำเป็นเพื่อรักษาความปลอดภัย ความสงบเรียบร้อย สุขอนามัย หรือศีลธรรมของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพขั้นมูลฐานของบุคคลอื่นเท่านั้น ทั้งนี้ การให้การอบรมเลี้ยงดูเด็กที่อยู่ในความปกครอง แม้จะสามารถอยู่บนพื้นฐานตามธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมแห่งท้องถิ่น แต่ต้องไม่ต่ำกว่ามาตรฐานขั้นต่ำตามที่กำหนดในกฎหมาย และต้องคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็กไม่ให้อยู่ในภาวะอันน่าจะเกิดอันตรายแก่ร่างกายและจิตใจ

กสม. เห็นว่า การจัดให้มีการแต่งงานในวัยเด็กเป็นหนึ่งในปัญหาที่สหประชาชาติ คณะกรรมการประจำอนุสัญญา CRC และคณะกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบให้ความห่วงใย เพราะถือเป็นความรุนแรงต่อเด็กอย่างหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิเด็กในหลายมิติ เช่น ความเสี่ยงต่อการหลุดออกจากระบบการศึกษาภาคบังคับ ผลเสียต่อสุขภาพและการอนามัยเจริญพันธุ์จากการที่มีเพศสัมพันธ์ในขณะที่ร่างกายยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ และอาจส่งผลต่ออัตราการเสียชีวิตของเด็กเมื่อคลอดบุตร รวมถึงบุตรที่เกิดมามีความเสี่ยงสูงที่จะเสียชีวิตตั้งแต่วัยเยาว์ อีกทั้งยังอาจมีมิติซ้อนทับกับการแสวงหาประโยชน์ทางเพศหรือทางเศรษฐกิจต่อเด็กได้เช่นกัน

เมื่อพิจารณาประกอบกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) เป้าหมายที่ 5.3 ได้แก่การขจัดแนวปฏิบัติที่เป็นภัยทุกรูปแบบ อาทิ การแต่งงานในเด็กก่อนวัยอันควรและโดยการบังคับ ที่ประเทศไทยร่วมลงนามดำเนินการตามเป้าหมายดังกล่าว ตลอดจนข้อสังเกตเชิงสรุปของคณะกรรมการประจำอนุสัญญา CRC และคณะกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาการแต่งงานในวัยเด็กเป็นหนึ่งในปัญหาที่ทั่วโลกต้องเร่งรัดการดำเนินการเพื่อยุติการปฏิบัติที่ถือเป็นความรุนแรงต่อเด็ก ทั้งมาตรการด้านการบริหารและมาตรการด้านนิติบัญญัติ เพื่อคุ้มครองไม่ให้เกิดการแต่งงานในวัยเด็กหรือการบังคับแต่งงานทุกกรณี โดยประเทศไทยได้ให้คำรับรองต่อคณะกรรมการ Universal Periodic Review (UPR) ในกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เมื่อปี 2559 ว่าประเทศไทยจะดำเนินการปรับเกณฑ์อายุขั้นต่ำในการสมรสเป็น 18 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล แต่พบว่าจนถึงปัจจุบัน กระบวนการพิจารณาปรับหลักเกณฑ์อายุขั้นต่ำยังไม่ลุล่วงบริบูรณ์ ทั้งนี้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ประเทศไทยบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน ได้กำหนดอายุขั้นต่ำในการสมรสไว้ที่ 17 ปีบริบูรณ์ ขณะเดียวกัน แนวทางตามประกาศของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยได้ปรับปรุงอายุขั้นต่ำในการสมรสให้เป็น 17 ปีบริบูรณ์ เพื่อให้สอดคล้องตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่ก็ยังเป็นอายุที่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดในอนุสัญญา CRC และมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากลที่ไทยเป็นภาคี รวมถึงยังมีช่องทางที่เปิดโอกาสให้มีการใช้ดุลพินิจพิจารณาอนุญาตให้บุคคลที่มีอายุต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติทำการสมรสได้

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น กสม. จึงเห็นว่า การที่ประเทศไทยไม่ดำเนินการปรับเกณฑ์อายุขั้นต่ำในการสมรสตามข้อท้วงติงในรายงาน UPR หรือข้อสังเกตเชิงสรุปของคณะกรรมการประจำอนุสัญญา CRC และคณะกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ จึงเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันหรือแก้ไข ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเด็กในประเด็นการแต่งงานในวัยเด็ก จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ดังนี้

(1) ข้อเสนอแนะในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ในระยะเบื้องต้นก่อนการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ให้ดาโต๊ะยุติธรรม โต๊ะอิหม่ามประจำมัสยิด ดำเนินการอนุญาตสมรสตามกระบวนการที่บัญญัติในระเบียบคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยว่าด้วยการสมรส (นิกาห์) บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 17 ปี พ.ศ. 2561 โดยยึดหลักการคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นที่ตั้ง และป้องกันไม่ให้เกิดการแสวงหาประโยชน์ต่อเด็กทั้งในด้านเศรษฐกิจหรือทางเพศ โดยเมื่อมีการสมรสเกิดขึ้น ขอให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดรวบรวมสถิติให้แก่กระทรวงมหาดไทยเพื่อเป็นเจ้าภาพดำเนินการเก็บสถิติการแต่งงานในวัยเด็ก โดยประสานงานส่งให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เพื่อใช้ประเมินสถานการณ์และประสานการคุ้มครองกรณีพบการแต่งงานในวัยเด็กหรือการบังคับแต่งงานในวัยเด็ก

นอกจากนี้ ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ออกมาตรการดำเนินการตรวจสอบกรณีพบเห็นหรือได้รับการประสานเกี่ยวกับการแต่งงานในวัยเด็กที่อาจเข้าข่ายกรณีความรุนแรงต่อเด็ก เข้าข่ายการแสวงหาประโยชน์ทางเพศหรือทางเศรษฐกิจจากเด็ก และดำเนินการช่วยเหลือตามอำนาจหน้าที่ในบทบัญญัติพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546

(2) ข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขประชาสัมพันธ์ให้เห็นความสำคัญของการยุติปัญหาการแต่งงานในวัยเด็ก หรือการบังคับแต่งงาน และนำเสนอผลกระทบทางด้านสิทธิมนุษยชนแก่ประชาชนในระดับท้องถิ่น เพื่อให้ประชาชนเข้าใจความสำคัญในปัญหาดังกล่าว ตลอดจนประชาสัมพันธ์ช่องทางการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนด้วย นอกจากนี้ ในการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาสิทธิประโยชน์ตามบัญญัติอิสลาม ตามระเบียบคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยว่าด้วยการสมรส (นิกาห์) บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 17 ปี พ.ศ. 2561 ขอให้พิจารณาแต่งตั้งบุคคลที่มีความรู้ความเข้าใจในหลักสิทธิเด็กและสิทธิมนุษยชนเข้าไปในคณะอนุกรรมการเพื่อช่วยพิจารณาสัดส่วนผลประโยชน์สูงสุดของเด็กและคำขอสมรสในเด็กที่อายุต่ำกว่าเกณฑ์ด้วย

(3) ข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่ง
ให้คณะรัฐมนตรี กระทรวงยุติธรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยดำเนินการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ รวมถึงการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เพื่อปรับแก้เกณฑ์อายุขั้นต่ำในการแต่งงานให้เป็น 18 ปี และดำเนินการปรับปรุงหลักเกณฑ์และข้อปฏิบัติตามหลักการศาสนาอิสลามที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการบังคับแต่งงานในวัยเด็กทุกกรณี อาทิ กรณีที่เกิดขึ้นจากความยินยอมโดยสมัครใจของเด็ก กรณีที่เกิดโดยการบังคับด้วยเหตุแห่งเศรษฐกิจ กรณีการบังคับแต่งงานเป็นการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อเด็กสมัครใจล่วงประเวณี หรือกรณีการบังคับแต่งงานอันเป็นผลมาจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ อันถือเป็นองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ลักษณะ 9 ความผิดเกี่ยวกับเพศ

ทั้งนี้ เมื่อมีการดำเนินการปรับเกณฑ์อายุขั้นต่ำในการสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว ขอให้คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยพิจารณาปรับแก้อายุขั้นต่ำในการสมรสตามระเบียบคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยว่าด้วยการสมรส (นิกาห์) บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 17 ปี พ.ศ. 2561 ให้สอดคล้องกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ด้วย

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts