วันพฤหัสบดี, พฤษภาคม 22, 2025
หน้าแรกการเมืองเสียงเพรียก (เฮือก) สุดท้าย กกร.วอนนายกฯ ทบทวนมติ กพช."รื้อโครงสร้าง Pool Gas"ซ้ำเติมวิกฤติโยนภาคอุตสาหกรรมแบกภาระก๊าซแพง

Related Posts

เสียงเพรียก (เฮือก) สุดท้าย กกร.วอนนายกฯ ทบทวนมติ กพช.”รื้อโครงสร้าง Pool Gas”ซ้ำเติมวิกฤติโยนภาคอุตสาหกรรมแบกภาระก๊าซแพง

“…ท่ามกลางเศรษฐกิจไทยที่กำลังสะเปะสะปะ ไร้ทิศทางชัดเจน รัฐบาลยังเดินหน้า “รื้อโครงสร้าง Pool Gas” ทั้งที่เสียงคัดค้านจากภาคเอกชนดังกระหึ่ม กกร.เตือนชัด!!! นโยบายนี้ไม่ต่างจากการผลักต้นทุนก๊าซแพงให้ภาคอุตสาหกรรมต้องรับภาระมหาศาล—ทั้งที่ใช้ก๊าซเพียง 15% ของประเทศ หากปล่อยให้เดินหน้า ไทยอาจต้องสูญเสียความสามารถแข่งขัน พับฐานการผลิต และพลาดโอกาสดึงดูดการลงทุนจากทั่วโลก…”

ขณะที่รัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ต้อง “ถอยกรูด” มาตรการแจกเงินดิจิตอล 10,000 บาท ที่จะให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยตัดสินใจโยกงบ 1.57 แสนล้านไปใช้กับโครงการลงทุนด้าน Infrastructure โครงสร้างพื้นฐานแทน

หลังตัวเลขทิศทางเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะถดถอย-เผชิญกับความไม่แน่นอนสูงจากเศรษฐกิจโลกที่กำลังปั่นป่วนจากสงครามการค้าบทใหม่ ที่มาจากนโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ

เมื่อต้องมาเจอกับการดำเนินนโยบายรัฐที่แทบ “ไม่เป็นโล้เป็นพาย” ปราศจากทิศทางการขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรม ถนนลงทุนทุกสายจึงเลือกที่จะชะลอการลงทุนเอาไว้

บทสะท้อนหนึ่งที่ชี้ให้เห็นถึงความไม่เป็นเอกภาพ ไม่เป็นโล้เป็นพายของรัฐก็คือ เรื่องของนโยบายพลังงานที่ยังคงไม่ “ตกผลึก”

ขวบเดือนก่อนหน้านั้น คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทยได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี “แพทองธาร ชินวัตร” ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อคัดค้านการรื้อโครงสร้าง Pool Gas ของกระทรวงพลังงาน เพราะเห็นว่าไม่เป็นธรรมต่อภาคอุตสาหกรรม

เพราะแนวทางการรื้อโครงสร้าง Pool Gas ที่กระทรวงพลังงานตั้งแท่นดำเนินการอยู่นั้น เป็นการโยนภาระราคาก๊าซสูงสุดมาให้ภาคอุตสาหกรรมแบกรับทั้งหมด ทั้งที่มีสัดส่วนการใช้เพียง 15% ของปริมาณการใช้โดยรวมทั้งประเทศเท่านั้น

กกร.ระบุว่า การผลักภาระให้ภาคอุตสาหกรรมแบกรับต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติในราคาสูงแทนภาคอื่นๆ จะทำให้ต้นทุนของภาคอุตสาหกรรมปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 60% ผู้ประกอบการจะมีต้นทุนการผลิตสูงถึง 30,000 ล้านบาทต่อปี ส่งผลต่อเนื่องถึงการจ้างงานกว่า 1.9 ล้านคน ค่าครองชีพจะสูงขึ้นจากราคาสินค้าที่ปรับขึ้นตาม

ทั้งยังจะส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันและการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวม ความคาดหวังของรัฐบาลที่จะดึดดูดการลงทุนจากต่างประเทศจะลดลงไปโดยปริยาย นักลงทุนจะเบนเข็มไปลงทุนในประเทศอื่นแทน

ดูเหมือนข้อทักท้วงของ กกร.ข้างต้นจะไม่ได้รับการสนองตอบใดๆ จากรัฐบาล เพราะในการประชุม กพช.ที่มีนายกฯ แพทองธาร เป็นประธาน เมื่อต้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา นอกจากข่าวดีเรื่องที่ กพช.มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณากำหนดอัตราค่าไฟฟ้างวดเดือน ก.ย.–ธ.ค.68 ในอัตราไม่เกิน 3.99 บาทต่อหน่วยแล้ว

กพช.ยัง “ไฟเขียว” ข้อเสนอของนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รมว.พลังงานในการรื้อโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ โดยอ้างว่าเป็นการกำหนดต้นทุนก๊าซธรรมชาติให้เหมาะสมกับการใช้งานในแต่ละภาคส่วน

ซึ่งรายละเอียดเนื้อในการรื้อโครงสร้าง Pool Gas ดังกล่าวประกอบด้วย

1.ก๊าซที่เข้าและออกจากโรงแยกก๊าซ รวมทั้งก๊าซที่จะนำไปใช้ในการผลิต LPG สำหรับเป็นเชื้อเพลิง ให้ใช้ต้นทุนราคาก๊าซจากอ่าวไทย (Gulf Gas)

  1. ก๊าซสำหรับภาคไฟฟ้า และ NGV ให้ใช้ราคา Pool Gas ซึ่งเป็นราคาเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของราคาและปริมาณของก๊าซ โดยเรียงลำดับความสำคัญจากแหล่งก๊าซในประเทศ ก๊าซจากเมียนมา และ LNG ตามลำดับ

และ 3. ก๊าซสำหรับภาคอุตสาหกรรมให้ใช้ต้นทุนจากราคา LNG

มองอย่างผิวเผิน ทุกฝ่ายย่อมเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดี ทำให้ลดต้นทุนเชื้อเพลิงสำหรับการผลิตไฟฟ้า โดยยกเลิกระบบ Single Pool Gas ที่ปัจจุบันคิดเฉลี่ยเป็นราคาเดียวกันในทุกภาคส่วนแล้วโยนให้ภาคอุตสาหกรรมแบกรับภาระต้นทุน LNG นำเข้าซึ่งมีราคาสูงที่สุดไป เพราะเป็นภาคที่มีความแข็งแกร่งสุดในเวลานี้

แต่ความจริง การรื้อโครงสร้างแบบนี้เป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ สะท้อนให้เห็นว่า กระทรวงพลังงานมุ่งแต่ทำแต่นโยบายประชานิยมเอาใจฐานเสียงและมองแต่เรื่อง Maximize Vote โดยไม่ได้รับฟังเสียงสะท้อนจากฝ่ายต่างๆ อย่างรอบด้าน

ลำพังแค่เผชิญความตกต่ำทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวที่ชะลอตัวแถมอุตสาหกรรมการผลิตภายใน โดยเฉพาะเอสเอ็มอี (SME) ยังถูกสินค้าคุณภาพต่ำ-ราคาถูกจากจีนถล่มตลาดก็หนักหนาสาหัสเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ไหนยังจะเผชิญเผชิญกำแพง “ภาษีทรัมป์” ที่ทำเอาอุตสาหกรรมผลิต-ส่งออกของประเทศ “หายใจไม่ทั่วท้อง” ยังไม่รู้ว่ารัฐบาลจะเจรจาต่อรองกับสหรัฐฯ ได้เป็นผลดีกับประเทศมากน้อยแค่ไหน

เมื่อต้องมาเผชิญกับต้นทุนการผลิตที่มาจากนโยบายรื้อโครงสร้าง Pool Gas แล้วโยนภาระมาให้ภาคอุตสาหกรรมแบกรับเพียงกลุ่มเดียวเช่นนี้ ทั้งๆ ที่มีการประเมินกันว่าจะลดค่าไฟได้แค่ 0.15 บาท/หน่วยเท่านั้น เทียบไม่ได้เลยกับมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจหลายหมื่นล้านบาทที่จะตามมา

เป็นการซ้ำเติมให้ภาคอุตสาหกรรมสูญเสียความสามารถในการแข่งขันลงไปอีก อุตสาหกรรมไทยไม่ตายวันนี้ก็ไม่รู้จะไปตายวันไหน!

ที่จริง ข้อเรียกร้องของกกร.ที่มีไปยังรัฐบาลได้เสนอแนะให้รัฐบาลศึกษาความเป็นไปได้ในการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน เพื่อลดผลกระทบของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนอย่าง “สมดุลตลอดห่วงโซ่อุปทาน” รวมถึงพิจารณาแนวทางการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุของโครงสร้างพลังงานอย่างเหมาะสมและยั่งยืน

คงต้องกราบเรียนฯพณฯ “นายกฯ แพทองธาร” ในฐานะประธาน กพช.อีกครั้ง เสียงสะท้อน(เฮือกสุดท้าย)ของภาคอุตสาหกรรม และ กกร.ที่มีไปยังนายกฯในฐานะประธานกพช.ข้างต้น เป็นเรื่องที่ไม่อาจมองข้าม

หากแม้นเสียงเหล่านี้ถูกเพิกเฉยไม่ดูดำดูดี ยังคอดแต่ว่าเศรษฐกิจไทยยังหวังจะพึ่งพาแต่ “เอ็นเตอร์เทนเมนท์ คอมเพล็กซ์ ไม่ใช่กาสิโนคร้า” แล้วปล่อยให้รัฐมนตรีที่ไม่มีความรู้เศรษฐกิจ ไม่เข้าใจโครงสร้างพลังงาน คิดแต่จะฉวยโอกาสตีปี๊บนโยบายประชานิยมสุดขั้ว หวังแค่สร้างผลงานเอาใจมวลมหาประชาชนเช่นนี้

ก็ให้ระวังมันจะเป็น “ฟางเส้นสุดท้าย” ของรัฐบาลเอา หากท้ายท่สุดอุตสาหกรรมการผลิตและส่งออกของประเทศถึงครา “พับฐาน” ก็ไม่มีทางเยียวยา-กู้ซากกลับมาได้อีก!!!

สืบจากข่าว รายงาน

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts