จากกรณีที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 2 จังหวัดระยอง ได้ออกหมายจับ นายอิทธิพล คุณปลื้ม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกเมืองพัทยา โดยในที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบ ปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิด นายอิทธิพล คุณปลื้ม และพวก กรณีพิจารณาออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร (แบบ อ.1) เลขที่ 700/2551 ลงวันที่ 10 กันยายน 2551 ให้แก่บริษัท บาลี ฮาย จำกัด เพื่อก่อสร้างอาคารโครงการวอเตอร์ฟร้อนท์ บริเวณเชิงเขาพระตำหนัก เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
ซึ่งในที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติ 5 ต่อ 1 เสียง เห็นว่า นายอิทธิพล คุณปลื้ม มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมีมูลสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง และการออกหมายจับดังกล่าว เนื่องจากพนักงานอัยการสำนักงานปราบปรามคดีทุจริตภาค 2 ได้นัดตัวส่งฟ้องนายอิทธิพล เมื่อวันที่ 4 ก.ย.ที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่า นายอิทธิพล ไม่ได้เดินทางมาตามนัด ป.ป.ช.ในฐานะผู้ร้องจึงยื่นขอศาลออกหมายจับ เพื่อนำตัวยื่นฟ้องศาล ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าจำเลยทราบหมายโดยชอบแล้วไม่เดินทางมา มีพฤติการณ์หลบหนีให้ออกหมายจับในวันที่ 5 ก.ย.2566 แต่ในวันที่ 4 ก.ย.2566 นายอิทธิพล คุณปลื้ม ไม่เดินทางมาพบพนักงานอัยการ สำนักงานคดีปราบ ปรามการทุจริตภาค 2 ตามกำหนดนัดดังกล่าว จึงน่าเชื่อว่ามีพฤติการณ์หลบหนี ประกอบกับเรื่องดังกล่าวผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินกว่า 3 ปี อันเป็นเหตุที่จะออกหมายจับได้ตามประมาลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 66 จึงขอให้ศาลออกหมายจับเพื่อแจ้งให้พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจจัดการให้ได้ตัวผู้ถูกกล่าวหาตามหมายจับแล้วส่งอัยการสูงสุดดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ล่าสุดมีรายงานว่าสำหรับโครงการ “วอร์เตอร์ฟรอนด์ สวีท แอนด์ เรสซิเดนท์” พัทยา จ.ชลบุรี นั้นเป็นโครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียมสุดหรู ตั้งตระหง่านริมอ่าวพัทยา บริเวณท่าเรือแหลมบาลีฮาย ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี โดยเป็นโครงการที่มีขนาดความสูง 53 ชั้น ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 2 ไร่ 1 งาน 83 ตารางวา บริหาร งานโดย บริษัท บาลีฮาย จำกัดที่ได้ยื่นขอต่อใบอนุญาตก่อสร้างจากเมืองพัทยาในปี พ.ศ. 2551 จากจำนวนห้องพัก 312 ห้อง ซึ่งในครั้งนั้นมีกลุ่มลูกค้าทั้งชาวไทยและต่างชาติพากันเช่าซื้อในราคากันอย่างคึกคักสนน ราคาตั้งแต่ 4-12 ล้านบาท
ขณะที่ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากแหล่งข่าวระดับสูงในเมืองพัทยาว่าสำหรับกรณีที่ นายอิทธิพล คุณปลื้ม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกเมืองพัทยา และพวกได้พิจารณาออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร (แบบ อ.1) เลขที่ 700/2551 ลงวันที่ 10 กันยายน 2551 ให้แก่บริษัท บาลี ฮาย จำกัด เพื่อก่อสร้างอาคารโครงการวอเตอร์ ฟร้อนท์ บริเวณเชิงเขาพะตำหนัก เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี นั้นเป็นการพิจารณาอนุญาตด้วยเพราะมีการขออนุญาตอย่างถูกต้อง โดยทางโครงการได้ยื่นเอกสารสำคัญประกอบการพิจารณา ทั้งเรื่องกรรมสิทธิ์เอกสารการครอบครองที่ดิน แบบแปลนอาคาร รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA และข้อมูลอื่นๆประกอบร่วมเพื่อให้เมืองพัทยาตรวจสอบ
โดยขณะนั้นยังไม่มีเรื่องของการพิจารณาหรือคำสั่งในเรื่องของที่ดินว่ามีที่มาอย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่แต่อย่างใด ดังนั้นการพิจารณาออกใบอนุญาตจึงถือว่าเมืองพัทยาทำตามขั้นตอนตามกฎหมายทุกประการ รวมไปถึงการพิจารณาต่อใบอนุญาตครั้งแรกหลังผ่านพ้นเวลาตามกำหนดของกฎหมายในระยะเวลา 2 ปี ซึ่งมีเงื่อนไขของการพิจารณาว่าโครงการจะต้องมีความคืบหน้าการก่อสร้างไปในสัดส่วน 10 % ก็พบว่ามีการดำเนินโครงการตามกรอบที่กฎหมายกำหนดจึงได้มีการต่อใบอนุญาตไปให้
กระทั่งสุดท้ายในช่วงปลายปี 2551 นายอิทธิพล คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยาขณะนั้น ได้มีคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างโครงการโดยระบุว่า เมืองพัทยาไม่สามารถต่อใบอนุญาตก่อสร้างในรอบที่ 3 ให้ได้เนื่องจากตรวจพบว่ามีการก่อสร้างผิดแบบตั้งแต่ฐานราก รวมทั้งตำแหน่งช่องลิฟต์และบันไดหนีไฟ และยังได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สำนักการช่าง เข้าตรวจสอบสภาพตัวอาคารเพื่อให้แก้ไขรายละเอียดแบบแปลนรวม 42 จุด กระทั่งในช่วงปลายปี 2559 ทางโครงการฯ ได้แจ้งต่อเมืองพัทยาว่าพร้อมปฏิบัติตามเงื่อนไขและข้อกำหนดตามกฎหมาย รวมทั้งการลดระดับความสูงของอาคารลง 8 ชั้น เพื่อลดผลกระทบต่อภาคประชาชนที่กำลังต่อต้านอย่างหนัก
เนื่องจากโครงการบดบังภูมิทัศน์และตั้งขวางแนวอนุสาวรีย์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ บนเขา สทร.5 พัทยา โดยในช่วงที่ เมืองพัทยา ยังไม่ออกใบอนุญาตให้ดำเนินการก่อสร้าง พร้อมมอบหมายให้นิติกรเข้าแจ้งความดำเนินคดีต่อบริษัท บาลีฮาย จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการใน 2 ข้อหาคือ 1.ฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่น และ 2.บุกรุกพื้นที่สาธารณะบริเวณเชิงเขา จนต่อมาทำให้กลุ่มผู้ซื้อห้องพักรวมตัวเพื่อเรียก ร้องสิทธิ และความเสียหาย ทำให้โครงการต้องยื่นเรื่องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อขอฟื้นฟูกิจการหลังต้องแบกภาระหนี้กว่า 2.39 พันล้านบาทในปี 2561 แต่ศาลไม่รับคำร้อง
ต่อมา นายอภิชาต วีปรปาล รองนายกเมืองพัทยา ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของ คสช.ในปี 2560 ได้ลงนามคำสั่งเมืองพัทยาแบบ ค.15 เลขที่ 367/2560 ประกาศให้มีการรื้อถอนอาคารตามมาตรา 4 และ 43 วรรคสาม (กรณีที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาต แก้ไขเปลี่ยนแปลงอาคาร หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงใบอนุญาต) โดยแจ้งความไปยัง บริษัท บาลีฮาย จำกัด ซึ่งระบุว่าตามที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นได้มีคำสั่งให้ระงับการก่อสร้าง ดัดแปลง เคลื่อนอาคาร การรื้อถอนอาคาร ตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง
กรณีที่กระทำผิดไปจากที่ได้รับอนุญาตหรือคำสั่งห้ามใช้อาคารหรือยินยอมให้บุคคลใดใช้อาคารที่อาจเป็นภยันตรายตามมาตรา 40 วรรคหนึ่งและมาตร 41 วรรคหนึ่งฯ ซึ่งปรากฏว่าทางโครงการมิได้ดำเนินการให้เสร็จภายในเวลาที่กำหนด จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 42 และ มาตรา 43 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 25111 ให้ทำการรื้ออาคาร ค.ส.ล.50 ชั้น 3 ชั้นใต้ดิน ขนาด 19.70×91.35 เมตรจำนวน 1 หลัง ในส่วนที่ไม่ตรงกับแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตให้แล้วเสร็จใน 365 วันหลังได้รับคำสั่ง โดยหากพ้นระยะเวลาที่กำหนดก็จะดำเนินการทางกฎหมาย
จนมาในปี 2563 นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยาคนต่อมา ได้ลงนามหนังสือประกาศคำสั่ง เมืองพัทยาที่ ชล. 52304/9377 ลงวันที่ 27 ต.ค.2563 ออกประกาศเชิญชวนภาคเอกชนร่วมเสนอราคาและวิธีการรื้อถอนอาคารอย่างเป็นทางการอีกครั้ง โดยมีเนื้อหาระบุว่า เมืองพัทยาจำเป็นต้องดำเนินการรื้อถอนอาคารโครงการฯ ซึ่งก่อสร้างผิดแบบจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตหลังมีคดีความยืดเยื้อมานานนับ 10 ปี จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในสังคมว่าโครงการดังกล่าวจะจบลงอย่างสวยงาม และมีการใช้อำนาจทางกฎหมายเข้ามาดำเนินการได้จริงเพียงใด จนปัจจุบันทาง ป.ป.ช. ได้มีมติชี้มูลความผิด นายอิทธิพล คุณปลื้ม อดีตนายกเมืองพัทยา พร้อมพวกออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารดังกล่าวไม่ถูกต้องตามกฏหมาย
มีรายงานเพิ่มเติมว่าในเวลาต่อมาทางคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จังหวดชลบุรี ได้มีมติยกเลิกเพิกถอนคำสั่งรื้อถอนของเมืองพัทยา โดยระบุว่าทางโครงการได้มาเสนอเรื่องเพื่อดำเนินการก่อสร้างและแก้ไขแบบแปลนต่อแต่เมืองพัทยาไม่พิจารณาอนุญาต อีกทั้งยังมีประเด็นเรื่องของการลงนามคำสั่งรื้อถอนอาคารนั้นพบ ว่าเป็นการลงนามของเจ้าพนักงานท้องถิ่นซึ่งไม่มีอำนาจในการออกคำสั่งดังกล่าว จนมาในช่วงปลายปี 2565 ทางโครงการจึงได้มายื่นขอต่อใบอนุญาตก่อสร้างอีกครั้ง และเมืองพัทยากำลังพิจารณาความเหมาะสมแต่ก็มีหนังสือจาก ป.ป.ช.ให้ระงับการอนุญาตโครงการด้วย เพราะที่ดินที่ตั้งของโครงการมีการครอบครองกรรมสิทธิ์ที่ดินที่มาอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
ขณะที่ ชาวบ้าน ส่วนใหญ่แสดงความคิดเห็นว่า ถ้าตึกยังคงปล่อยร้างไว้ก็อาจจะสร้างอันตรายต่อชาวบ้าน และนักท่องเที่ยว ที่เดินมาบริเวณท่าเทียบเรือแหลมบาลีฮาย ข้ามฟากไปเกาะล้านเมืองพัทยา และอีกมุมหนึ่ง ถ้าหากเป็นไปได้ก็อยากจะให้ตึกได้มีสิทธิ์ดำเนินการสร้างต่อให้เสร็จเพื่อความสวยงาม ดีกว่าปล่อยให้ร้างแล้วมานั่งหวาดระแวงกัลเหตุการณ์ไม่คาดฝัน.