พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. กล่าวว่า ในปัจจุบันอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้สร้างความเสียหาย และสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนเป็นจำนวนมาก เนื่องจากมิจฉาชีพสามารถเข้าถึงประชาชนได้หลากหลายช่องทาง ไม่ว่าเป็นจากช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ จากการส่งข้อความสั้น (SMS) และจากเครือข่ายโทรศัพท์มือถือต่างๆ แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ และหน่วยงานเอกชน โดยมิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์ (Call Center) จะมีรูปแบบการทำงานเป็นขบวนการ มีการแบ่งหน้าที่กันทำ หลอกลวงข่มขู่เหยื่อให้เกิดความกลัว หรือหลอกลวงให้เกิดความโลภ ใช้ความไม่รู้ของประชาชนเป็นเครื่องมือ โดยที่ผ่านมาตรวจสอบพบว่ามีหลากหลายรูปแบบ เช่น การแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย หรือเจ้าหน้าที่บริษัทขนส่งสินค้า แจ้งไปยังผู้เสียหายว่าบัญชีธนาคาร หรือพัสดุที่จัดส่งไปยังต่างประเทศมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดกฎหมาย หรือบัญชีธนาคารของผู้เสียหายถูกอายัด หรือเป็นหนี้ยังไม่ชำระบัตรเครดิต หรือเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติด เกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน เป็นบุคคลตามหมายจับ รวมไปถึงหลอกลวงว่าได้รับเงินคืนภาษี ได้รับรางวัลต่างๆ หรือหลอกสอบถามข้อมูลส่วนตัวเพื่อนำไปใช้ในการแสวงหาผลประโยชน์โดยผิดกฎหมาย นอกจากนี้แล้วยังมีการหลอกให้ติดตั้งแอปพลิเคชันของหน่วยงานปลอมที่สามารถควบคุมโทรศัพท์มือถือโอนเงินออกจากบัญชีอของผู้เสียหาย เป็นต้น
ที่ผ่านมา บช.สอท. โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้เร่งรัดขับเคลื่อนของนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดอาชญากรรมออนไลน์ในทุกรูปแบบ รวมถึงการสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ ส่งข้อความสั้น (SMS) หรือโทรศัพท์ไปหลอกลวงเอาทรัพย์สินของประชาชนสร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง ทั้งนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ได้ร่วมกันแสวงหาแนวทาง และวางมาตรการป้องกันในการแก้ไขปัญหาภัยออนไลน์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นโครงการเตือนภัยไซเบอร์วัคซีน การทำบันทึกข้อตกลง (MOU) กับสถาบันการเงิน การบังคับกฎหมายตาม พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 การแก้ไขการรับจ้างการเปิดบัญชีธนาคาร การครอบครองซิมโทรศัพท์มือถือ การอายัดบัญชีธนาคารอย่างรวดเร็วให้ทันท่วงที การตรวจจับบัญชี หรือการทำธุรกรรมการเงินที่ต้องสงสัย และการยืนยันตัวตนก่อนทำธุรกรรมการเงินที่มีวงเงินสูง เป็นต้น
นอกจากนี้แล้วยังมีปฏิบัติการในหลายมิติที่สำคัญๆ หลายครั้ง อาทิ การปฏิบัติการตัดวงจรซิม-สาย-เสา การจับกุมข้าราชการนำข้อมูลไปขายให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ การร่วมมือกับเจ้าหน้าที่หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายต่างประเทศทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกเหยื่อ ความเสียหายกว่า 3 พันล้านบาท ยุทธการโค่นเสาสัญญาณ หรือสถานีเถื่อนชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น
แต่ที่ผ่านมายังคงตรวจสอบพบมีผู้เสียหายหลายรายถูกมิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์แอบอ้างเป็นพนักงานผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ และแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่สำนักงาน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แจ้งผู้เสียหายว่าได้เปิดใช้บริการซิมโทรโทรศัพท์มือถือในพื้นที่จังหวัดต่างๆ เช่น จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดตาก หรือจังหวัดอื่นๆ ที่อยู่ห่างไกล โดยหมายเลขที่เปิดใช้บริการในชื่อของผู้เสียหายนั้น ถูกนำไปใช้กระทำผิดกฎหมายต่างๆ หรือถูกนำไปใช้หลอกลวงบุคคลอื่น โดยแจ้งอีกว่าหากผู้เสียหายไม่ได้เป็นผู้เปิดใช้บริการ ให้ไปดำเนินการแจ้งความยังสถานีตำรวจท้องที่ที่ถูกเปิดใช้งานดังกล่าว แต่หากไม่สามารถเดินทางไปได้ สามารถทำการแจ้งความออนไลน์ผ่านช่องทางไลน์ของสถานีตำรวจดังกล่าวได้ เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อติดต่อไปยังไลน์สถานีตำรวจซึ่งถูกมิจฉาชีพปลอมขึ้นแล้ว ระหว่างการติดต่อผู้เสียหายจะได้รับแจ้งว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน ต้องทำการโอนเงินที่มีอยู่ในบัญชีมาตรวจสอบเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ พร้อมทั้งข่มขู่ห้ามมิให้ผู้เสียหายแจ้ง หรือติดต่อกับบุคคลใดในระหว่างการโอนเงิน รวมถึงมีการส่งเอกสาราชการปลอมให้ผู้เสียหายตรวจสอบ มีการสร้างสภาพแวดล้อมให้ผู้เสียหายได้ยินเสียงว่าคุยอยู่กับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สถานีตำรวจจริงอีกด้วย
การกระทำลักษณะดังกล่าวเข้าข่ายความผิดฐาน “ ร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นคนอื่น, ร่วมกันเป็นอั้งยี่, ร่วมกันเป็นซ่องโจร, ร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ, ร่วมกันโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน และร่วมกันฟอกเงิน ” หรือกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
โฆษก บช.สอท. กล่าวอีกว่า สิ่งแรกที่มิจฉาชีพมักจะทำคือการสร้างความน่าเชื่อถือต่อผู้เสียหาย โดยการทราบชื่อนามสกุลของผู้เสียหาย ใช้จิตวิทยาเล่นกับอารมณ์ความรู้สึกของเหยื่อ มีการเขียนบทสนทนาให้มิจฉาชีพใช้พูดคุยกับเหยื่อ มีการแต่งกายเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ และสร้างสภาพแวดล้อมให้เหมือนจริง เพื่อทำให้เหยื่อคล้อยตามหลงเชื่อ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วยในการหลอกลวง เช่น การใช้ระบบตอบรับอัตโนมัติ IVR (Interactive Voice Response) หรือเทคโนโลยี Deepfake เป็นต้น เพราะฉะนั้นประชาสัมพันธ์ไปยังประชาชน ให้พึงระมัดระวังการรับสายโทรศัพท์หมายเลขที่ไม่คุ้นเคย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหมายเลขที่โทรมาจากต่างประเทศ ปัจจุบันจะมีเครื่องหมาย+697 ให้ท่านตั้งสติ อย่าตื่นตระหนก อย่าเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว และข้อมูลทางการเงินกับผู้ใดโดยเด็ดขาด พร้อมขอประชาสัมพันธ์แนวทางป้องกันภัยจากมิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ดังนี้
1.ไม่มีนโยบายของเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ หรือหน่วยงานเอกชน ที่จะต้องโทรศัพท์ไปยังประชาชน เพื่อแสดงเอกสารราชการ กล่าวอ้างว่าท่านกระทำความผิด หรือมีส่วนในการกระทำความผิด หากพบการกระทำดังกล่าว สันนิษฐานได้ว่าเป็นมิจฉาชีพแน่นอน
2.ไม่ตกใจกลัว ไม่เชื่อเรื่องราวต่างๆ จากบุคคลที่ไม่รู้จัก ให้วางสายการสนทนาดังกล่าว ตรวจสอบก่อนโดยการโทรศัพท์ไปยังหมายเลขคอลเซ็นเตอร์ของหน่วยงานนั้นๆ โดยตรง หรือโทรศัพท์สอบถามไปยังสายด่วนตำรวจไซเบอร์ หมายเลข 1441
3.ไม่โอนเงิน หากมีคำพูดว่าให้โอนเงินมาตรวจสอบเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ หรือเพื่อสิ่งใดก็ตาม นั่นคือแก๊งคอลเซ็นเตอร์มิจฉาชีพอย่างแน่นอน
4.ไม่เพิ่มเพื่อนทางแอปพลิเคชันไลน์เพื่อติดต่อกับเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ โดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานีตำรวจ หรือหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายต่างๆ
5.ไม่ให้ข้อมูลส่วนตัว และข้อมูลการเงินกับผู้ใดทั้งนั้น เช่น เลขบัตรประชาชน เลขบัญชีธนาคาร รหัสหลังบัตร รหัส OTP เป็นต้น
6.ท่านสามารถบล็อกสายเรียกเข้าที่มาจากต่างประเทศได้ ด้วยการกด 1381# แล้วโทรออก
7.ติดตั้งแอปพลิเคชัน Whos Call เพื่อแจ้งเตือนระบุตัวตนสายเรียกเข้าที่ไม่รู้จัก ป้องกันภัยจากมิจฉาชีพที่อาจโทรศัพท์มาหลอกลวง
8.ดูแล แจ้งเตือน ผู้สูงอายุ บุคคลใกล้ตัว เพื่อลดโอกาสในการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ