นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และนางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เข้าพบ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) หัวหน้าส่วนราชการและผู้แทนหน่วยงานสาธารณสุข ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค รองอธิบดีกรมอนามัย รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข โดยได้หารือถึงแนวทางการลดความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพ ซึ่งปัจจุบันสวัสดิการในระบบสุขภาพของประชาชนแต่ละกลุ่ม ทั้งกลุ่มผู้มีสิทธิในระบบสวัสดิการข้าราชการ ผู้ประกันตนในระบบกองทุนประกันสังคม และผู้สิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง มีสิทธิประโยชน์และข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขแตกต่างกัน กสม. จึงเสนอให้มีการกำหนดแนวทางในการจัดบริการสุขภาพของประชาชนทุกกลุ่มให้มีมาตรฐานขั้นต่ำเช่นเดียวกัน
กสม. ยังได้หารือกับ สธ. ถึงแนวทางการส่งเสริมการเข้าถึงบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (Promotion and Prevention : P&P) โดยได้รับทราบว่าปัจจุบัน สธ. อยู่ระหว่างการจัดทำแนวปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ซึ่งบัญญัติรับรองสิทธิของบุคคลทุกคนในการรับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ กสม. ยังได้นำเสนอประเด็นการเข้าถึงบริการสุขภาพของกลุ่มแรงงานข้ามชาติและคนต่างด้าวซึ่งขึ้นทะเบียนและซื้อประกันสุขภาพตามกฎหมาย แต่ประสบปัญหาในการเข้าถึงบริการ เช่น ไม่มีสถานพยาบาลในพื้นที่ เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบไม่เพียงพอ เป็นต้น โดยได้หารือถึงความเป็นไปได้ในการถ่ายโอนภารกิจการบริหารจัดการกองทุนประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวและคนต่างด้าวไปให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่ง สธ.ได้รับทราบปัญหาและมอบหมายให้กองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ศึกษาแนวทางแก้ไขต่อไป
นอกจากการประสานความร่วมมือกับทางกระทรวงสาธารณสุขแล้ว เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2566 กสม. ได้ประชุมร่วมกับคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา เพื่อหารือถึงความร่วมมือในการสร้างความปลอดภัยทางถนน ซึ่งเกี่ยวโยงกับสิทธิที่จะมีชีวิตอย่างปลอดภัยของประชาชนอันเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ตามที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันกับองค์การอนามัยโลก (WHO) เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน และ ครม.มีมติ เมื่อปี 2553 กำหนดทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนนขึ้น ซึ่งปัจจุบันอยู่ในช่วงทศวรรษที่ 2 (พ.ศ. 2564 – 2573) ประกอบกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ได้กำหนดเป้าหมายในการลดอัตราการเสียชีวิตจากเหตุที่ป้องกันได้ให้บรรลุเป้าหมายในปี 2570
ในการนี้ กสม. เห็นควรร่วมมือกับคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา ขับเคลื่อนให้เกิดความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน ลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งนำไปสู่การบาดเจ็บและเสียชีวิต โดยที่ผ่านมา กสม. เคยมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายไปยังรัฐบาลเพื่อให้เกิดการคุ้มครองสิทธิที่จะมีชีวิตอย่างปลอดภัยบนท้องถนนของประชาชนแล้ว ซึ่งมุ่งเน้นที่การป้องกันและลดอุบัติเหตุในระดับนโยบาย อย่างจริงจัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีมาตรการประกันความปลอดภัยของยานพาหนะอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถโดยสารสาธารณะและรถที่มีการดัดแปลงสภาพ ทั้งนี้ สำนักงาน กสม. กับ คณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา มีนโยบายที่จะทำโครงการ/กิจกรรมเพื่อนำไปสู่เป้าหมายการลดอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนจากอุบัติเหตุร่วมกัน โดยจะประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดการบูรณาการทำงานร่วมกันต่อไป
“สิทธิในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข การได้รับการรักษาพยาบาล และสิทธิในการมีชีวิตอยู่อย่างปลอดภัย เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่รัฐต้องคุ้มครองและส่งเสริมให้แก่ประชาชนทุกคน กสม. จึงเห็นถึงความสำคัญในการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ เช่น กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานนิติบัญญัติ เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาในระดับนโยบายและในทางปฏิบัติ” นายวสันต์ กล่าว