นายชนินทร์ เกตุปราชญ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า เมื่อเดือนสิงหาคม 2566 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ต้องขังของเรือนจำกลางเขาบิน จังหวัดราชบุรี ระบุว่า เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2566 เจ้าพนักงานเรือนจำกลางเขาบิน (ผู้ถูกร้องที่ 1) ได้เรียกผู้ร้องเข้าสอบถามว่าผู้ร้องได้เขียนข้อความลงในกระดาษโดยใช้ถ้อยคำหยาบคายต่อเจ้าพนักงานเรือนจำกลางเขาบินหรือไม่ ผู้ร้องปฏิเสธและไม่ทราบว่ากระดาษแผ่นนั้นมาจากที่ใด แม้จะมีการเทียบลายมือที่เขียนข้อความดังกล่าวกับลายมือในจดหมายของผู้ร้องแล้วปรากฏว่าไม่เหมือนกัน แต่เป็นเหตุให้ผู้บัญชาการเรือนจำกลางเขาบิน (ผู้ถูกร้องที่ 2) มีคำสั่งย้ายผู้ร้องไปคุมขังยังแดนความมั่นคงสูงสุดโดยไม่ได้แจ้งเหตุผลให้ทราบ รวมถึงไม่เปิดโอกาสให้ชี้แจงข้อเท็จจริง นอกจากนี้ เจ้าพนักงานเรือนจำกลางเขาบิน ยังมีพฤติกรรมเอื้อประโยชน์ต่อผู้ต้องขังซึ่งเป็นผู้ช่วยงาน จึงขอให้ตรวจสอบ
กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงของทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้อง แล้วเห็นว่า กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ได้รับรองว่าระบบราชทัณฑ์จะต้องปฏิบัติต่อผู้ต้องขังโดยมีจุดประสงค์ที่สำคัญเพื่อให้ผู้ต้องขังกลับตัวและเตรียมพร้อมที่จะกลับเข้าไปในสังคมร่วมกับผู้อื่นโดยที่ไม่กระทำผิดกฎหมายมากกว่าที่จะเป็นการลงโทษเพื่อให้เกิดความเข็ดหลาบ ประกอบกับข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำแห่งองค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง (United Nations Standard Minimum Rules for the Treatment of Prisoners) กำหนดไว้ว่า การจะลงโทษผู้ต้องขังจะต้องเป็นไปตามข้อกำหนดและเงื่อนไขของกฎหมาย รวมถึงหลักการว่าด้วยความเป็นธรรม
จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงปรากฏว่า เจ้าพนักงานเรือนจำกลางเขาบิน (ผู้ถูกร้องที่ 1) ได้ตรวจพบกระดาษที่มีข้อความด่าทอโดยใช้ถ้อยคำหยาบคายต่อเจ้าพนักงานเรือนจำ เมื่อมีการตรวจค้นตู้ล็อกเกอร์ของผู้ต้องขังพบจดหมายและเอกสารในตู้ของผู้ร้อง จากการเปรียบเทียบลายมือแล้วมีลักษณะคล้ายคลึงกัน จึงได้เรียกผู้ร้องมาสอบถามข้อเท็จจริง โดยมีการบันทึกเสียงไว้เป็นหลักฐาน แต่ผู้ร้องปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำ แม้ผู้ร้องจะใช้วาจาก้าวร้าวต่อเจ้าพนักงานเรือนจำ แต่เป็นเพราะถูกกล่าวหา และอยู่ในสถานะเป็นผู้ต้องสงสัย ประกอบกับในขณะนั้นเจ้าพนักงานเรือนจำ ไม่มีพยานบุคคลที่รู้เห็นเหตุการณ์หรือมีหลักฐานอื่นที่ยืนยันได้ว่าผู้ร้องกระทำการดังกล่าว การที่เจ้าพนักงานเรือนจำกลางเขาบิน ผู้ถูกร้องที่ 1 เห็นว่าผู้ร้องมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม และได้รายงานข้อเท็จจริงและเสนอความเห็นต่อผู้บัญชาการเรือนจำกลางเขาบินให้ใช้อำนาจย้ายผู้ร้องจากแดน 6 ไปคุมขังแดนความมั่นคงสูงสุดทันทีภายหลังเกิดเหตุ โดยไม่ปรากฏว่ามีการรับฟังผลการตรวจสอบของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ซึ่งผู้บัญชาการเรือนจำฯ ก็ได้ให้ความเห็นชอบย้าย โดยอาศัยอำนาจตามข้อ 11 ของระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการคุมขังและการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังในแดนความมั่นคงสูงสุดและเรือนจำความมั่นคงสูงสุด พ.ศ. 2561 แต่การใช้อำนาจดังกล่าวจะต้องคำนึงถึงหลักการว่าด้วยความเป็นธรรม และต้องประกันความได้สัดส่วนระหว่างมาตรการลงโทษทางวินัยกับความผิดที่ผู้ร้องได้ก่อขึ้น เพื่อเป็นหลักประกันว่ากระบวนการลงโทษทางวินัยจะมีความเป็นธรรมต่อผู้ต้องขัง ประกอบกับกองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ตรวจพิสูจน์และมีความเห็นว่า ลายมือที่เขียนข้อความในแผ่นกระดาษดังกล่าว เมื่อเปรียบเทียบกับตัวอย่างลายมือของผู้ร้องแล้ว ไม่อาจลงความเห็นอย่างหนึ่งอย่างใดได้ นอกจากนี้ คณะกรรมการพิจารณาการคัดย้ายผู้ต้องขังแดนความมั่นคงสูงสุด เรือนจำกลางเขาบิน ยังมีความเห็นว่า การกระทำของผู้ร้องยังไม่เข้าลักษณะพฤติการณ์ดื้อด้านยากต่อการปกครองแต่อย่างใด ดังนั้น จึงเห็นว่าเจ้าพนักงานเรือนจำกลางเขาบินและผู้บัญชาการเรือนจำกลางเขาบิน กระทำการไม่สอดคล้องตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ทำให้ผู้ร้องถูกจำกัดสิทธิและเสรีภาพเกินสมควรแก่เหตุ อีกทั้งยังถูกลงโทษทางวินัยโดยไม่เป็นธรรม อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ส่วนกรณีร้องเรียนว่า เจ้าพนักงานเรือนจำกลางเขาบินปฏิบัติหน้าที่โดยเอื้อประโยชน์ต่อผู้ต้องขังที่เป็นผู้ช่วยงานหรือไม่นั้น พิจารณาว่าพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 และกฎกระทรวงกำหนดทรัพย์สินของผู้ต้องขังเป็นสิ่งของที่อนุญาตหรือไม่อนุญาตให้เก็บรักษาไว้ในเรือนจำ พ.ศ. 2563 ให้อำนาจเจ้าพนักงานเรือนจำมีหน้าที่ในการปฏิบัติการจู่โจมตรวจค้นภายในเรือนจำเพื่อป้องปรามการกระทำความผิด และการครอบครองสิ่งของต้องห้าม โดยข้อเท็จจริงตามคำร้องพบว่าการที่เจ้าพนักงานเรือนจำกลางเขาบิน ผู้ถูกร้องที่ 1 ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ผู้บังคับแดน 6 มีหน้าที่ในการควบคุมดูแลผู้ต้องขัง รวมทั้งตรวจตราป้องกันการกระทำผิดวินัยกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ต้องขังครอบครองสิ่งของต้องห้ามย่อมมีอำนาจเข้าตรวจค้นได้ เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายและเป็นการรักษาระเบียบวินัยภายในเรือนจำอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้ผู้ต้องขังกระทำผิดวินัย โดยไม่ปรากฏหลักฐานว่าเจ้าพนักงานเรือนจำได้เอื้อประโยชน์ กลั่นแกล้ง เลือกปฏิบัติต่อผู้ต้องขังเป็นการเฉพาะราย จึงยังไม่อาจรับฟังได้ว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2567 จึงมีข้อเสนอแนะต่อกรมราชทัณฑ์ในฐานะหน่วยงานบังคับบัญชาให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเยียวยาผู้ร้องเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ที่อาจเสียไประหว่างที่ถูกย้ายเข้าคุมขังยังแดนความมั่นคงสูงสุด นอกจากนี้ให้แก้ไขปรับปรุงระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการคุมขังและการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังในแดนความมั่นคงสูงสุด และเรือนจำความมั่นคงสูงสุด พ.ศ. 2561 ข้อ 11 เกี่ยวกับการใช้อำนาจของผู้บัญชาการเรือนจำในการคัดย้ายผู้ต้องขังที่อยู่ในการคุมขังของเรือนจำความมั่นคงสูงสุด เข้าคุมขังยังแดนความมั่นคงสูงสุดภายในเรือนจำ หรือกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ขั้นตอน หรือพฤติการณ์การใช้อำนาจโดยคำนึงถึงหลักความเป็นธรรมและหลักสิทธิมนุษยชน