วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
หน้าแรกสืบเศรษฐกิจเศรษฐกิจมหาภาค-นโยบายเศรษฐกิจอดีตผู้ว่า แบงก์ชาติ ชี้ นโยบายการเงิน แค่ “น้ำเกลือ” ชี้ “นโยบายกระจายสภาพคล่องทางการเงิน” สำคัญกว่า

Related Posts

อดีตผู้ว่า แบงก์ชาติ ชี้ นโยบายการเงิน แค่ “น้ำเกลือ” ชี้ “นโยบายกระจายสภาพคล่องทางการเงิน” สำคัญกว่า

27 กุมภาพันธ์ 2567 อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โพสต์เฟซบุ๊ก  ระบุ  เศรษฐกิจไทยมีปัญหาที่โครงสร้าง “นโยบายการเงิน” เป็นเพียงแค่ “น้ำเกลือ” แนะควรให้ความสำคัญกับ “นโยบายกระจายสภาพคล่องทางการเงิน” มากกว่า “นโยบายการเงิน”

นายวิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โพสต์เฟซบุ๊ก  ระบุ  เศรษฐกิจไทยมีปัญหาที่โครงสร้าง “นโยบายการเงิน” เป็นเพียงแค่ “น้ำเกลือ” แนะควรให้ความสำคัญกับ “นโยบายกระจายสภาพคล่องทางการเงิน” มากกว่า “นโยบายการเงิน”

นายวิรไท ระบุ เวลาที่พูดถึง นโยบายเศรษฐกิจมหภาค คนทั่วไปมักนึกถึงนโยบายหลัก 3 ด้าน คือนโยบายการคลัง นโยบายการเงิน และนโยบายปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ นโยบายแต่ละด้านมีวัตถุประสงค์ วิธีการทำงาน ข้อจำกัด และผลข้างเคียงต่อระบบเศรษฐกิจไม่เหมือนกัน การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาค จึงต้องประสานนโยบายทั้ง 3 ด้านเข้าด้วยกัน จัดลำดับความสำคัญให้เหมาะสมกับปัญหา และบริบทในแต่ละช่วงเวลา เศรษฐกิจถึงจะก้าวหน้าไปได้อย่างยั่งยืน ไม่สร้างผลข้างเคียงให้ต้องตามแก้ไขกันทีหลัง

“นโยบายการเงิน” มีวัตถุประสงค์หลัก คือดูแลปริมาณเงินทั้งระบบให้เหมาะสม เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจโดยรวมเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่ทำให้ค่าของเงินด้อยค่าลง ไม่ว่าจะเป็นจากราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น หรืออัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนลงเรื่อยๆ ในช่วงหลัง นโยบายการเงินต้องให้ความสำคัญกับเสถียรภาพของระบบการเงินด้วย ถ้าลดอัตราดอกเบี้ยลงต่ำเกินไป หรือใส่ปริมาณเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจมากเกินควร ก็อาจจะเกิดฟองสบู่ในอสังหาริมทรัพย์ ราคาสินทรัพย์ต่างๆ เพิ่มสูงขึ้นเร็ว เกิดสภาวะหนี้ท่วม และคนจะมุ่งเก็งกำไรโดยประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร (underpricing of risks) เป็นเชื้อไฟสะสมที่นำไปสู่วิกฤตทางการเงินได้เหมือนกับที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ

“นโยบายการเงิน” มีข้อจำกัดหลายด้าน เพราะต้องทำงานผ่านกลไกตลาดในระบบการเงิน โดยปกติการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายใช้เวลานาน (12-18 เดือน) กว่าที่จะเกิดผลกับเศรษฐกิจจริง ในบางช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจรุนแรง ธนาคารกลางอาจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงแรง หรือลงต่อเนื่องหลายครั้ง แต่ก็จะสร้างผลข้างเคียงที่ต้องตามจัดการภายหลัง ซึ่งรวมถึงการต้องกลับมาเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายด้วย นโยบายการเงินเป็นนโยบายที่ไม่สามารถเข้าไปแก้ไขปัญหาเฉพาะจุดได้ นโยบายการเงิน เป็นเหมือน “น้ำเกลือ” ที่ฉีดเข้าเส้นเลือดหลัก เพื่อรักษาอาการขาดน้ำหรือขาดแร่ธาตุจำเป็น แม้ว่าจะช่วยให้คนไข้ดูสดชื่นขึ้นบ้าง แต่น้ำเกลือไม่สามารถแก้ไขอาการป่วยที่ต้องการยาเฉพาะทาง หรือรักษาอวัยวะบางจุดที่เส้นเลือดอาจตีบตันได้ ในกรณีที่เส้นเลือดตีบตัน ก็ต้องรักษาเส้นเลือดก่อน ถ้าคิดแต่ให้น้ำเกลือเข้าไปเพิ่มขึ้น นอกจากจุดที่เส้นเลือดตีบตัน จะไม่ได้รับประโยชน์แล้ว อาจจะส่งผลให้เกิดอาการน้ำท่วมปอด กระทบต่อการทำงานของไต กระเพาะปัสสาวะ ต้องหาทางให้ร่างกายขับน้ำส่วนเกินออกมา ในระยะยาวย่อมไม่เกิดผลดีต่อร่างกายผู้ป่วยอย่างแน่นอน” นายวิรไท ระบุ

สภาวะเศรษฐกิจไทยในวันนี้ ปัญหาใหญ่ที่ทุกคนคงเห็นตรงกัน คือ เศรษฐกิจไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทำให้รายได้และสินทรัพย์กระจุกตัว เศรษฐกิจในภาพรวมยังฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง แต่ธุรกิจขนาดใหญ่มีพลังและอำนาจเหนือตลาดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ธุรกิจ SMEs ทำธุรกิจด้วยความยากลำบาก คนที่อยู่ฐานล่างของสังคม มีรายได้แบบชักหน้าไม่ถึงหลัง มีหนี้ท่วม แม้ว่าโควิดจะสงบลงแล้ว แต่วิกฤตโควิดได้ฉุดให้ธุรกิจ SMEs จำนวนมากล้มละลาย คนจำนวนมากติดอยู่ในกับดักหนี้แบบไม่เห็นทางออก

ปัจจุบัน เศรษฐกิจไทยก็ต้องเผชิญกับโชคร้ายซ้ำสอง เนื่องจากความล่าช้าของการจัดตั้งรัฐบาล ทำให้กระบวนการเบิกจ่ายงบประมาณถูกเลื่อนออกไปนานกว่า 8 เดือน งบประมาณภาครัฐที่เคยหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจต้องหยุดชะงักไป

นายวิรไท กล่าวว่า ในภาคการเงิน ก็จะเห็นภาพที่คล้ายกันกับโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจไทยในระดับมหภาค ซึ่งจะพบว่า ระบบการเงินไทยยังมีสภาพคล่องส่วนเกิน ธุรกิจขนาดใหญ่ไม่มีปัญหาในการเข้าถึงสินเชื่อ และอัตราดอกเบี้ยไม่ค่อยต่างกับในอดีต ในขณะที่ธุรกิจ SMEs ถูกตัดวงเงินสินเชื่อ ถูกปรับลดวงเงิน หรือปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นตามฐานะการเงินที่แย่ลงและการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น

ธุรกิจ SMEs และคนจำนวนมากที่มีปัญหาการชำระหนี้ในช่วงโควิดจนเป็นหนี้เสีย ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้อีก ต้องไปพึ่งหนี้นอกระบบ หรือใช้สินเชื่อส่วนบุคคลที่คิดอัตราดอกเบี้ยสูง มาเป็นเงินทุนหมุนเวียนแทน

“ถ้าจะเปรียบกับร่างกายคนแล้ว สภาวะเศรษฐกิจไทยในวันนี้ ก็คงเหมือนคนที่กำลังฟื้นจากอาการป่วย ในภาพรวมดูมีกำลังเพิ่มขึ้น แต่ยังมีปัญหารุนแรงเฉพาะจุดอยู่หลายที่ เส้นเลือดหลายเส้นตีบตัน อวัยวะบางส่วนอ่อนแรงลงเรื่อยๆ ปัญหาเหล่านี้ต้องได้รับการรักษาโดยเร็ว เพราะถ้าปล่อยไว้ต่อไป ก็จะส่งผลต่อความแข็งแรงของร่างกายโดยรวมอย่างแน่นอน แต่การรักษาอาการเหล่านี้ ต้องใช้ยาเฉพาะทาง ไม่สามารถรักษาได้เพียงแค่การให้น้ำเกลือ” นายวิรไท ระบุ

ในเวลานี้ การแก้ปัญหาด้านการเงินและสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจไทย ควรให้ความสำคัญกับ “นโยบายกระจายสภาพคล่องทางการเงิน” มากกว่า “นโยบายการเงิน” โดยต้องแก้ปัญหาเส้นเลือดเส้นเล็กตามจุดต่างๆ ตีบตัน เพื่อให้อวัยวะน้อยใหญ่ทั่วร่างกายได้รับสารอาหารอย่างทั่วถึง นโยบายกระจายสภาพคล่องทางการเงิน ต้องกำหนดเป้าหมายเฉพาะจุดให้ชัดเจน ไม่สามารถทำแบบเหวี่ยงแหได้ ต้องใส่ใจเรื่องกลไกการทำงานของระบบการเงิน และที่สำคัญต้องระมัดระวังไม่สร้างผลข้างเคียงที่ต้องมาแก้ไขในระยะยาว โดยเฉพาะการทำลายวัฒนธรรมทางการเงินที่ดี (moral hazards) มีตัวอย่างมาตรการที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์อย่างน้อย 3 กลุ่ม ดังนี้

1.เพิ่มสภาพคล่องและลดต้นทุนทางการเงินให้ธุรกิจ SMEs

2.เร่งดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ครัวเรือนให้เท่าทันกับขนาดและความรุนแรงของปัญหา

3.เร่งรัดกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ธุรกิจ SMEs กระบวนการการไกล่เกลี่ยและบังคับคดีให้รวดเร็ว และเป็นธรรมแก่ลูกหนี้

นายวิรไท กล่าวว่า มาตรการด้านการเงินข้างต้น เป็นเพียงบางตัวอย่างที่จะช่วยกระจายสภาพคล่องทางการเงินให้ตรงจุด ซึ่งในเวลานี้ควรได้รับความสนใจและความสำคัญมากกว่า “วิวาทะเรื่องนโยบายการเงิน” ได้แต่หวังว่าหมอใหญ่ทั้งหลาย จะหยุดถกเถียงกันเรื่องการให้น้ำเกลือคนไข้ หันมาร่วมกันหายาเฉพาะทาง เพื่อรักษาเส้นเลือดที่ตีบตัน เพื่อให้อวัยวะต่างๆ ของคนไข้ที่ชื่อ “เศรษฐกิจไทย” ฟื้นตัวได้อย่างทั่วถึง และเท่าเทียม

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts