วันพุธ, พฤษภาคม 15, 2024
หน้าแรกสืบเศรษฐกิจพลังงานกกพ.เปิด 3 ทางเลือกค่าไฟงวด พ.ค.-ส.ค.67 ต่ำสุดเฉลี่ย 4.18 บาท/หน่วย เปิดรับฟังความคิดเห็น 8 – 22 มีนาคม

Related Posts

กกพ.เปิด 3 ทางเลือกค่าไฟงวด พ.ค.-ส.ค.67 ต่ำสุดเฉลี่ย 4.18 บาท/หน่วย เปิดรับฟังความคิดเห็น 8 – 22 มีนาคม

8 มีนาคม 2567 สำนักงาน กกพ. เปิดรับฟังความเห็นค่าไฟฟ้างวด พ.ค.-ส.ค. 67 เป็น 3 ทางเลือก สะท้อนต้นทุนและภาระคงค้างให้กับ กฟผ.อีก 99,689 ล้านบาท โดยเสนอค่าไฟต่ำสุดคือตรึงค่าไฟฟ้าที่ 4.18 บาทต่อหน่วย สูงสุด 5.4357 บาทต่อหน่วย ขณะที่พีคไฟฟ้าแรกของปี 67 เกิดขึ้นแล้วช่วงค่ำวานนี้ (7 มี.ค.)

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงาน กกพ. ในฐานะโฆษก กกพ. กล่าวว่าจากสถานการณ์ความต้องการก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในตลาดโลกที่ลดลงเนื่องจากผู้ซื้อ LNG รายใหญ่ เช่น จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ มีปริมาณสำรอง LNG เพียงพอแล้ว ทำให้ราคา LNG ในตลาดโลก และในตลาดเอเชียลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ประมาณการต้นทุนการผลิตไฟฟ้ารอบ พ.ค.-ส.ค.2567 ลดลง ต่ำกว่ารอบ ม.ค.-เม.ย. 2567 อย่างมีนัยยะสำคัญ จึงถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการคืนภาระคงค้าง กฟผ. เพื่อเสริมสภาพคล่องและรักษาความมั่นคงในระยะยาว กกพ.จึงพิจารณาค่าเอฟทีเรียกเก็บงวด พ.ค.-ส.ค.2567 ในอัตรา 39.72 สตางค์ต่อหน่วย พร้อมคืนหนี้ กฟผ. 14,000 ล้านบาท ส่งผลให้ค้าไฟฟ้าเฉลี่ยรอบ พ.ค.-ส.ค.ยังคงรักษาระดับอยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วยตามที่ กฟผ.เสนอ โดยในการประชุมครั้งที่ 11/2567 (ครั้งที่ 896) เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2567  กกพ.มีมติรับทราบภาระต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจริงประจำรอบเดือน ก.ย. – ธ.ค. 2566 และเห็นชอบผลการคำนวณประมาณค่าเอฟทีสำหรับงวดเดือน พ.ค. – ส.ค. 2567 พร้อมให้สำนักงาน กกพ. นำค่าเอฟทีประมาณการและแนวทางการจ่ายภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ. ไปรับฟังความคิดเห็นในกรณีต่างๆ ผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 8 – 22 มีนาคม 2567 ดังนี้

กรณีที่ 1 (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างทั้งหมดในงวดเดียว) แบ่งเป็น ค่าเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน พ.ค. – ส.ค. 2567 จำนวน 19.21 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อชำระภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. จำนวน 99,689 ล้านบาท ในงวดเดียวหรือ 146.03 สตางค์ต่อหน่วย รวมเป็นค่าเอฟทีเรียกเก็บ 165.24 สตางค์ต่อหน่วยสำหรับเดือน พ.ค. – ส.ค. 2567 เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.7833 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เพิ่มขึ้นเป็น 5.4357 บาทต่อหน่วย

กรณีที่ 2 (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 4 งวด) แบ่งเป็นค่าเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน พ.ค. – ส.ค. 2567 จำนวน 19.21 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อชำระภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. จำนวน 99,689 ล้านบาท ภายใน 4 งวดๆ ละ จำนวน 24,922 ล้านบาท หรือ 36.51 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าเอฟทีเรียกเก็บที่ 55.72 สตางค์ต่อหน่วยสำหรับเดือน พ.ค. – ส.ค. 2567  เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.7833 บาทต่อหน่วยแล้วทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เป็น 4.3405 บาทต่อหน่วย

กรณีที่ 3 (ตรึงค่าเอฟทีเท่ากับงวดปัจจุบันตามที่ กฟผ. เสนอ หรือจ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างประมาณ 7 งวด) แบ่งเป็นค่าเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน พ.ค. – ส.ค. 2567 จำนวน 19.21 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อชำระภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. จำนวน 99,689 ล้านบาท ประมาณ  7 งวดๆ ละ จำนวน 14,000 ล้านบาท หรือ 20.51 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าเอฟทีเรียกเก็บคงเดิมที่ 39.72 สตางค์ต่อหน่วยสำหรับเดือน พ.ค. – ส.ค. 2567 เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.7833 บาทต่อหน่วย แล้วทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เป็น 4.1805 บาทต่อหน่วย เท่ากับค่าไฟฟ้าเฉลี่ยในงวดปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ทั้ง 3 กรณีดังกล่าวข้างต้น ยังไม่รวมเงินภาระคงค้างค่าก๊าซที่เกิดจากนโยบายที่ให้รัฐวิสาหกิจที่นำเข้าก๊าซเรียกเก็บราคาค่าก๊าซเดือน ก.ย. – ธ.ค. 2566 คงที่ตามมติ กพช. จึงมีส่วนต่างราคาก๊าซที่เกิดขึ้นจริงและราคาก๊าซที่เรียกเก็บ (AF Gas) โดยภาระดังกล่าวยังคงค้างที่ ปตท. (เฉพาะในส่วนของการผลิตไฟฟ้าเพื่อขายเข้าระบบ) เป็นจำนวนเงิน 12,076 ล้านบาท และยังคงค้างที่ กฟผ. เป็นจำนวนเงิน 3,800 ล้านบาท

“แนวโน้มค่าไฟฟ้างวดหน้า จึงมีความน่าจะเป็นเรียกเก็บ 4.18 บาทต่อหน่วย ตามที่ กฟผ.เสนอ เนื่องจากมองว่าเหมาะสมทั้งในเชิงการเมือง ประชาชน และสภาพคล่องของ กฟผ. คิดว่าเป็นตัวเลขที่ทุกฝ่ายรับได้ ประกอบกับช่วงนี้เป็นช่วงหน้าร้อนจึงไม่อยากจะให้ค่าไฟมีผลต่อความรู้สึกของประชาชน แต่อย่างไรก็ตาม ประชาชนต้องใข้ไฟฟ้าอย่างประหยัด โดยคำนึงถึงว่าการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยที่พึ่งก๊าซธรรมชาติเป็นหลักหากมีการใช้ไฟสูง การผลิตในประเทศแนวโน้มลดลง ก็จะมีการนำเข้าปริมาณมาก” นายคมกฤชกล่าว

โดย กกพ. ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นค่าเอฟทีประมาณการและแนวทางการจ่ายภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ. ผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 8 – 22 มีนาคม 2567

ปัจจัยหลักที่ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้ารอบ พ.ค – ส.ค. 2567 ลดลงมีสาเหตุหลักมาจากต้นทุนราคา LNG ที่ลดลงอย่างต่อเนื่องและส่งผลทำให้ราคาประมาณการ Pool Gas ลดลงจาก 333 ล้านบาทต่อล้านบีทียู เป็น 300 ล้านบาทต่อล้านบีทียู อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าแหล่งเอราวัณจะมีแผนทยอยปรับเพิ่มปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติจาก 400 เป็น 800 ล้านลูกบากฟุตต่อวันในเดือน เม.ย. 2567 แต่ประมาณการปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ได้จากอ่าวไทยเพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้ายังคงอยู่ในระดับเดิมหรือลดลงเล็กน้อย อีกทั้งก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเมียนมาร์ยังมีแนวโน้มที่ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงมีความจำเป็นต้องนำเข้า LNG เพื่อเสริมปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ขาดหายและเสริมความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นในปัจจุบันและในช่วงฤดูร้อนที่กำลังจะมาถึง โดยจะมีการขอเพิ่มการนำเข้า LNG ของช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม อีก 3 เที่ยวเรือ

ทั้งนี้ พบว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของปีนี้เกิดขึ้นแล้ว (พีคแรก) เมื่อวันที่ 7 มี.ค.67 เวลา 19.47 น. มีปริมาณการใช้ไฟฟ้า 32,508.2 MW ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้น สำนักงาน กกพ. จึงชวนผู้ใช้ไฟฟ้าหมั่นชตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ ให้มีสภาพการใช้งานที่ดี เพื่อประหยัดการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลาที่มีสภาพอากาศร้อน ซึ่งจะช่วยลดการนำเข้า LNG ลดการเกิดการใช้ไฟฟ้าสูงสุดรอบใหม่ (New Peak Demand) ในระบบไฟฟ้า และยังช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าเองด้วย

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts