ต้องยอมรับว่า นวัตกรรมความล้ำหน้ายุคนี้ ต้องยกให้จีน ที่มักคิดค้นสิ่งใหม่ออกมาอย่างต่อเนื่อง ชนิดเห็นแล้วต้องร้อง..ว้าว
ล่าสุด สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า จีนสร้างความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในการผลิตไฮโดรเจนจากน้ำทะเล โดยอาศัยการใช้ไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนทางทะเล
โดยเมื่อวันศุกร์ 20 ธ.ค. ที่ผ่านมา ซีเนอร์เทค (CenerTech) ในเครือบริษัทน้ำมันนอกชายฝั่งแห่งชาติจีน (CNOOC) ประกาศว่า โรงงานนำร่องการแยกน้ำทะเลด้วยไฟฟ้าระดับเมกะวัตต์ ได้เสร็จสิ้นการดำเนินงานระยะทดลอง และจ่ายพลังงานไฮโดรเจน ที่มีความบริสุทธิ์ 99.999%
โรงงานข้างต้น มีผลผลิตพิกัดของไฮโดรเจนมาตรฐาน 200 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง และบูรณาการการดำเนินงานหลัก เช่น การประมวลกระแสไฟฟ้า การแยกน้ำทะเลด้วยไฟฟ้า และการทำให้ไฮโดรเจนบริสุทธิ์ใน 5 ตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งถือเป็นโครงสร้างที่กะทัดรัด และเคลื่อนย้ายได้เหมาะสมกับแท่นขุดเจาะนอกชายฝั่ง
ซีเนอร์เทคออกแบบโรงงานนำร่องนี้ ให้สามารถรองรับความแปรปรวน และความไม่สม่ำเสมอโดยธรรมชาติของพลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์นอกชายฝั่ง ซึ่งกลายเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาอันมีประสิทธิภาพ สำหรับการใช้ประโยชน์จากแหล่งทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนในพื้นที่
อุปกรณ์ใหม่ของซีเนอร์เทค ช่วยให้สามารถแยกน้ำทะเล ด้วยไฟฟ้าโดยตรง แบบไม่ต้องแยกเกลือออกจากน้ำ จึงช่วยลดต้นทุน ส่งผลให้เกิดการผลิตไฮโดรเจนที่มีเสถียรภาพในระยะยาว
หลี่ จื้อชวน วิศวกรด้านพลังงานลมของซีเนอร์เทค กล่าวว่า การแยกน้ำทะเลด้วยไฟฟ้าโดยตรง จะถูกผสานเข้ากับเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนต่าง ๆ เช่น พลังงานลมนอกชายฝั่ง เพื่อช่วยให้สามารถใช้ไฟฟ้า ในพื้นที่น่านน้ำทะเลห่างไกลได้เลย
ความสำเร็จด้านวิศวกรรมนี้ เกิดขึ้นต่อจากโครงการวิจัยระดับโรงงาน ที่ผลิตไฮโดรเจนจากน้ำทะเล ซึ่งดำเนินงานโดยซิโนเปก (Sinopec) ผู้กลั่นน้ำมันของรัฐอีกราย โดยโครงการดังกล่าว สามารถผลิตไฮโดรเจนอันเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 20 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง