“…ตอนนี้ นายชาญศิลป์ พ้นจากตำแหน่งซีอีโอ ปตท. ยังไม่ครบ 2 ปี ถ้าจะครบ 2 ปี ก็ต้องเป็นเดือนพฤษภาคม 2565 ทราบว่าออกจากซีอีโอ ปตท.ยังไม่ครบ 2 ปี ถามว่าทำไมต้องรีบเสนอเข้าบอร์ด ทั้งๆ ที่ยังไม่ครบ 2 ปี ทำไมไม่รอเวลาเหลืออีกไม่กี่เดือนเท่านั้น จากการตรวจสอบปรากฎว่า ไม่ได้ปฎิบัติตามสัญญจ้างของ ปตท. นายชาญศิลป์ มายื่นลาออกจากกรรมการในบริษัทลูกภายหลัง โดยยื่นลาออกจากกรรมการ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ปตท.สผ. หรือ PTTEP เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2563 และยื่นลาออกจากกรรมการและประธานกรรมการ บริษัทไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2564…”
หลังจากที่ บริษัท ปตท. จํากัด (มหาชน) หรือปตท. ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ไปเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2565 ถึงกรณีที่ นายดอน วสันตพฤกษ์ กรรมการอิสระและประธานกรรมการสรรหาได้ถึงแก่กรรม ปรากฎว่าขณะนี้มีชื่อ นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทปตท. หรือ ซีอีโอปตท. กำลังจะถูกส่งเข้ามาเป็นกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่างลง
“ชาญศิลป์ ตรีนุชกร”
“ชาญศิลป์ ตรีนุชกร” กับข้อกังขาใหญ่
อย่างไรก็ดี สำหรับชื่อของ นายชาญศิลป์ ยังคงเป็นที่กังขาว่า จะเข้ามาได้จริงหรือไม่ เนื่องจากตาม พ.ร.บ.มาตรฐานทางจริยธรรม และแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดีในรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2562 การกำกับดูแลกิจการ (Corporate Governance) ของกระทรวงการคลัง ยังเป็นข้อสงสัย
ทั้งนี้ หลักการและแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดีในรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2562 การกำกับดูแลกิจการ (Corporate Governance) โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง หมวดที่ 3 ว่าด้วยคณะกรรมการ (9) อดีตผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจควรพ้นจากตำแหน่ง ผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจแล้วอย่างน้อย 2 ปี ก่อนได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการของรัฐวิสาหกิจนั้น
“ตอนนี้นายชาญศิลป์ พ้นจากตำแหน่งซีอีโอ ปตท. ยังไม่ครบ 2 ปี ถ้าจะครบ 2 ปี ก็ต้องเป็นเดือนพฤษภาคม 2565”
ขณะที่แหล่งข่าวจากบอร์ด ปตท.รายหนึ่ง กล่าวว่าหากมีการแต่งตั้งกรรมการใหม่เพิ่มเข้ามา ก็ต้องเสนอให้บอร์ดปตท.อนุมัติก่อน หากมีการเสนอชื่อนายชาญศิลป์ เข้ามาจริง ก็เป็นเรื่องที่น่าคิด เพราะทราบว่าออกจากซีอีโอปตท.ยังไม่ครบ 2 ปี ถามว่าทำไมต้องรีบเสนอเข้าบอร์ด ทั้งๆที่ยังไม่ครบ 2 ปี ทำไมไม่รอเวลาเหลืออีกไม่กี่เดือนเท่านั้น
“ผมว่าเรื่องนี้อาจจะเป็นประเด็นได้ ต้องดูว่าอบร์ดคนอื่นๆกล้าพอที่จะอนุมัติหรือไม่ หากอนุมัติไปแล้วจะมีความผิดหรือไม่อย่างไร เรื่องนี้ต้องรอบคอบ ส่วนการประชุมบอร์ดน่าจะประชุมเร็วๆนี้” แหล่งข่าว ระบุ
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่น่ากังวลอย่างมากนั่นก็คือ การไม่ปฎิบัติตามสัญญาจ้างของปตท. ในตำแหน่งซีอีโอของนายชาญศิลป์ ซึ่งพ้นวาระไป เมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 สัญญายังระบุไว้ว่า เมื่อพ้นสัญญาจ้างปตท.แล้ว ก็ให้พ้นตำแหน่งในบริษัทลูกทันที
จากการตรวจสอบปรากฎว่า ไม่ได้ปฎิบัติตามสัญญจ้างของ ปตท. นายชาญศิลป์ มายื่นลาออกจากกรรมการในบริษัทลูกภายหลัง โดยยื่นลาออกจากกรรมการ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ปตท.สผ. หรือ PTTEP เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2563 และยื่นลาออกจากกรรมการและประธานกรรมการ บริษัทไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2564
ขณะเดียวกัน ผู้ว่าปตท.ก่อนหน้านี้ อย่าง นายเทวินทร์ วงศ์วานิช เมื่อสิ้นสุดสัญญาจ้างกับ ปตท. ก็ลาออกจากกรรมการในบริษัทลูกทันที
“กรณีนายชาญศิลป์ ถือว่าไม่ปฎิบัติตามสัญญาจ้างของปตท. ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า บอร์ดปตท.ชุดนี้ กล้าที่จะอนุมัติ ผู้ที่ทำผิดสัญญากับปตท. มาเป็นกรรมการปตท.อีกหรือไม่ และไม่แน่ใจว่าบอร์ดปตท.ได้ทราบข้อเท็จจริงเรื่องนี้หรือไม่ เพราะกำลังจะทำผิดพ.ร.บ.มาตรฐานทางจริยธรรม และผิดกฎกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นหลักธรรมาภิบาลที่ใช้บังคับกับรัฐวิสาหกิจ เกี่ยกวับการตั้งกรรมการปตท.คนใหม่”
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ พ.ร.บ.มาตรฐานทางจริยธรรม มาตรฐานทางจริยธรรมและประมวลจริยธรรม มาตรา 5 มาตรฐานทางจริยธรรม คือ หลักเกณฑ์การประพฤติปฏิบัติอย่างมีคุณธรรม ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ (2) ซื่อสัตย์สุจริต จิตสำนึกที่ดี และรับผิดชอบต่อหน้าที่
รายงานข่าวแจ้งว่า การเสนอชื่อผู้ที่เข้ามาเป็นกรรมการปตท.ครั้งนี้ มีการอ้างว่า ได้รับความเห็นชอบจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแล้ว แต่ก็มีข้อกังวลเกิดขึ้นว่า นายกรัฐมนตรีเห็นชอบจริงหรือไม่ ถ้าจริงนายกรัฐมนตรีได้ทราบข้อเท็จจริงในประเด็นดังกล่าวด้วยหรือไม่