วันจันทร์, พฤษภาคม 20, 2024
หน้าแรกการเมืองTrue-Dtac ส่อผูกขาด-ขัดต่อกฎหมาย

Related Posts

True-Dtac ส่อผูกขาด-ขัดต่อกฎหมาย

ศรีสุวรรณลุย กสทช.ค้านควบรวม True-Dtac ส่อผูกขาด-ขัดต่อกฎหมาย ยับยั้ง ป้องกันไม่ให้มีการผูกขาดในการประกอบกิจการโทรคมนาคม

วันนี้ (28 มี.ค.65) เวลา 10.00 น. ที่สำนักงาน กสทช. ถ.พหลโยธิน ซ.8 นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เดินทางมายื่นคำร้องเพื่อขอให้ กสทช.ใช้อำนาจตามกฎหมายในการระงับ ยับยั้ง ป้องกันไม่ให้มีการผูกขาดในการประกอบกิจการโทรคมนาคม กรณีบริษัทค่ายมือถือของทรูและดีแทคได้ประกาศจะดำเนินการควบรวมธุรกิจโทรศัพท์มือถือระหว่างกัน เพื่อปรับโครงสร้างธุรกิจไปสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี (เทคคอมปะนี) อันอาจเป็นการขัดต่อกฎหมาย กฎระเบียบของ กสทช.ได้

ซึ่งการควบรวมธุรกิจของทรูกับดีแทค จะก่อให้เกิดการผูกขาดและกระทบต่อการแข่งขันของธุรกิจการให้บริการโทรศัพท์มือถือ เพราะนอกจากจะมีผลกระทบด้านการเงินการลงทุนแล้ว ยังจะมีผลกระทบมหาศาลต่อผู้บริโภคและธุรกิจต่าง ๆ ที่ใช้บริการโทรคมนาคม รวมทั้งธุรกิจด้านฟินซัพพลายเออร์ ผู้ค้าปลีก-ค้าส่งโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์ ตลอดจนบริการต่าง ๆ ที่ต้องอาศัยเครือข่ายของโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมด้วย

นอกจากนั้น ตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม 2544 ม.21 กำหนดให้ กสทช. กำหนดมาตรการเฉพาะตามลักษณะการประกอบกิจการโทรคมนาคม ไม่ให้ผู้รับใบอนุญาตกระทำการอย่างใดอันเป็นการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการกิจการโทรคมนาคมในเรื่อง การถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน การใช้อำนาจทางการตลาดที่ไม่เป็นธรรม หรือพฤติกรรมกีดกันการแข่งขัน

โดยเฉพาะใน ม.69 กำหนดว่า ผู้รับใบอนุญาตผู้ใดฝ่าฝืนมาตรการที่ กสทช. กำหนดตาม ม.21 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และในกรณีที่กระทำความผิดซ้ำต้องระวางโทษเป็นทวีคูณอีกด้วย

ทั้งนี้ตามประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม 2549 ข้อ 8 กำหนดไว้ว่า กรณีที่ กสทช. พิจารณาเห็นว่า การถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกันอาจส่งผลให้เกิดการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการโทรคมนาคม กสทช. อาจสั่งห้ามการถือครองกิจการหรือกำหนดมาตรการเฉพาะตามหมวด 4 เพื่อป้องกันหรือระงับการกระทำหรือพฤติกรรมอันเป็นการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการกิจการโทรคมนาคมก็ได้

ดังนั้น หาก กสทช. พิจารณาเห็นว่า การควบรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทค จะทำให้เกิดการผูกขาด หรือลด หรือจำกัด หรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม ในการให้บริการธุรกิจโทรศัพท์มือถือ กสทช. ย่อมมีอำนาจตามกฎหมายสั่งห้ามการควบรวมหรือถือครองกิจการของ 2 ค่ายบริษัทมือถือดังกล่าวได้ นายศรีสุวรรณ กล่าวในที่สุด

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts