30 เมษายน 2567 กระทรวงการคลัง คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2567 จะขยายตัวที่ร้อยละ 2.4 ต่อปี เร่งขึ้นจากปี 2566 ที่ขยายตัวได้ร้อยละ 1.9 ต่อปี โดยได้รับแรงสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นสำคัญ รวมถึงบทบาทสนับสนุนของนโยบายการคลังในช่วงที่เหลือของปี
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงผลการประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 2.4 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.9 ถึง 2.9) ขยายตัวจากปี 2566 ที่ขยายร้อยละ 1.9 โดยได้รับแรงสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นสำคัญ รวมถึงบทบาทสนับสนุนของนโยบายการคลังในช่วงที่เหลือของปี ทั้งนี้ คาดว่าภาคการท่องเที่ยวในปี 2567 จะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาในประเทศไทยจำนวน 35.7 ล้านคน ขยายตัวสูงที่ร้อยละ 26.7 ต่อปี ส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้อง เกิดการจ้างงานและเพิ่มรายได้ประชาชน ส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ ทำให้คาดว่าการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.7 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.2 ถึง 4.2) ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.5 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.0 ถึง 4.0) สำหรับการส่งออกสินค้าจะขยายตัวที่ร้อยละ 2.3 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.8 ถึง 2.8) โดยคาดว่าการส่งออกสินค้าจะสามารถกลับมาฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งปีหลัง และมูลค่าการนำเข้าสินค้าจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.4 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.9 ถึง 3.9) โดยมีสินค้าทุนขยายตัวเพิ่มขึ้น สะท้อนถึงการลงทุนภาคเอกชนที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้ การคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจครั้งนี้ได้ปรับลดลงเมื่อเทียบกับครั้งที่แล้วของกระทรวงการคลัง ณ เดือน มกราคม 2567 ที่ร้อยละ 2.8 เนื่องจาก 1) การส่งออกสินค้าที่หดตัวมากกว่าที่คาดการณ์โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 2) การผลิตภาคอุตสาหกรรมยังคงหดตัวซึ่งสะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index: MPI) โดยเฉพาะสินค้าในหมวดยานยนต์และหมวดชิ้นส่วนและแผงวงจรในไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 3) ภาคการเกษตรได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและปรากฏการณ์เอลนีโญ และ 4) ภาคการคลังที่ยังคงใช้การเบิกจ่ายตามงบประมาณตามปี 2566 ไปพลางก่อน
ในด้านเสถียรภาพภายในประเทศอยู่ในระดับมั่นคง โดยคาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ร้อยละ 0.6 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.1 ถึง 1.1) ตามการปรับตัวลดลงของราคาสินค้าอาหารบางกลุ่ม อีกทั้งราคาสินค้าในหมวดพลังงานที่ลดลงจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ ขณะที่เสถียรภาพภายนอกประเทศ ดุลบริการมีแนวโน้มจะเกินดุลตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2567 มีแนวโน้มที่จะกลับมาเกินดุล 9.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 1.8 ของ GDP
โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในช่วงต่อจากนี้เม็ดเงินจากงบประมาณปี 2567 จะเริ่มเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทย ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเร่งขึ้นได้ในช่วงที่เหลือของปี 2567 สำหรับในระยะยาว การพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน กระทรวงการคลังมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับ 1) ความยั่งยืนทางการคลัง (Fiscal Sustainability) มุ่งมั่นในการบริหารจัดการการคลังอย่างรอบคอบ โดยคำนึงถึงการใช้จ่ายของรัฐและระดับหนี้สาธารณะอย่างรับผิดชอบ และ 2) การยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจไทย (Potential GDP) มุ่งเน้นการพัฒนาประเทศในระดับภูมิภาคและระดับหมู่บ้าน โดยต่อยอดจากวิสัยทัศน์ 8 ด้าน ภายใต้กรอบนโยบาย Ignite Thailand ของรัฐบาล โดยการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมและอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูง ด้วยการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในด้านการผลิตและเทคโนโลยี รวมทั้งการส่งเสริมแรงงานที่มีทักษะผ่านการปฏิรูปการศึกษาและการฝึกอบรมสายอาชีพ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการผลิตของประเทศต่อไป การสนับสนุนประเด็นที่สำคัญเหล่านี้จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืนและมั่นคง ก้าวสู่การเป็นผู้นำในเวทีระดับภูมิภาคในอนาคต นอกจากนี้ หากเม็ดเงินจากโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet สามารถเริ่มมีการใช้จ่ายภายในไตรมาสที่ 4 ปี 2567 จะช่วยเพิ่มกำลังซื้อและสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยในปี 2567 ขยายตัวได้เพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 3.3 ต่อปี (กรณีประชาชนใช้จ่ายเม็ดเงินส่วนใหญ่ภายในสิ้นปี 2567)
อย่างไรก็ตาม ยังควรติดตามปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิด อาทิ 1) ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในภูมิภาคต่าง ๆ ที่เริ่มรุนแรงมากขึ้น อาจเป็นข้อจำกัดและส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป เช่น สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างอิสราเอลและอิหร่านที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานให้ปรับตัวสูงขึ้น การแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ 2) ความผันผวนของตลาดการเงินโลกจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของประเทศคู่ค้าหลักและปัญหาสถาบันการเงินในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป และ 3) การฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย โดยเฉพาะประเทศจีนจากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์