วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
หน้าแรกข่าวประชาสัมพันธ์กสม. ร่วมประชุมกับสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทั่วโลก นำเสนอผลการดำเนินงานด้านการป้องกันการทรมาน ร่วมผลักดันประเด็นการทำธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษย์ชนตามหลักการชี้แนะของสหประชาชาติ

Related Posts

กสม. ร่วมประชุมกับสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทั่วโลก นำเสนอผลการดำเนินงานด้านการป้องกันการทรมาน ร่วมผลักดันประเด็นการทำธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษย์ชนตามหลักการชี้แนะของสหประชาชาติ

นางหรรษา บุญรัตน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 5 – 10 พฤษภาคม 2567 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยผู้ช่วยศาสตราจารย์สุชาติ เศรษฐมาลินี และนางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และผู้บริหารสำนักงาน กสม. เข้าร่วมการประชุมกรอบความร่วมมือเครือข่ายพันธมิตรระดับโลกว่าด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (Global Alliance of National Human Rights Institutions: GANHRI) ประจำปี 2567 หรือการประชุม GANHRI 2024 ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

ในการประชุม GANHRI 2024 สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทั่วโลกได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานเกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชนในปี 2567 โดยที่ประชุมให้ความสำคัญกับประเด็นการป้องกันและต่อต้านการทรมาน การคุ้มครองสิทธิของผู้หนีภัยความไม่สงบ คนไร้รัฐไร้สัญชาติ และผู้ลี้ภัย ตลอดจนประเด็นธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน และผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อสิทธิมนุษยชน

โอกาสนี้ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ร่วมเป็นวิทยากรแลกเปลี่ยนในหัวข้อ ประสบการณ์และแนวทางการนำปฏิญญาเคียฟ-โคเปนเฮเกน (Kyiv-Copenhagen Declaration) ว่าด้วยบทบาทของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติด้านการป้องกันและต่อต้านการทรมาน ไปดำเนินการ โดยนำเสนอถึงการจัดทำแผนปฏิบัติการของ กสม. ว่าด้วยการป้องกันการทรมาน ระยะเวลา 3 ปี ซึ่งครอบคลุมบทบาทด้านการตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัวภายใต้การดำเนินงานหรือการกำกับของรัฐ เช่น ห้องขังของสถานีตำรวจ เรือนจำ ห้องกักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สถานบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด พื้นที่พักพิงชั่วคราวสำหรับผู้หนีภัยความไม่สงบ และสถานที่ดูแลกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของบุคคลในสถานที่ควบคุมตัวดังกล่าว การติดตามการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย การสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังการกระทำทรมาน การรณรงค์และสนับสนุนให้ประเทศไทยให้สัตยาบันพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน (Optional Protocol to the Convention Against Torture) หรือ OPCAT เพื่อให้ประเทศไทยมีกลไกป้องกันการทรมานระดับชาติ (National Preventive Mechanism) หรือ NPM ในการทำหน้าที่ตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัวเหล่านั้น รวมถึงการจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะภายใน กสม. เพื่อป้องกันและติดตามการทรมาน และเตรียมความพร้อมสำหรับการทำหน้าที่เป็นกลไก NPM หาก กสม. ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ดังกล่าว

ที่ประชุม GANHRI 2024 ยังได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในประเด็นธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน โดยเน้นย้ำบทบาทของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในการส่งเสริม การเฝ้าระวัง การรายงาน และการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวเนื่องกับกิจกรรมทางธุรกิจ ตลอดจนการผลักดันให้มีการนำหลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights) หรือ UNGPs ทั้งด้านการคุ้มครอง การเคารพ และการเยียวยา ไปเป็นกรอบในการดำเนินงานของทุกภาคส่วน โดยที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานด้านนี้ในบริบทต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องสิทธิมนุษยชนกับสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทั่วโลกจะขับเคลื่อนร่วมกัน ผ่านการผลักดันมาตรการหรือนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยเฉพาะการกำกับดูแลภาคธุรกิจให้ดำเนินกิจการด้วยความเคารพในสิทธิมนุษยชนและรับผิดชอบต่อสังคม รวมทั้งจะร่วมกันเฝ้าระวังและรายงานผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากกิจกรรมทางธุรกิจ

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือถึงแนวทางการส่งเสริมพื้นที่ของภาคประชาสังคมในโลกออนไลน์ (Online civic space) การแก้ไขและป้องกันผลกระทบของเทคโนโลยีดิจิทัลต่อสิทธิมนุษยชน รวมถึงการใช้เครื่องมือทางด้านนโยบายและกฎหมายเพื่อส่งเสริมการประกอบธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชนอย่างสมดุลและมีประสิทธิภาพ

นอกจากการเข้าร่วมประชุมประจำปี GANHRI 2024 แล้ว คณะผู้แทน กสม. ยังได้พบกับผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อหารือในประเด็นต่าง ๆ ที่สำคัญ ได้แก่ การพบเลขาธิการสมาคมเพื่อการป้องกันการทรมาน (Association for Prevention of Torture ) หรือ APT เพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างกันในการป้องกันและต่อต้านการทรมาน รวมถึงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรของสำนักงาน กสม. ในการตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัว การพบกับผู้อำนวยการ Centre for Humanitarian Dialogue (HD) ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนไม่แสวงหากำไรด้านการส่งเสริมกระบวนการพูดคุยและไกล่เกลี่ย เพื่อป้องกัน บรรเทา และแก้ไขความขัดแย้ง ในประเด็นกระบวนการพูดคุยสันติสุขในชายแดนใต้และกระบวนการสมานฉันท์ปรองดองในสังคมไทย การพบกับผู้ช่วยข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ในประเด็นผู้หนีภัยการสู้รบชาวเมียนมา และผู้แสวงหาที่พักพิงจากประเทศต่าง ๆ รวมทั้งได้เข้าพบผู้ประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนศึกษาและการฝึกอบรมของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ในประเด็นการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนแก่กลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายด้วย

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts