เมื่อเร็วๆนี้ (24 พ.ค.67) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกับ เมืองพัทยา และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) จัดกิจกรรมวางฐานลงเกาะปะการังจากลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้า ประจำปี 2567 ภายใต้โครงการบ้านปลาปะการังเทียม จากลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้า ของ กฟผ. โดยมี นายเกียรติศักดิ์ศรีวงษ์ชัย รองปลัดเมืองพัทยา เป็นประธาน พร้อมด้วย น.ส.สุมิตรา กาญจนมิตร ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการภาคกลาง กฟผ. นายไพทูล แพนชัยภูมิ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์และกำหนดมาตรการจัดการทรัพยากรทางทะเล ทช. รวมทั้งส่วนราชการจังหวัดชลบุรี นักดำน้ำ กฟผ. และผู้ปฏิบัติงาน ทช. เข้าร่วมกิจกรรม ณ ท่าเทียบเรือกู้ภัยแหลมบาลีฮาย อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี
นายไพทูล แพนชัยภูมิ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์และกำหนดมาตรการจัดการทรัพยากรทางทะเล ทช. กล่าวว่า ทช. และ กฟผ. ได้ร่วมกันฟื้นฟูท้องทะเลไทยทั่วประเทศให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ เกิดระบบนิเวศแก่สิ่งมีชีวิตบริเวณแนวปะการังในโครงการบ้านปลา กฟผ. โดย กฟผ. ได้ให้การสนับสนุนลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าที่ครบอายุการใช้งานมาทำเป็นฐานลงเกาะปะการังและนำไปวางในท้องทะเล เพื่อช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศและทรัพยากรทางทะเลบริเวณเกาะล้านให้อุดมสมบูรณ์ สร้างแหล่งที่อยู่อาศัยและอนุบาลสัตว์ทะเล รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวทางทะเลเชิงอนุรักษ์
น.ส.สุมิตรา กาญจนมิตร ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการภาคกลาง กฟผ. เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา กฟผ. ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร นำปะการังเทียมจากลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าไปวางไว้ใต้ท้องทะเลไทยตั้งแต่ปี 2554 ทั้งพื้นที่จังหวัดชลบุรี ภูเก็ต ประจวบคีรีขันธ์ พังงา สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส รวมทั้งสิ้นกว่า 5,000 ชุด สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ กฟผ. ได้ส่งมอบฐานลงเกาะปะการังจากลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าให้แก่ ทช. และเมืองพัทยา รวมทั้งสิ้น 200 ชุด ซึ่งลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าเป็นหนึ่งอุปกรณ์สำคัญของการส่งจ่ายกระแสไฟฟ้า ในแต่ละปีจะมีลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าที่ครบอายุการใช้งานเป็นจำนวนมาก กฟผ. ได้คิดค้นหาวิธีนำอุปกรณ์นี้มาใช้ประโยชน์ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยแนวทางหนึ่งคือ นำมาทำเป็นฐานลงเกาะของตัวอ่อนปะการัง เพื่อช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเล สอดคล้องกับหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่มีการหมุนเวียนของทรัพยากรหรือวัสดุกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด