วันที่ 31 มีนาคม 2565 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 12/2565 โดยมีวาระสำคัญ ดังนี้
- กสม. ได้รับแจ้งการเสนอปรับคืนสถานะ A ในเวทีโลก หวังยกระดับการทำงานปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ตามที่คณะอนุกรรมการประเมินสถานะ (Sub-Committee on Accreditation: SCA) ภายใต้กรอบความร่วมมือเครือข่ายพันธมิตรระดับโลกว่าด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (Global Alliance of National Human Rights Institutions: GANHRI) ได้ประเมินสถานะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยพิจารณาความสอดคล้องของการจัดตั้งและการดำเนินงานของ กสม. กับหลักการเกี่ยวกับสถานะของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ “หลักการปารีส” (Paris Principles) จากเอกสารชี้แจง และการสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2565 โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับความก้าวหน้าในการแก้ไข ปรับปรุงการดำเนินงานของ กสม. ในช่วงที่ผ่านมา
ล่าสุด เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2565 สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Office of the High Commissioner for Human Rights: OHCHR) ฝ่ายเลขานุการของคณะอนุกรรมการ SCA ได้แจ้งผลการพิจารณาว่า มีข้อเสนอแนะที่จะให้ กสม. กลับคืนสู่สถานะ A เพราะเห็นถึงความพยายามอย่างต่อเนื่องของ กสม. ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย รวมทั้งความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาข้อห่วงกังวลของ SCA ในเรื่องความเป็นอิสระอันเนื่องมาจากบทบัญญัติแห่งกฎหมาย การสรรหาและแต่งตั้ง กสม. ซึ่งต้องมีความหลากหลาย การเพิ่มหน้าที่และอำนาจในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท รวมถึงการพัฒนากระบวนการติดตามการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของ กสม.
คณะอนุกรรมการ SCA เน้นย้ำความสำคัญในบทบาทของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ได้รับสถานะ A ว่าจะต้องมีความเป็นอิสระ มีการทำงานร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ อย่างแข็งขัน ทั้งในประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก เพื่อหนุนเสริมการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ข้อเสนอแนะของคณะอนุกรรมการ SCA นี้ เมื่อไม่มีการคัดค้านโดย กสม. ภายใน 28 วัน จะมีการเผยแพร่รายงานการพิจารณาฉบับทางการทางเว็บไซต์ และจะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร GANHRI (GANHRI Bureau) พิจารณารับรองต่อไป ซึ่ง กสม. ไทยจะได้รับสถานะ A อย่างเป็นทางการ อันจะช่วยให้ กสม. สามารถแสดงบทบาทและมีส่วนร่วมในเวทีระหว่างประเทศได้อย่างเต็มที่ เช่น การเข้าร่วมประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Council) การเข้าร่วมในคณะทำงานด้านต่าง ๆ ทั้งของกรอบความร่วมมือเครือข่ายสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทั้งในระดับโลก (GANHRI) และระดับภูมิภาค (APF) ที่จะร่วมผลักดันประเด็นสำคัญในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศและระดับสากล ตลอดจนจะช่วยให้ท่าทีและความเห็นของ กสม. เช่น แถลงการณ์และข้อเสนอแนะต่าง ๆ ซึ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่ภายในประเทศมีความน่าเชื่อถือและมีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น
“การที่ กสม. ได้รับสถานะ A กลับคืนมา ถือเป็นความสำเร็จร่วมกันของทุกภาคส่วน ทั้งฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และภาคประชาสังคม ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญในบทบาทหน้าที่ของ กสม. ที่จะต้องสามารถดำเนินงานได้อย่างเป็นอิสระและมีประสิทธิภาพ ต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ช่วยกันทำให้ กสม. ได้รับการเสนอปรับสถานะกลับมาเป็น A ซึ่งจะทำให้ กสม. สามารถทำหน้าที่ปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น” ประธาน กสม. กล่าว
- กสม.หยิบยกปัญหาสภาพความเป็นอยู่แออัดในสถานกักตัวคนต่างด้าวขึ้นตรวจสอบเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงระบบ ลดความเสี่ยงผู้ต้องกักถูกละเมิด
ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนหลายกรณีเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ของผู้ต้องกักในสถานกักตัวคนต่างด้าวซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) และล่าสุด กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2565 ได้พิจารณาคำร้องระบุว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ตั้งแต่ประมาณปลายเดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมาพบว่า มีผู้ติดเชื้อในสถานกักตัวคนต่างด้าว (ตม.สวนพลู) ซึ่งสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ผู้ถูกร้อง ได้สั่งให้ปิดสถานที่โดยห้ามบุคคลภายนอกเข้าเยี่ยม ห้ามส่งอาหารจากภายนอก ห้ามผู้ต้องกักออกนอกห้องควบคุมโดยให้อยู่ภายในห้องตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีแพทย์ประจำการในสถานกักตัวเพื่อรักษาโรค รวมถึงได้รับอาหารที่ด้อยคุณภาพ นอกจากนี้ สภาพความเป็นอยู่ภายในห้องกักยังมีความแออัด สกปรก และไม่มีแสงสว่างเพียงพอ ซึ่งเป็นการปฏิบัติต่อผู้ต้องกักโดยไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จึงขอให้ตรวจสอบ นั้น
กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย รวมทั้งบทบัญญัติของกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้ว รับฟังได้ว่า การดำเนินการของ สตม. ที่เกี่ยวกับการดูแลและการจัดการสภาพความเป็นอยู่ของผู้ต้องกักในสถานกักตัวคนต่างด้าว ได้มีการดำเนินการดูแลผู้ต้องกักในด้านต่าง ๆ เช่น โภชนาการ การรักษาสุขอนามัย นันทนาการ การรักษาพยาบาล ตามคำสั่งสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่ 89/2562 ลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562 เรื่อง กำหนดแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการรับตัว การควบคุม และดูแลคนต่างด้าวสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ภายในสถานกักตัวคนต่างด้าว ผู้ถูกร้องได้กำหนดมาตรการเพิ่มเติมในการป้องกันการแพร่ระบาดตามความสามารถที่จะกระทำได้ภายใต้ข้อจำกัดของอาคารสถานที่ และงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร ในชั้นนี้จึงยังไม่ปรากฏว่า สตม. มีการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
อย่างไรก็ดี กสม. เห็นว่าเนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศทางผ่านและที่พักพิงชั่วคราวของผู้ขอลี้ภัย/แสวงหาที่ลี้ภัย (asylum seeker) และผู้ลี้ภัย (refugee) โดยเฉพาะกลุ่มผู้แสวงหาที่ลี้ภัยที่เดินทางเข้ามาขอสถานะผู้ลี้ภัยจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) แต่ผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้ยังคงไม่ได้รับการคุ้มครองในฐานะผู้ลี้ภัยตามกฎหมายไทย เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้เป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยสถานะผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 และพิธีสารเกี่ยวกับสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2510 ดังนั้น บุคคลกลุ่มนี้จึงต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการตรวจคนเข้าเมือง ทำให้การเข้ามาในราชอาณาจักรไม่ว่าจะโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือการอนุญาตนั้นสิ้นสุด หรือถูกเพิกถอนแล้ว บุคคลกลุ่มนี้ต้องเสี่ยงต่อการถูกจับกุม ดำเนินคดี และถูกกักตัวในสถานกักตัวคนต่างด้าวของ สตม. เพื่อรอการส่งตัวกลับออกไปนอกราชอาณาจักร และเนื่องจากการพิจารณาสถานะผู้ลี้ภัยมีระยะเวลายาวนาน รวมถึงการย้ายไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สามต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของประเทศผู้รับ ทำให้ผู้ลี้ภัยต้องตกอยู่ในสภาวะการถูกกักตัวโดยไม่มีกำหนดเวลา
กสม. เห็นว่า การที่ผู้แสวงหาที่ลี้ภัย และผู้ลี้ภัย (refugee) ต้องถูกกักตัวในสถานกักตัวคนต่างด้าวซึ่งสภาพพื้นที่จำกัดและความสามารถในการรองรับผู้ต้องกักยังต่ำกว่ามาตรฐานของพื้นที่นอนสำหรับผู้ต้องขังที่กำหนดโดยกรมราชทัณฑ์ คือ ประมาณ 2.25 ตารางเมตรต่อผู้ต้องขัง 1 คน และไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับการขังบุคคลในระยะยาวหรือไม่มีกำหนดนั้น ย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ต้องกักในหลายด้าน เช่น การถูกจำกัดอิสรภาพ การพลัดพรากจากครอบครัว สถานกักตัวมีสภาพแออัดไม่ถูกสุขอนามัยส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและจิตใจ นอกจากนี้ การอพยพย้ายถิ่นในมิติของการแสวงหาที่ลี้ภัย มีแนวคิดพื้นฐานที่ว่าการแสวงหาที่ลี้ภัยเป็นสิทธิของบุคคลตามกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยผู้ลี้ภัยและหลักสิทธิมนุษยชนสากล ดังนั้น ผู้แสวงหาที่ลี้ภัยและผู้ลี้ภัยจึงควรได้รับการคุ้มครองและช่วยเหลือ มิใช่การถูกควบคุมตัวที่ทำให้ตกอยู่ในสภาพความยากลำบากจนอาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนได้
ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องกักภายในสถานกักตัวคนต่างด้าวให้ได้รับการดูแลสภาพความเป็นอยู่ตามมาตรฐานขั้นต่ำได้อย่างเป็นรูปธรรม กสม. จึงมีมติให้หยิบยกกรณีปัญหาดังกล่าวขึ้นตรวจสอบและศึกษา โดยจะมีการเข้าตรวจเยี่ยมสถานที่กักตัว และหารือในระดับนโยบายเพื่อแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหาเชิงระบบต่อไป
สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
31 มีนาคม 2565