ภายใต้อำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รอง ผบช.ก.พล.ต.ต.ประสงค์ เฉลิมพันธ์ ผบก.ปปป., พ.ต.อ.สมรภูมิ ไทยเขียว รอง ผบก.ปปป. ได้มอบหมายให้ พ.ต.อ. ศานุวงษ์ คงคาอินทร์ ผกก.4 บก.ปปป. นำทีมงานออกสืบสวน เนื่องจากได้รับการประสานจาก นายสุภาพ ศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและปราบปรามทุจริตในภาครัฐ เขต 6 และ พ.ต.ท.สราวุธ คำเหลือง ผู้อำนวยการกองการต่อต้านการทุจริต ให้จับตัวผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางที่ จ.179/2566 ลงวันที่ 28พฤศจิกายน 2566 ในข้อหา “เป็นพนักงานมีหน้าที่ ทำ จัดการ ใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่องค์การ และเป็นพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502” เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปปป. ได้สืบสวน จนทราบว่า เป็นอดีตเจ้าหน้าที่อาวุโสของลีสซิ่งธนาคารชื่อดังแห่งหนึ่ง ร่วมกันกับเพื่อนที่ทำเต้นท์รถ ทำเอกสารปลอม แก้ไขสัญญา โดยดึงเอาเอกสารจากเต้นท์รถยนต์อื่น ๆ ออก เปลี่ยนเป็นของเพื่อนตัวเองแทนเพื่อให้ได้ค่าคอมมิชชั่นและเงินอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวบรวมจนขอสินเชื่อและได้รับอนุมัติแล้ว จึงเอาเงินส่วนต่างไปใช้ส่วนตัว แล้วหลบหนีหมายจับ
ต่อมาวานนี้ (วันที่ 10 มิ.ย. 67) เวลาประมาณ 16.20 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปปป. นำโดยพ.ต.อ.ศานุวงษ์ คงคาอินทร์ ผกก.4 บก.ปปป. , พ.ต.ท. อำนวย วิชิตโสภณ สว.กก.4 บก.ปปป., พ.ต.ท.ไสว จันทร์มา สว.กก.4 บก.ปปป., พ.ต.ต.อัครพล ปัทมานุสรณ์ และ ด.ต. บัณฑิต สนใจ ผบ.หมู่ กก.4 บก.ปปป. พบว่า นายธีร์ (นามสมมติ) ผู้ต้องหาตามหมายจับได้หลบหนีมากบดานอยู่กับแฟนใหม่ที่จังหวัดพิษณุโลกไม่ได้ทำงาน จึงได้ติดตามจนไปถึงลานจอดรถหน้าร้านสะดวกซื้อ ถนนเลียบมหาวิทยาลัยนเรศวร ตำบลท่าโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก และแสดงตนเป็นเจ้าหน้าที่พร้อมแสดงหมายจับให้นายธีร์ฯ ดู รับว่าเป็นตนเองจริง จึงได้ทำการจับกุมและนำตัวส่งศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย
พ.ต.อ. ศานุวงษ์ คงคาอินทร์ ผกก.4 บก.ปปป. กล่าวว่า จากการสอบถามนายธีร์ เบื้องต้นให้การว่า ตนเคยเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารดังแห่งหนึ่งมา 10 ปี อยู่ฝ่ายหน้าที่สินเชื่อรถยนต์ จนเกิดความเชี่ยวชาญด้านการเงินการตลาด จึงหาช่องทางในการทำทุจริต จากนั้นย้ายมาอยู่อีกธนาคารสีฟ้า และตนติดหนี้พนันบอลประกอบกับครอบครัวมีปัญหาจำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมาก จึงได้คิดทำเรื่องการปลอมเอกสารเพื่อเอาเงินจากธนาคารไปใช้หนี้ของตน จนถูกไล่ออกจากธนาคาร และที่ผ่านมาเคยติดคุกมาแล้ว 3 ปี ตนเคยต้องยืมบัตรเครดิตเพื่อนใช้ เกินวงเงินแล้วหนีไม่จ่าย ต้องเปลี่ยนชื่อนามสกุลมาจนถึงทุกวันนี้
ส่วนขั้นตอนการทำเอกสารปลอมนั้น นายธีร์ให้การว่า เหตุการณ์เกิดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2556 ตนเป็นเจ้าหน้าที่ของธนาคารทำหน้าที่เกี่ยวกับการตลาดรถยนต์ใช้แล้ว (ลีสซิ่ง) ได้ร่วมกับเพื่อนของตนซึ่งเปิดเต้นท์ขายรถกระทำการในครั้งนี้ โดยใช้วิธีการที่มีลูกค้าเข้ามาติดต่อซื้อรถกับเต้นท์รถใด ๆ ถึงแม้จะไม่ใช่ของเพื่อนตน และเต้นท์รถดังกล่าวได้แนะนำให้มาขอสินเชื่อกับลีสซิ่งที่ตนทำงานอยู่ จากนั้น ตนจึงจะเข้าไปติดต่อจัดทำสัญญากับลูกค้าที่เต้นท์รถนั้น ๆ เพื่อให้เกิดความแนบเนียน ก่อนจะรวบรวมเอกสารนำส่งบริษัทเพื่อพิจารณาสินเชื่อ และได้นำเอกสารสัญญา และเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับเต้นท์รถดังกล่าวนั้นออก แล้วสลับเป็นเต้นท์รถของเพื่อนของตนแทน เพื่อรับผลประโยชน์เป็นเงินที่บริษัทโอนจ่ายค่ารถให้กับเต้นท์ และค่าคอมมิชชั่นที่จะได้จากธนาคาร แล้วนำมาใช้ส่วนตัว กระทำการอยู่อย่างนี้หลายครั้ง จนบริษัทได้รับความเสียหายกว่า 1 ล้านบาท
ผกก.4 บก.ปปป.ฝากเตือน การกระทำดังกล่าวเกิดอยู่ในหลายหน่วยงานที่ยังไม่ได้ตรวจสอบอย่างจริงจัง หรือมีการกระทำเป็นลักษณะขบวนการที่แนบเนียน จึงขอเตือนพี่น้องประชาชนให้ระมัดระวังในการมอบเอกสารให้กับผู้ใดก็ตาม จะต้องมีการลงรายละเอียดกำกับว่าจะนำไปใช้ในเรื่องใดเพราะหากเอกสารดังกล่าวไปตกอยู่ในมือของอาชญากรที่มึความเชี่ยวชาญ ซ้ำร้ายท่านอาจจะตกเป็นผู้ต้องหาเสียเองก็ได้ ซึ่งในกรณีนี้ เกิดความเสียหาย เกิดผลกระทบต่อประชาชนและผู้ประกอบกิจการเต้นท์รถเป็นอย่างมาก ซึ่ง บก.ปปป. ไม่สามารถปล่อยให้ลอยนวลอยู่ได้
จึงขอฝากประชาสัมพันธ์หากพบการกระทำความผิดในลักษณะเดียวกันนี้ สามารถแจ้งเข้ามาได้ที่สายด่วน กองบังคับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) โทร. 02-1919191, สายด่วน ป.ป.ช. 1205 (สำนักคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ), สายด่วน ป.ป.ท. 1206 (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ) และสายด่วน ป.ป.ง. โทร. 02-2193600 (สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน)