วันศุกร์, ธันวาคม 6, 2024
หน้าแรกการเมืองจับอาการ “ดิ้นพล่าน” ประธาน กสทช.

Related Posts

จับอาการ “ดิ้นพล่าน” ประธาน กสทช.

“….การที่ ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์  ประธาน กสทช.ได้ทำหนังสือด่วนที่สุดไปยังประธานวุฒิสภาเพื่อขอให้ระงับยับยั้ง และตรวจสอบการใช้อำนาจของประธาน กมธ.ไอซีที กรณีจัดทำรายงานการตรวจสอบคุณสมบัติของประธาน กสทช.ว่าขัดคุณสมบัติ และมีลักษณะต้องห้าม พร้อมจัดทำรายงานให้ประธานวุฒิสภาเร่งจัดทำความเห็นเพื่อนำเรียนนายกรัฐมนตรีให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อโปรดเกล้าฯให้ ศาสตราจารย์ คลินิก นพ.สรณ พ้นจากตำแหน่งโดยเร็ว  หลายฝ่ายที่ได้เห็นเนื้อหาตอบโต้ของประธาน กสทช.ข้างต้นแล้วก็ได้แต่ส่ายหน้า และเห็นพ้องกันว่า คำชี้แจงดังกล่าวน่าจะเป็น “ใบเสร็จ” มัดตัวเองเข้าไปอีก  แต่การที่ประธานวุฒิสภายังไม่ยอมจัดทำความเห็นไปยังนายกฯ ตามข้อเสนอแนะของกมธ.ไอซีทีนั้น หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า เป็นเพราะมี “มือที่มองไม่เห็น-Invisible Hand” ที่ไหนล้วงลูกเข้ามาชะลอการจัดทำความเห็นเพื่อนำเสนอนายกฯ หรือไม่…”

ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์  ประธาน กสทช.

จับอาการ “ดิ้นพล่าน” ประธาน กสทช.

กับการ “ซื้อเวลา” ชี้ขาดของประธานวุฒิสภา 

บทสะท้อนความฟอนเฟะที่องค์กร กสทช.-ปชช.ต้อง (ทน) รับกรรม

อุณหภูมิทางการเมืองที่ระอุแดดจากประเด็นสุดร้อนที่นัดมาเจอกันอย่างพร้อมเพรียงห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดชี้ชะตายุบพรรคก้าวไกล การพิจารณาคำร้องถอดถอน นายกฯ เศรษฐา และ เรื่องของ “นายใหญ่” บ้านจันทร์ส่องหล้าที่ศาลสั่งให้รับคดีฟ้อง 112 ไว้พิจารณานั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า ได้กลบกระแสมหกรรม “ฟุตบอลยูโร 2024 ที่คอบอลไทยตั้งหน้าตั้งตารอไปเสียสนิท!

ผู้คนแทบจะลืมเลือนไปเลยว่า ในอดีตกรณีการช่วงชิงลิขสิทธิ์ถ่ายทอดฟุตบอลยูโรมาทำตลาดในไทย นั้นเคยสร้างปัญหาปวดเศียรเวียรเกล้าให้ประชาชนคนไทยมาตลอด แต่มาปีนี้ รัฐบาลนายกฯเศรษฐา จับมือกับภาคเอกชนคือบริษัท ซัมมิทฟุตแวร์ จำกัด (Aerosoft) ในฐานะผู้ได้รับลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลยูโร 2024 ให้ประชาชนคนไทยได้ดูฟรีกันสมใจอยาก โดยไม่มีปัญหาเรื่อง “จอดำ” ให้แสลงหู

ขณะที่สำนักงาน กสทช.ก็ออกมาสำทับไปยังผู้ได้รับลิขสิทธิ์ถ่ายทอด จะต้องไม่ปล่อยให้เกิดจอดำได้อีก จนทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามกลับไปยัง กสทช.ว่า หากกรณีการบังคับใช้กฎเหล็ก “มัสต์แฮพ-มัสต์แครี่” ดำเนินไปตามครรลองแล้ว

การที่สำนักงาน กสทช.ประเคนเม็ดเงิน 600 ล้านไปให้การกีฬาแห่งประเทศไทย ( กกท.) ในครั้งก่อน แล้วปล่อยให้บริษัทเอกชนผูกขาดการทำตลาดและจอดำได้ จนนำมาสู่การตั้งคณะกรรมการสอบสวนในภายหลังนั้น มันแปลว่าอะไร

พูดถึงผลงาน กสทช.หรือคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแล้ว ก็ให้นึกย้อนไปถึงประเด็นสุดร้อนที่ระอุแดดในห้วงเวลาเดียวกันนี้ กับเรื่องที่ ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช.ได้ทำหนังสือด่วนที่สุดที่ สทช. 1001/23493 ลงวันที่ 11 มิ.ย.2567 ไปยังประธานวุฒิสภาเพื่อขอให้ระงับยับยั้ง และตรวจสอบการใช้อำนาจของประธาน กมธ.ไอซีที กรณีจัดทำรายงานการตรวจสอบคุณสมบัติของประธาน กสทช.ว่าขัดคุณสมบัติ และมีลักษณะต้องห้าม พร้อมจัดทำรายงานให้ประธานวุฒิสภาเร่งจัดทำความเห็นเพื่อนำเรียนนายกรัฐมนตรีให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อโปรดเกล้าฯ ให้ ศาสตราจารย์ คลินิก นพ.สรณ พ้นจากตำแหน่งโดยเร็ว 

ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช.

โดยประธาน กสทช.ได้มีหนังสือโต้แย้งรายงานผลสรุปของ กมธ.ไอซีทีดังกล่าว โดยระบุว่าข้อสรุปของ กมธ.ไอซีที ที่เห็นว่าตนเองเป็นผู้ที่ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ มาตรา 7 ข.(12) มาตรา 8 มาตรา 18 มาตรา 20 และมาตรา 28 ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงหรือหลักฐานใด ๆ ว่า ตนเองปฏิบัติหน้าที่ไม่เต็มเวลานับแต่ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง 

ส่วนการที่ตนยังคงทำหน้าที่รักษาคนไข้นั้นเป็นการทำหน้าที่เป็นเพียงแพทย์อาสาโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน จึงไม่มีสถานะเป็นพนักงาน หรือลูกจ้างของโรงพยาบาลตามที่ถูกกล่าวหา ข้อสรุปของ กมธ.จึงเป็นการสรุปที่บิดเบือน ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย

เช่นเดียวกับกรณีที่ กมธ.ระบุว่า ตนยินยอมให้ธนาคารกรุงเทพนำเสนอรายชื่อต่อธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการธนาคาร อันมีลักษณะเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 18 แห่ง พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ นั้น ข้อสรุปของ กมธ.ข้างต้นแสดงให้เห็นถึงเจตนาไม่สุจริต มีอคติบิดเบือน เพื่อยัดเยียดความผิดให้กับตนเอง

เพราะมาตรา 18 กำหนดให้ลาออกจาก (1) ความเป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ (2) ความเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราขการส่วนท้องถิ่น และไม่เป็นกรรมการ หรือที่ปรึกษาของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐ และ (3) ไม่ประกอบอาชีพ หรือวิชาชีพอิสระอื่นใดที่มีส่วนได้เสีย หรือมีผลประโยชน์ขัดแย้ง ซึ่งตามกฎหมายไม่ได้กำหนดว่าต้องเลิกประกอบอาชีพ หรือวิชาชีพอิสระอื่นหลังจากได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาแล้ว  และการเป็นกรรมการของธนาคารกรุงเทพไม่ใช่เป็นการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพอิสระอื่นตาม (3) อีกทั้งธนาคารไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐตาม (2) แต่ไม่ว่าอย่างไรตนเองได้ปฏิเสธการดำรงตำแหน่ง และไม่เคยปฏิบัติงานเป็นกรรมการของธนาคารแต่อย่างใด 

อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายที่ได้เห็นเนื้อหาตอบโต้ของประธาน กสทช.ข้างต้นแล้วก็ได้แต่ส่ายหน้า และเห็นพ้องกันว่า คำชี้แจงดังกล่าวน่าจะเป็น “ใบเสร็จ” มัดตัวเองเข้าไปอีก เพราะการที่ประธาน กสทช.ออกมาตอบโต้รายงาน กมธ. โดยอ้างว่า ไม่มีอำนาจจะล้วงลูกเข้ามาตรวจสอบคุณสมบัติตนเองนั้น 

ก่อนหน้านี้ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาได้มีหนังสือยืนยันว่าประธานวุฒิสภาได้พิจารณาแล้วเห็นว่า หนังสือร้องเรียน (หนังสือร้องเรียนคุณสมบัติของประธาน กสทช.) มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการดำรงตำแหน่งกรรมการ กสทช. ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีหน้าที่และอำนาจในการรับผิดชอบและกำกับการดำเนินการเกี่ยวกับคลื่นความถี่ให้เป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ความมั่นคงของรัฐและประโยชน์สาธารณะ จึงให้ส่งหนังสือไปยัง กมธ.ไอซีที เพื่อพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

นอกจากนี้ การที่ประธาน กสทช. ออกมายอมรับว่า การที่ตนเองยินยอมให้ธนาคารกรุงเทพเสนอชื่อเพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการ หรือกรรมการอิสระของแบงก์กรุงเทพ ไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย และไม่ถือเป็นการประกอบอาชีพหรือใช้วิชาชีพ และธนาคารกรุงเทพไม่ถือเป็นหน่วยงานรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ จึงไม่เป็นการดำเนินการฝ่าฝืนมาตรา 18 พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ นั้น

สิ่งที่ประธาน กสทช. คงลืมตรวจสอบไป ก็คือ แบงก์กรุงเทพนั้นเป็นสถาบันการเงินที่ดำเนินกิจการครอบจักรวาล ทั้งยังมีการออกเอกสารแบงก์การันตีในโครงการที่เกี่ยวข้องกับ กสทช. มากมาย ย่อมต้องถือว่ามีส่วนได้ส่วนเสียกับ กสทช. ด้วย และในอดีตถึงกับเคยมีมติ ครม. ห้ามหน่วยงานรัฐวิสาหกิจตั้งนายแบงก์เข้ามาเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจด้วยซ้ำ”

นอกจากนี้สิ่งที่ประธาน กสทช.ไม่ได้กล่าวถึงก็คือ การที่ประธาน กสทช.ได้สั่งการให้สำนักงาน กสทช.ในการประชุมบอร์ด กสทช.ครั้งที่ 9/2565 วันที่ 27 เม.ย.2565 เพื่อให้มีหนังสือหารือไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ในประเด็นข้อกฎหมายกรณีที่ประธานกสทช. จะรับตำแหน่งเป็นกรรมการอิสระของธนาคารกรุงเทพ ด้วยได้หรือไม่ อันเป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า ประธาน กสทช.ยังคงต้องการจะขอดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการ กสทช. และกรรมการอิสระของธนาคาร ไปพร้อมกันทั้งสองตำแหน่ง

“การจะอ้างว่า กรณีดังกล่าวไม่ถือเป็นการใช้วิชาชีพหรือใช้วิชาชีพได้หรือ ในเมื่อการเป็นกรรมการธนาคารนั้น หากไม่สามารถปฏิบัติงานได้ แบงก์เขาจะเชิญไปเป็นกรรมการทำไม แม้แต่การประชุมคณะกรรมการของธนาคารก็ต้องประชุมในวันปกติ ไม่ได้ประชุมวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ หรือวันนักขัตฤกษ์ แน่ ดังนั้นก็เท่ากับเบียดบังเวลาการทำงานในตำแหน่ง กสทช.หรือไม่ แม้จะอ้างว่าสุดท้ายตนเองปฏิเสธไม่ได้เข้าไปปฏิบัติหน้าที่เป็นกรรมการอิสระของแบงก์ก็ตาม”

บทสรุปอาการดิ้นสุดเฮือกข้างต้น สำหรับประธานวุฒิสภาที่ผ่านโลกมามาก และเคยดำรงตำแหน่งทั้งทางวิชาการ และเป็นกรรมการ หรือผู้บริหารมหาวิทยาลัยมานับไม่ถ้วนย่อมรู้อยู่แล้วว่า ข้อโต้แย้งข้างต้นรับฟังได้มากน้อยแค่ไหน มีน้ำหนักหรือไม่

แต่การที่ประธานวุฒิสภายังไม่ยอมจัดทำความเห็นไปยังนายกฯ ตามข้อเสนอแนะของ กมธ.ไอซีทีนั้น หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า เป็นเพราะมี “มือที่มองไม่เห็น-Invisible Hand” ที่ไหนล้วงลูกเข้ามาชะลอการจัดทำความเห็นเพื่อนำเสนอนายกฯ หรือไม่

เพราะทุกฝ่ายต่างรู้กันดีว่าที่มาที่ไปของประธาน กสทช.นั้นมาจากไหน หรือมีใครส่งเข้าประกวด การที่จู่ๆ หมอรักษาคนไข้ที่ไม่ได้มีประวัติเคยทำงานด้านคุ้มครองผู้บริโภคมาอย่างโชกโชนแบบ “หมอลี่-นพ.ประวิทย์ ลี่สถานพรวงศา” หรือตัวแทนเครือข่ายในสายนี้ แต่กลับสามารถข้ามห้วยเข้ามาเป็นกรรมการ กสทช.ในสายคุ้มครองผู้บริโภคได้นั้น ย่อมไม่ใช่เรื่องเป็นธรรมดาแน่

หมอลี่-นพ.ประวิทย์ ลี่สถานพรวงศา

จุดนี้ต่างหากที่ผู้คนเขากังชา  ยิ่งไล่เลียงสายสัมพันธ์ของประธาน กสทช.ก็ยิ่งเป็นวัวพันหลักพัวพันหลักไปถึงแนว “ป่ารอยต่อ” จึงทำให้ แม้แต่รองประธาน กมธ.ไอซีทียังต้องออกโรงเรียกร้องให้ประธานวุฒิสภาฯได้เร่งตัดสินใจ อย่ามัวแต่ ซื้อเวลา “ดึงเช็ง”กรณีอื้อฉาวที่ว่านี้อยู่เลย

เพราะ “ยิ่งดึง สายยิ่งตึง” ก็ยิ่งไม่เป็นผลดีต่อเครดิตและชื่อเสียงวุฒิสภาชุดประวัติศาสตร์นี้  ที่ ไหนๆ ก็จะต้องลาโรงแล้วก็ควรไปอย่างมีเกียรติและศักด์ศรี ไม่ใช่รับใบสั่งกันจนถึงวินาทีสุดท้าย

จริงไม่จริงท่านประธาน!!!!

ศาสตราจารย์พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts