“….อย่างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินนั้น ผ่านมาวันนี้จะ 5 ปีเข้าไปแล้ว ยังไม่เปิดหวูดก่อสร้างไปแม้แต่กิโลเดียว การที่จู่ๆ “นายกเศรษฐา” ลุกขึ้นมาไล่เบี้ยเร่งรัดโครงการนี้มีอะไรในกอไผ่หรือไม่? ก่อนที่จะมีรายงานล่าสุดว่า กลุ่มทุน ซีพี. มีการเจรจากับ “พันธมิตร” สุดบิ๊กบึ้มจากจีนที่พร้อมจะเข้ามาร่วมลุยไฟเดินหน้าโครงการนี้ แต่ต้องแลกกับการที่รัฐบาลต้องไฟเขียวการตั้ง “เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์” ภายใต้โครงการนี้ ที่คาดว่าจะจัดตั้งขึ้นในพื้นที่สนับสนุนกิจการเชิงพาณิชย์ หรือสถานีมักกะสัน หรือศรีราชา-พัทยา แห่งใดแห่งหนึ่ง ซึ่งหากจะต้องประเคนไปให้กลุ่มทุนรายเดิมเพื่อแลกกับการเดินหน้าโครงการนั้น รัฐบาลจะได้ตอบตอบแทนอะไรกลับมาหรือ? มันจะไม่กลายเป็นนอกจากรัฐบาลจะต้องควักเม็ดเงินภาษีนับแสนล้านบาทไปก่อสร้างโครงการแทนเอกชนแล้ว ยังยกโครงการแอร์พอร์ตลิงค์ที่รัฐลงทุนไปกว่า 25,000 ล้านกับที่ดินทำเลทอง มักกะสัน 150 ไร่และ ศรีราชาอีก 100 ไร่ มูลค่ารวมกว่า 250 ไร่ มูลค่านับแสนล้านไปให้แก่เอกชนพัฒนากิจกรรมในเชิงพาณิชย์ด้วยอีก ยังไม่พอ ยังจะต้องยกโครงการกาสิโนที่หวังจะดึงเม็ดเงินลงทุนและรายได้เข้ารัฐแถมพ่วงไปด้วยอีก เสียค่าโง่กันซ้ำซากขนาดนี้ ยังจะบอกว่าประชาชนคนไทยและประเทศชาติจะได้ประโยชน์กันอยู่อีกหรือ…”
ลับ ลวง พราง ไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน
เบื้องหลังนายกฯไฟเขียวรื้อสัญญาสัมปทาน
ระวัง!เสียค่าโง่ซ้ำซากซ้ำรอยโฮปเวลล์
*สังคมยังคงตั้งข้อกังขาและประหลาดใจไปตามๆ กัน*
กับการที่จู่ๆ นายก “เศรษฐา ทวีสิน” ก็ลุกขึ้นนำรัฐมนตรีผู้เกี่ยวข้องเดินสายลงไปตรวจงานความคืบหน้า โครงการลงทุนหลักในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) โดยเฉพาะ 2 โครงการลงทุนอย่าง รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) และ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก
แต่ไหนแต่ไรรัฐบาล นายกฯ เศรษฐา ที่บริหารประเทศมาจะครบขวบปี แทบไม่เคยได้ลงไปให้ความสำคัญกับโครงการลงทุนเหล่านี้ ที่ถือเป็นมรดกตกทอดมาจากรัฐบาล “ลุงตู่” วันๆ เอาแต่ตีปี๊บโครงการ ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ หรือ “แลนด์บริดจ์” ที่นัยว่าจะเป็นแม่เหล็กดึงดูดการลงทุนจากทั่วโลก ทั้งที่ยังเป็นแค่แนวคิดบนแผ่นกระดาษ ไม่รู้จะต้องหาวเรอรอไปชาติไหน แต่ก็ยังอุตส่าห์หอบไปโร้ดโชว์ต่างประเทศเป็นวรรคเป็นเวร
แต่กับโครงการลงทุนในเขตอีอีซี ที่กล่าวได้ว่าเดินหน้าไปจนเกือบจะสุดซอยไปแล้ว มีการลงนามในสัญญากันไปหมดแล้ว บางโครงการ อย่างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินนั้นลงนามในสัญญากันไปตั้งแต่ปีมะโว้ 2562 ผ่านมาวันนี้จะ 5 ปีเข้าไปแล้ว ยังไม่เปิดหวูดก่อสร้างไปแม้แต่กิโลเดียว
ทำเอาโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออกที่ยึดโยงอยู่กับโครงการนี้พลอย ยักแย่ยักยันไปด้วย หน่วยงานเจ้าของโครงการได้แต่เต้นฟุตเวิร์ครอบเวที จนประชาชนคนไทยที่เคยฝากความหวังไว้กับโครงการเหล่านี้อยากจะให้ยกเลิกโครงการเสียให้รู้แล้วรู้แร่ด!
นัยว่าในการลงพื้นที่ตรวจดูความคืบหน้าหนนี้ นายกฯ ได้ประจักษ์แก่ตาตนเองแล้ว ไอ้ที่ไปโร้ดโชว์ชักชวนนักลงทุนทั่วโลกให้เข้ามาลงทุนในไทยนั้น แทบจะ “สูญเปล่า” หากโครงการที่เป็นแม่เหล็กในเขตอีอีซี 2 โครงการหลักนี้ไม่ขยับ
ก่อนที่ นายกฯ เศรษฐา จะ “ทุบโต๊ะ”เปรี้ยงกำชับเป็นนโยบายให้เลขาธิการอีอีซี เร่งแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3สนามบินเพื่อให้ได้ข้อยุติภายในปีนี้ เพื่อให้สามารถเดินหน้าก่อสร้างโครงการได้ในต้นปีหน้า หาไม่แล้วจะส่งผลไปถึงความเชื่อมั่นและการลงทุนในโครงการอื่นๆ ตามมา
เป็นประกาศิตที่ทำให้หลายฝ่ายออกมาขานรับกันใหญ่โต แต่จะจบอย่างไร จะเจรจาแก้ไขสัญญาสัมปทานกันอย่างไรถึงจะทำให้โครงการเดินหน้าต่อไปได้ ไม่ลงเอยด้วยการที่ ครม.ชุดนี้อาจถูกฟ้องกราวรูดเอาได้นั้น เป็นเรื่องที่หลายฝ่ายขยาดแทน แถมยังแปลกประหลาดใจอย่างที่เกริ่นไว้แต่แรก
การที่จู่ๆ “นายกเศรษฐา” ลุกขึ้นมาไล่เบี้ยเร่งรัดโครงการนี้มีอะไรในกอไผ่หรือไม่?
5 ปีไม่ขยับ-เจ้าสัวแทบ ”ถอดใจ”
ก่อนหน้านี้หลายฝ่ายได้รับรู้ข่าวสารความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินที่ บริษัท เอเซียเอราวัน จำกัด ของกลุ่มทุนเจ้าสัว ซีพี.ที่เป็นผู้ชนะสัมปทานโครงการนี้แบบ “ม้วนเดียวจบ” ก่อนจะมีการรวบรัดเปิดทำเนียบจัดพิธีลงนามในสัญญาสัมปทานกันไปเมื่อ 24 ตุลาคม 2562 ท่ามกลางกระแสสะพัดในห้วงเวลานั้นว่า สัญญาสัมปทานที่เซ็นกันไปยังมีเงื่อนไขอีกยุบยั่บที่ยังเจรจากันไม่ลงตัว
ก่อนที่บริษัทกับคู่สัญญาฝ่ายรัฐคือการรถไฟฯ และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.) จะลุกขึ้นมาเจรจาแก้ไขสัญญากันต่อ ด้วยข้ออ้างโครงการเผชิญวิกฤตไวรัสโควิด-19 และวิกฤตเศรษฐกิจจนถึงขั้นที่บริษัทไม่สามารถจะระดมทุนจากสถาบันการเงินมาลุยไฟได้
เอาเป็นว่า แม้แต่ค่าสิทธิ์รับโอนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ จำนวน 100,671 ล้าน (หนึ่งแสนหกร้อยเจ็ดสิบเอ็ดล้าน) ที่บริษัทต้องจ่ายให้การรถไฟฯภายใน 2 ปีนับแต่ลงนามในสัญญา (24 ตุลาคม2564) ก็ยังต้องร้องขอชีวิต ขอผ่อนชำระไปถึง 7-10 ปีว่างั้นเถอะ!
ก่อนที่จะมีความพยายามเจรจาแก้ไขสัญญาเพิ่มเติม โดยบริษัทยื่นเงื่อนไขขอให้รัฐปรับร่นระยะเวลาจ่ายเงินสนับสนุนการก่อสร้างงานโยธา หรือเงินร่วมลงทุนโครงการตามมติ ครม.จำนวน 119,000 ล้านบาทให้เร็วขึ้น จากสัญญาเดิมที่รัฐจะจ่ายชดเชยให้เมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการ (ปีที่ 6 ของสัญญา) โดยขอปรับมาเป็น นับแต่เดือนที่ 18 หรือปีที่ 2 ของสัญญาในลักษณะสร้างไป-จ่ายไป
ด้วยข้ออ้างสุดคลาสสิก โครงการได้รับผลกระทบจากวิกฤตไวรัสโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถระดมทุนจากสถาบันการเงินมาก่อสร้างได้
ท่ามกลางข้อกังขาของหลายฝ่าย มันคือการดึงเอาเงินรัฐมาลงทุนแทนเอกชนทั้งดุ้นหรือไม่ สอดคล้องกับเงื่อนไขประกวดราคาตรงไหน (เอาปากกามาวง) และสุ่มเสี่ยงที่จะถูกคู่แข่งที่พ่ายประมูลในครั้งนั้นฟ้องร้องเอาหรือไม่ และหากรัฐบาลยอมแก้ไขสัญญาด้วยการดึงเงินร่วมลงทุนของรัฐออกมาดำเนินการก่อสร้างจะขัดแย้งเงื่อนไขการประมูลและสัญญาร่วมลงทุนในโครงการนี้ที่มีมาแต่แรกหรือไม่ และทำให้เงื่อนไขการดำเนินโครงการนี้เปลี่ยนไปจากสัญญาสัมปทานที่เคยเป็นโครงการในลักษณะ Built Transfer to Operate: BTO หรือไม่?
ที่สำคัญรัฐบาลได้ดำเนินการแก้ไขสัญญาหรือปฏิบัติบนมาตรฐานเดียวกับโครงการอื่นๆ ด้วยหรือไม่
ทำให้เส้นทางการเจรจาแก้ไขสัญญาสัมปทานคาราคาซังมากระทั่งปัจจุบัน จนช่วงหนึ่งมีข่าวว่า “เจ้าสัว ซีพี.” ถึงกับ “ถอดใจ” กับโครงการนี้ เพียงแต่ยังหา “รันเวย์” ลงไม่ได้ เพราะหากจะถอนตัวก็จะถูกขึ้นบัญชีดำ “แบลก์ลิสต์” เป็นผู้ทิ้งงานของรัฐทันที
ทำให้เส้นทางการแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการนี้ยักแย่ยักยัน กลายเป็นมหากาพย์ของการเจรจาแก้ไขสัญญาสัมปทานสุดมาราทอนดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ประเภทที่หากนายกฯไม่ลงมาทุบโต๊ะ คู่สัญญาโครงการนี้คือ การรถไฟฯ สกพอ.และบริษัทเอกชนก็จะ “ดึงเช็ง” เจรจามันข้ามภพข้ามชาติกันไปเลย!!!*
*เปิดเงื่อนไขใหม่ เจ้าสัวยอมลุยไฟต่อ
ก่อนที่จะมีรายงานล่าสุดว่า กลุ่มทุน ซีพี.ยังคงมีลูกฮึดที่จะลุยไฟโครงการนี้ หลังจากมีการเจรจากับ “พันธมิตร” สุดบิ๊กบึ้มจากจีนที่พร้อมจะเข้ามาร่วมลุยไฟเดินหน้าโครงการนี้ แต่ต้องแลกกับการที่รัฐบาลต้องไฟเขียวการตั้ง “เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์” ภายใต้โครงการนี้ ที่คาดว่าจะจัดตั้งขึ้นในพื้นที่สนับสนุนกิจการเชิงพาณิชย์ หรือสถานีมักกะสัน หรือศรีราชา-พัทยา แห่งใดแห่งหนึ่งซึ่งทางกลุ่มทุนซีพี.มีแผนจะพัฒนาทำแลทองเหล่านี้ให้เป็นโครงการสุด “บิ๊กบึ้ม” อยู่แล้ว
นัยว่า มีการ “ดีล” เงื่อนไขการเดินหน้าโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบินนี้ไปจนถึงขั้นที่รัฐบาลนายกฯเศรษฐาตอบรับหลักการ และกลุ่มทุน ซีพี.เองก็พร้อมที่จะกัดฟันลุยไฟโครงการนี้เต็มสูบแล้วด้วย
นั่นจึงเป็นที่มาของการที่การรถไฟฯ -สกพอ.ถูกสั่งให้ลุยไฟเจรจาเงื่อนไขการแก้ไขสัญญาโครงการนี้แบบหามรุ่งหามค่ำให้ได้ข้อยุติภายในสิ้นปีนี้ เพื่อที่จะเดินหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินนี้ให้ได้ในปีหน้า และเป็นที่มาที่ “นายกฯ เศรษฐา” (ที่เขาว่าเราจะเป็นเศรษฐี) ต้องบากหน้าลงไปลุยไฟจี้ด้วยตนเอง
ว่าแต่อะไรคือ “เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์”
และยังก่อให้เกิดคำถาม หากรัฐยอมแก้ไขสัญญาสัมปทานไปตามที่บริษัทเอกชนเรียกร้อง โดยยอมร่อนระยะเวลาจ่ายเงินร่วมลงทุนกว่า 1.2 แสนล้านมาดำเนินการก่อสร้างโครงการนี้ให้ก่อน `ในลักษณะ “สร้างไป-จ่ายไป” ขณะที่เอกชนจะเป็นผู้ลงทุนระบบรถไฟฟ้าและรับสัมปทานบริหารโครงการในระยะ 50 ปีต่อไปแทน ซึ่งเป็นการดำเนินการที่ผิดแผกแตกต่างไปจากเงื่อนไขการประมูลเดิมโดยสิ้นเชิง!
นอกจากนี้ โครงการจัดตั้งเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ หรือก็คือ “กาสิโน” ที่ว่านั้นรัฐบาลคาดฟหวังจะดึงนักลงทุนเข้ามาลงทุนในโครงการนี้ด้วยคาดหวังจะมีเม็ดเงินลงทุนทั้งในส่วนของโรงแรม รีสอร์ท พลาซ่าและกาสิโน รวมทั้งรัฐบาลยังจะมีรายได้จากการดำเนินการนับหมื่นล้านหรือนับแสนล้านบาท
แต่หากจะต้องประเคนไปให้กลุ่มทุนรายเดิมเพื่อแลกกับการเดินหน้าโครงการนั้น รัฐบาลจะได้ตอบตอบแทนอะไรกลับมาหรือ?
มันจะไม่กลายเป็นนอกจากรัฐบาลจะต้องควักเม็ดเงินภาษีนับแสนล้านบาทไปก่อสร้างโครงการแทนเอกชนแล้ว ยังยกโครงการแอร์พอร์ตลิงค์ที่รัฐลงทุนไปกว่า 25,000 ล้านกับที่ดินทำเลทอง มักกะสัน 150 ไร่ และศรีราชาอีก 100 ไร่ มูลค่ารวมกว่า 250 ไร่ มูลค่านับแสนล้านไปให้แก่เอกชนพัฒนากิจกรรมในเชิงพาณิชย์ด้วยอีกยังไม่พอ ยังจะต้องยกโครงการกาสิโนที่หวังจะดึงเม็ดเงินลงทุนและรายได้เข้ารัฐแถมพ่วงไปด้วยอีก
*เสียค่าโง่กันซ้ำซากขนาดนี้ ยังจะบอกว่าประชาชนคนไทยและประเทศชาติจะได้ประโยชน์กันอยู่อีกหรือ ฯพณฯ “ท่านนายก เศรษฐา” (ที่เขาว่าเราจะเป็นเศรษฐี) ที่เคารพ!!!*