วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
หน้าแรกท้องถิ่นจังหวัดชลบุรี พิธีวางพวงมาลาถวายสักการะเนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ประจำปี 2567

Related Posts

จังหวัดชลบุรี พิธีวางพวงมาลาถวายสักการะเนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ประจำปี 2567

ผู้ประกาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี นำหัวหัวหน้าส่วนราชการ ศาล ทหาร ตำรวจ ร่วมพิธีวางพวงมาลาถวายราชสักการะ เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
เทปข่าว วันนี้ (11 กรกฎาคม 2567) เวลา 09.00 น. นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี พร้อมด้วยข้าราชการ ศาล อัยการ ทหาร ตำรวจ หัวหน้าส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ ประชาชนทุกหมู่เหล่า ร่วมพิธีวางพวงมาลาถวายราชสักการะ เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ณ อาคารอเนกประสงค์วิทยาการ โรงเรียนชลกัลยานุกูล อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี

ทั้งนี้ นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ได้ประกอบพิธีวางพวงมาลาถวายราชสักการะ พร้อมกล่าวคำถวายราชสดุดี สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตามที่ คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ วันที่ 11 กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวันสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จังหวัดชลบุรี จึงได้จัดพิธีวางพวงมาลาถวายราชสักการะในวันดังกล่าว เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติและรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่ทรงต่อแผ่นดินไทย

สมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระมหากษัตริย์องค์ที่ 27 ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย (พ.ศ. 2175 – พ.ศ. 2231 ครองราชย์ พ.ศ. 2199 – พ.ศ. 2231) มีหลายพระนาม คือ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3 หรือ สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสรรเพชรญ์ เป็นพระราชโอรสของ พระเจ้าปราสาททอง พระมหากษัตริย์ผู้ครองกรุงศรีอยุธยา กับพระราชธิดาของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม เหตุที่มีพระนามว่า “นารายณ์” มีที่มาน่าสนใจคือ มีพระญาติวงศ์เหลือบเห็นเป็น 4 กร พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย ทรงมีพระราชกรณียกิจที่สำคัญตลอดรัชกาลของพระองค์ ทั้งด้านการทหาร วรรณคดี และการทูต โดยเฉพาะการส่งคณะราชทูต นำโดยเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ไปเชื่อมสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส ในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งราชวงศ์

สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นพระมหากษัตริย์ผู้เป็นที่เลื่องลือ พระเกียรติยศในพระราโชบายทางคบค้าสมาคมกับชาวต่างประเทศ รักษาเอกราชของชาติให้พ้นจากการเบียดเบียนของชาวต่างชาติและรับผลประโยชน์ ทั้งทางวิทยาการและเศรษฐกิจที่ชนต่างชาตินำเข้ามา นอกจากนี้ ยังได้ทรงอุปถัมภ์บำรุงกวีและงานด้านวรรณคดีอันเป็นศิลปะที่รุ่งเรืองที่สุด ในยุคนั้น เมื่อสมเด็จพระนารายณ์เสด็จเถลิงถวัยราชสมบัติ ณ ราชอาณาจักรศรีอยุธยาแล้ว ปัญหากิจการบ้านเมืองในรัชสมัยของพระองค์เป็นไปในทางเกี่ยวข้องกับชาวต่าง ประเทศเป็นส่วนใหญ่ ด้วยในขณะนั้น มีชาวต่างประเทศเข้ามาค้าขาย และอยู่ในราชอาณาจักรไทยมากว่าที่เคยเป็นมาในกาลก่อน ที่สำคัญมาก คือ ชาวยุโรปซึ่งเป็นชาติใหญ่มีกำลังทรัพย์ กำลังอาวุธ และผู้คน ตลอดจน มีความเจริญรุ่งเรืองทางวิทยาการต่างๆ เหนือกว่าชาวเอเชียมาก และชาวยุโรปเหล่านี้กำลังอยู่ในสมัยขยายการค้า ลัทธิคริสต์ศาสนา และอำนาจทางการเมืองของพวกตนมาสู่ดินแดนตะวันออก

นอกจากนี้พระองค์ยังทรงรับเอาวิทยาการสมัยใหม่มาใช้ เช่น กล้องดูดาว และยุทโธปกรณ์บางประการ รวมทั้งยังมีการรับเทคโนโลยีการสร้างน้ำพุ จากชาวยุโรป และวางระบบท่อประปาภายในพระราชวังอีกด้วย ด้านวรรณกรรมในสมเด็จพระนารายณ์มิใช่เพียงทรงพระปรีชาสามารถทางด้านการทูตเท่านั้น หากทรงเป็นกวีและทรงอุปถัมภ์กวีในยุคของพระองค์อย่างมากมาย กวีลือนามแห่งรัชสมัยของพระองค์ก็ได้แก่ พระโหราธิบดี หรือพระมหาราชครู ผู้ประพันธ์หนังสือจินดามณี ซึ่งเป็นตำราเรียนภาษาไทยเล่มแรก และตอนหนึ่งของเรื่องสมุทรโฆษคำฉันท์ (อีกตอนหนึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระนารายณ์) กวีอีกผู้หนึ่งคือ ศรีปราชญ์ ผู้เป็นปฏิภาณกวี เป็นบุตรของพระโหราธิบดี งานชิ้นสำคัญของศรีปราชญ์ คือ หนังสือกำศรวลศรีปราชญ์ และอนุรุทรคำฉันท์ด้วยพระปรีชาสามารถดังได้บรรยายมาแล้ว สมเด็จพระนารายณ์จึงได้รับการถวายพระเกียรติเป็น มหาราช พระองค์หนึ่ง

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts